2nd benefit

2nd benefit

ผู้บริโภคห่วงผูกขาดตลาดยาและเมล็ดพันธ์พืชแน่ หากเข้าร่วม ‘TPP’

581013 tpp3

ผู้บริโภคเป็นห่วงหากเป็นสมาชิก TPP ทำให้เกิดการผูกขาดข้อมูลทางยา ตลาดยา รวมถึงขัดขวางการแข่งขันที่เป็นธรรม ด้านการเกษตรกรผูกขาดเมล็ดพันธุ์ เก็บเมล็ดพันธ์หรือปันเมล็ดพันธ์ยังผิดกฎหมาย และอาจทำให้ไทยต้องถูกบีบบังคับให้มีการปลูกพืช จีเอ็มโอ

13 ต.ค. สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและภาคีเครือข่าย ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิชีววิถี คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) จัดเวทีวิชาการ เรื่อง ประเทศไทยควรเข้าเป็นสมาชิก ‘ทีพีพี’ หรือไม่ ? ณ ห้อง กรกมล ชั้น 2 โรงแรมเดอะสุโกศล ถนน ศรีอยุธยา กรุงเทพฯ

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อระบบสาธารณสุขและการเข้าถึงยาในประเทศไทย จากการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Trans-Pacific Partnership: TPP) ว่า “ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) ซึ่งงานวิจัยในประเทศไทยซึ่ง โดยคำนวณจากปี พ.ศ. 2550 ที่เป็นปีที่ทำการศึกษา พบว่าในปีที่ห้า (พ.ศ. 2556) ถ้ามีการผูกขาดข้อมูลยา ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะสูงขึ้นอีก 81,356 ล้านบาท/ปี ซึ่งข้อเรียกร้องลักษณะนี้จะมีผลกระทบรุนแรงเสียยิ่งกว่าการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี ซึ่งมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นอีกเป็น 27,883 ล้านบาท/ปี อย่างไรก็ตามในกรณีการเข้า TPP นั้นผลกระทบจะรุนแรงกว่ามาก เพราะต้องให้ความคุ้มครองกับยาชีววัตถุซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มยาราคาแพง อาทิ ยารักษาโรคมะเร็งยาวนานถึง 8 ปี ซึ่งการศึกษาของสมาคมสาธารณสุขแห่งออสเตรเลียพบว่า จะทำให้ค่ายาของออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 205 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียต่อปีจากการคำนวณเพียงแค่มูลค่ายาชีววัตถุเพียง 10 รายการที่มีการใช้สูงสุดเท่านั้น”

ประธาน คอบช. เพิ่มเติมถึงผลกระทบจากการยอมให้มีการจดสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์เก่าที่มีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อยต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นการจดสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุด (Evergreening patent) จากรายงานการวิจัย เรื่อง สิทธิบัตรยาที่จัดเป็น Evergreening patent ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และกรมทรัพย์สินทางปัญญา พบว่า ในประเทศไทยมีคำขอสิทธิบัตรประเภทนี้มาถึงร้อยละ 84 ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการผูกขาดตลาดยาโดยเจ้าของสิทธิบัตรเป็นระยะเวลายาวนานเกินกว่าที่ควรจะส่งผลต่อการเข้าถึงยาของประชาชน รวมทั้งเป็นการขัดขวางการแข่งขันที่เป็นธรรมจากผู้ประกอบการในประเทศ โดยคำขอแบบ evergreening เช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการบริโภคยาและตลาดยาของประเทศ

“เฉพาะแค่รายการยาจำนวน 59 รายการที่มียอดการใช้สูงสุดที่นำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อค่าใช้จ่าย ด้านยา พบว่าเป็นคำขอรับสิทธิบัตรแบบ evergreening ที่ส่งผลให้มีการผูกขาดตลาด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 - 2571 คิดเป็นมูลค่าสะสมประมาณ 8,477.7 ล้านบาท และหากพิจารณาเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วคือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 – 2553 พบว่าประเทศไทยเสียโอกาสในการประหยัดงบประมาณไปแล้วถึง 1,177.6 ล้านบาท หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง หากกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องให้สิทธิบัตรกับคำขอรับสิทธิบัตรเหล่านี้ จะเป็นภาระค่าใช้จ่ายด้านยาได้ถึง 8,500 ล้านบาทโดยประมาณ” ประธาน คอบช.กล่าว

อนึ่งเนื้อหาการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership: TPP) เป็นความตกลงการค้าเสรีกรอบพหุภาคีที่มีการเปิดเสรีครอบคลุมประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง (comprehensive) และมีมาตรฐานสูง (high standard) มีการเจรจาครอบคลุมประเด็นหลักมากมาย รวมถึงประเด็นที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการสาธารณสุขและการเข้าถึงยาของประเทศภาคีสมาชิก ประกอบด้วยนั่นคือ

1. ประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) พบว่ามีข้อเรียกร้องให้ขยายความคุ้มครองในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะการขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรยา อาทิ

    1.1 ให้ยกเลิกกระบวนการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร (Pre-grant Opposition)

    1.2 มีการบังคับใช้กลไกทางกฎหมาย เช่น ให้มีการประเมินค่าเสียหายของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจากราคาขายปลีก (Retail Price) และให้ถือว่าสิทธิบัตรยังไม่หมดอายุจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์

    1.3 ให้มีการผูกขาดข้อมูล (Data Exclusivity) ที่ใช้ในการขออนุญาตทางการตลาดเป็นเวลา 8 ปี สำหรับผลิตภัณฑ์ยาชีววัตถุ และ 10 ปี สำหรับสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร 

    1.4 ขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาออกไปจาก 20 ปีเพื่อชดเชยความล่าช้าของการจดสิทธิบัตร

    1.5 ให้มีระบบการเชื่อมโยงสถานะสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยา (Patent Linkage)

    1.6 ระบุสถานการณ์ ที่ ใช้ มาตรการบังคับใช้สิทธิ (CL) เฉพาะในกรณีโรคติดเชื้อ HIV/AIDS วัณโรค มาลาเรีย และโรคระบาดอื่นๆ หรือสถานการณ์เร่งด่วนหรือฉุกเฉินระดับประเทศเท่านั้น

    1.7 ให้การนำเข้าซ้อนถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีข้อเรียกร้องที่เพิ่มเติมที่ไม่ปรากฏในข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้าฉบับอื่นๆ เช่น

    1.8 การให้จดสิทธิบัตรในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ (Forms) หรือวิธีการใช้ (Uses) เพียงเล็กน้อย โดยไม่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพ (Efficacy) 

    1.9 โดยยอมให้มีการจดสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์เก่าที่มีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อยต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นการจดสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุด (Evergreening patent)

    1.10 การจดสิทธิบัตรในแนวทางการวินิจฉัยโรค (Diagnostic) และวิธีการบำบัดรักษาโรคด้วยยาหรือ การผ่าตัด (Therapeutic and Surgical methods) ซึ่งขัดกับมาตรา 9(4) ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร

แม้ว่าจากเอกสารที่หลุดออกมาผ่าน wikileaks จะพบว่า มีหลายประเด็นผ่อนคลายลง อาทิ การใช้มาตรการเพื่อคุ้มครองด้านสาธารณสุขสามารถทำได้ แต่แทคติคในการยืดอายุการผูกขาดยาต้นแบบยังมีอยู่ครบ แม้จะมีการชะลอการบังคับใช้สำหรับบางประเทศก็ตาม

2. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการแข่งขันและการจัดซื้อจัด หาโดยรัฐ (Government Procurement and Competition Policy) พบว่าในการเจรจา TPP มีบทที่ว่าด้วย Transparency and Procedural Fairness for Healthcare Technologies ซึ่งได้จำกัดบทบาทของภาครัฐในการเจรจาต่อรองราคายา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ที่จะใช้ในระบบสุขภาพของประเทศ เพราะในข้อบทดังกล่าวจะบังคับให้ประเทศภาคีต้องมีระบบบริหารจัดการและระบบอุทธรณ์ให้กับบริษัทยาที่ไม่พอใจการกำหนดราคาจัดซื้อยาเข้ามาในระบบสุขภาพโดยยกข้ออ้างมูลค่าของยาที่ติดสิทธิบัตร และหากบริษัทยาไม่พอใจยังสามารถนำไปเป็นเหตุฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตามกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนได้ อย่างไรก็ตามบทนี้ยังไม่มีเอกสารหลุดออกมาจึงต้องติดตามเนื้อหา

ด้าน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ให้ความเห็นว่าวัตถุประสงค์ของการเข้าร่วม TPP ของสหรัฐฯ นั่นคือ การเปิดตลาด “การสร้างบรรทัดฐานทางการค้าที่มีมาตรฐานสูง (set high-standard trade rules) และนำเสนอประเด็นทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21” ซึ่งในทางปฏิบัติวัตถุประสงค์ดังกล่าวคือการบรรจุความตกลงที่เกี่ยวกับการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตร และการเปิดเสรีสินค้าและบริการที่สหรัฐฯเป็นผู้นำเช่น จีเอ็มโอ และผลิตภัณฑ์อาหารดัดแปลงพันธุกรรม ที่หลายประเทศไม่ยอมรับ

“การเข้าร่วม TPP จะเกิดผลกระทบต่อประเทศไทยในประเด็นที่เกี่ยวกับภาคเกษตรกรรมและทรัพยากรชีวภาพใน 2 ประเด็นสำคัญคือ 1) การขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิต (patent on life) และการยอมรับระบบกฎหมายพันธุ์พืช UPOV1991 ประเทศไทยจะต้องแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร และกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ซึ่งจะส่งผลให้บรรษัทข้ามชาติสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพโดยไม่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ การเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อหรือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านจะกลายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การผูกขาดเมล็ดพันธุ์จะขยายจาก 12 ปี เป็น 20 ปี เมล็ดพันธุ์จะมีราคาแพงขึ้นตั้งแต่ 2-6 เท่าตัวเป็นอย่างน้อย จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจโดย BIOTHAI และเครือข่ายวิชาการด้านทรัพยากรชีวภาพพบว่า ผลกระทบของระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานของสหรัฐฯจะทำให้

  • เมล็ดพันธุ์มีราคาแพงเพิ่มขึ้น จาก 28,542 ล้านบาท/ปี เป็น 80,721-142,932 หรือเพิ่มขึ้น 52,179-114,390 ล้านบาท/ปี
  • การสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการไม่ได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10,740 – 48,928 ล้านบาท/ปี
  • ผลกระทบระยะยาวจากการถูกกีดกันการพัฒนายาสมัยใหม่สมัยใหม่ที่มาจากสมุนไพรซึ่งมี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 59,798 ล้านบาท/ปี รวมมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 122,717-223,116 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและการสูญเสียอธิปไตยเหนือทรัพยากรซึ่งไม่อาจประเมินมูลค่าได้

2) การถูกบีบบังคับให้ยอมรับพืช จีเอ็มโอและมาตรการปกป้องผู้บริโภคเกี่ยวกับฉลากอาหารดัดแปรพันธุกรรม

การเข้าร่วมเป็นภาคีใน TPP อาจทำให้ไทยต้องถูกบีบบังคับให้มีการปลูกพืช จีเอ็มโอ และอาจต้องยกเลิกการติดฉลากหรือมาตรการอื่นๆที่เป็นการปกป้องสิทธิผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารดัดแปรพันธุกรรม ทั้งๆที่กระแสผู้บริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มต่อต้านพืชและผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ดังที่เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สกอตแลนด์ เวลส์ และประเทศต่างๆในอียูรวมกัน 16 ประเทศประกาศแบนพืชจีเอ็มโอเมื่อเร็วๆนี้ เช่นเดียวกับรัสเซีย นอรเวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น”

นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าการอนุญาตให้ปลูกพืช จีเอ็มโอ จะทำให้ระบบเกษตรกรรมของประเทศไทยต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากบรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติสหรัฐ เกิดปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับทรัพยากรชีวภาพซึ่งเป็นรากฐานของระบบเกษตรกรรมและอาหารในอนาคต

“การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในเรื่องความปลอดภัยทางอาหารจะยิ่งเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมกำลังหดแคบลง ไม่เฉพาะในยุโรปเท่านั้น แต่รวมถึงตลาดสหรัฐเองด้วย เนื่องจากผู้บริโภคอเมริกันมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ปฏิเสธผลิตภัณฑ์ที่มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม” นายวิฑูรย์กล่าว

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่าขณะนี้รัฐบาลเป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราวจึงไม่ควรเข้าไปเจรจาผูกมัดประเทศชาติ แต่ควรทำหน้าที่สนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบเกี่ยวกับการ เจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ดี และเปิดโอกาสให้ประเทศไทยมีบรรยากาศประชาธิปไตยเต็มที่ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์นำเสนอข้อมูลต่อสังคม ไม่ใช่เป็นดังเช่นในปัจจุบันที่มีแต่นักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศคอยให้ ข้อมูลแก่รัฐบาลเท่านั้น

และที่สำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน นั้น ขอให้ร่างมาตราที่เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศไม่แย่ไปกว่ามาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และไม่ควรเดินตามรอยร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ตกไป ที่นิยามหนังสือสัญญาไม่นับรวมสัญญาเงินกู้ ซึ่งส่วนใหญ่สัญญาเหล่านี้มีเงื่อนไขบังคับประเทศ, ไม่นับรวมการคุ้มครองการลงทุน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ และไปอ้างอิงแค่ความตกลงใน WTO ซึ่งมีความตกลงน้อยลงทุกที

"กรอบการเจรจาผ่านการพิจารณาแค่ระดับคณะกรรมาธิการต่างประเทศ ไม่ใช่รัฐสภาดังที่เคยเป็นตามรัฐธรรมนูญ 2550 และยังไม่มีการรับฟังเสียงของประชาชนก่อนลงนามผูกพัน หากเป็นเช่นนี้โอกาสที่จะพิจารณาให้เกิดความรอบคอบไม่สามารถเกิดขึ้นได้" นางสาวกรรณิการ์กล่าว

 

ข่าวบทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:

|

Tags: คอบช. , ยา , สิทธิบัตร, FTA Watch, TPP, กรรณิการ์ กิจติเวชกุล, จิราพร ลิ้มปานานนท์, วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ, มูลนิธิชีววิถี, การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก, ผูกขาด, เมล็ดพันธุ์