คอบช.พร้อมภาคี 158 องค์กรจี้ 'รมว.สธ-อย.' ติดฉลากแสดงสินค้า GMOs
คอบช. พร้อม ภาคี 158 องค์กร เข้ายื่นหนังสือต่อ รมว.สาธารณสุข และ อย. ให้ปรับปรุงมาตรการฉลากอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารทุกรายการที่มีจีเอ็มโอ เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค
วันนี้ (17 ธ.ค. 58) ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง ประธานเครือข่ายนักวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับ เครือข่ายประชาชน และองค์กรผู้บริโภคจำนวน 158 องค์กร ยื่นข้อเสนอต่อ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้มีการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องอาหารจีเอ็มโอ โดยมี นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ นพ.กิติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ออกมารับหนังสือ
ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่คุ้มครองสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคด้านความปลอดภัย(Right to Safety) และสิทธิในการเลือกซื้อ (Right to Choose) ของอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม (อาหารจีเอ็มโอ) ที่เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันอาหารจีเอ็มโอ มีมากกว่าถั่วเหลืองและข้าวโพด อาทิ มะละกอ แป้งสาลี มันฝรั่ง แครอท มะเขือเทศ แซลมอน ฯลฯ ที่เป็นอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งมากกว่าการครอบคลุมของประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 251) พ.ศ. 2545 เรื่องการแสดงฉลากอาหารจีเอ็มโอ ซึ่งควบคุมเฉพาะถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด เท่านั้น ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะ อย. ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคและความปลอดภัยของอาหารโดยไม่ต้องรอกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพเพราะกฎหมายดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์อาหารจีเอ็มที่ผ่านการแปรรูป
"อาหารจีเอ็มโอของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นแบบที่ ประเทศไทยใช้เป็นแนวทางในการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 251 เมื่อปี 2545 นั้น ได้มีการพัฒนาไปมาก กำหนดขอบข่ายอาหารหรือวัตถุเจือปนอาหารที่ผลิตมาจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม ได้แก่ เมล็ดพืชดัดแปรพันธุกรรม อาหาร ผลิตภัณฑ์อาหาร หรือวัตถุเจือปนอาหารที่ผลิตมาจากจุลินทรียที่ไม่ทำให้เกิดโรค ที่ดัดแปรพันธุกรรมต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยที่กำหนด โดยเฉพาะความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ และมีการแสดงฉลากพืชจีเอ็มโอหากแตกต่างจากพืชธรรมชาติ และอาหารดัดแปรพันธุกรรมที่ผ่านการแปรรูป ที่จำหน่ายในท้องตลาด มีมาตรการการตรวจติดตามอาหารจีเอ็มโอ เพื่อป้องกันการกระจายของอาหารจีเอ็มโอ ที่ไม่ได้รับการประเมินความปลอดภัย และการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อรับประกันความปลอดภัย หลังออกสู่ตลาด" ประธานเครือข่ายนักวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค คอบช. กล่าว
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ย้ำจุดยืนองค์กรผู้บริโภคว่า องค์กรผู้บริโภคไม่สนับสนุนพืชจีเอ็มโอเพื่อการค้าและการปลูกพืชจีเอ็มโอในไร่นา และให้มีมาตรการแสดงฉลากที่มีจีเอ็มโอและไม่มีจีเอ็มโอ เพื่อสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า
"มาตรการฉลากนี้เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะว่าฉลากจะทำให้ผู้บริโภคเลือกได้ว่าเราควรจะซื้อหรือไม่ซื้อพืชจีเอ็มโอ แต่ถ้าเราทำให้เกิดการปลูกพืชจีเอ็มโอจะทำให้พืชจีเอ็มโอไปปนเปื้อนกับพืชท้องถิ่นทำให้ทางเลือกที่เรามีหายไปแน่นอน เราย้ำจุดยืนขององค์กรผู้บริโภค เราไม่สนับสนุให้ปลูกพืชจีเอ็มโอเพื่อการค้า และไม่สนับสนุนประเทศเดินไปสู่ทิศทางของการปลูกพืชจีเอ็มโอเพื่อเศรษฐกิจ แต่ว่าเราไม่ได้ขัดขวางการทดลอง ยังทดลองได้ในห้องทดลองในระบบปิด ไม่สนับสนุนให้ปลูกในไร่นา เพราะว่าสุดท้ายแล้วขณะนี้ไม่มีใครกล้ารับประกันว่าปลอดภัยหรืไม่ปลอดภัย ฉะนั้นผู้บริโภคเองต้องยึดหลักปลอดภัยไว้ก่อน" เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว
นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ยิ่งไปกว่านั้น จากการทำข้อมูลและสำรวจปัญหาฉลากอาหารที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม พบปัญหาสำคัญของผู้บริโภค คือ การมองไม่เห็นฉลากที่ระบุว่า อาหารนั้นมีส่วนประกอบจากการดัดแปรพันธุกรรม ฉลากมีขนาดเล็กเกินไป ทำให้ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิพื้นฐานในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคได้ และอาหารจำนวนมาก หลายรายการ ที่มีส่วนประกอบสำคัญเป็นถั่วเหลืองและข้าวโพดก็ไม่มีการระบุข้อมูล ว่ามีจีเอ็มโอหรือไม่ พบว่า มีบริษัทที่ใช้แป้งมันสำปะหลังจีเอ็มโอได้ระบุในฉลากว่า แป้งมันสำปะหลังดัดแปรพันธุกรรม
ทางด้าน นพ.กิติศักดิ์ กลับดี กล่าวว่า ประเทศไทยมีพืชหรือสารจีเอ็มโอเข้ามาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมเรื่องความปลอดภัย ขณะที่ อย. ได้มีการกำหนดให้แสดงอาหารจีเอ็มโอเฉพาะผลิตภัณฑ์ข้าวโพดและถั่วเหลืองเท่านั้น อย่างไรก็ตามจะนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่คณะกรรมการฯ เพื่อกำหนดมาตรการและวิธีการเข้าจดแจ้งในประเทศไทยหรือนำมาจำหน่ายในประเทสไทยต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือนในการออกประกาศ
"มาตรการต่างๆ ที่นำเสนอมาในวันนี้ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขเราจะต้องทำ ซึ่งผมคิดว่าคงใช้เวลาสักประมาณ 3-6 เดือน ที่จะออกมาเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อมาใช้บังคับทั้งอาหารที่จะต้องนำเข้ามาจดแจ้งในประเทศไทยหรือนำมาจำหน่ายในประเทศไทยในโอกาสต่อไป ซึ่งจะต้องร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และร่วมมือกับชมรมคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อที่จะช่วยกันดูแลเรื่องของอาหารจีเอ็มโอนี้ให้ดีที่สุด" ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม กล่าวถึงกระบวนการในการทำกฎหมายหรือประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตาม พรบ.อาหาร พ.ศ. 2522 ต้องผ่านคณะอนุกรรมการด้านฉลาก คณะอนุกรรมการกำหนดคุณภาพมาตรฐาน และเข้าสู่คณะกรรมการอาหารต่อไป ซึ่งคณะกรรมการอาหารนั้นประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนมูลนิธิหรือชมรมคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อจะได้มีมุมมองที่ครบถ้วนในการปรับปรุงฉลาก
"เรื่องของฉลาก คือฉลากในเรื่องจีเอ็มโอเราในหลักของอาหารต้องมีความปลอดภัยถึงจะนำมาขายได้ ฉลากนั้นเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคเป็นทางเลือก ฉลากเดิมจะเป็นเรื่องถั่วเหลือและข้าวโพดและผลิตภัณฑ์ทั้ง 22 รายการที่ให้แสดง ที่บอกว่าเปอร์เซ็นต์ที่แสดงในส่วนประกอบไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ จริงๆ นั้นเห็นด้วยนะว่ามันน้อยกว่านี้ได้ไหม อันนี้อยู่กับการตรวจของหน่วยงาน เช่นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ตรวจได้ อันนี้เราก็จะสามารถลงคำว่าจีเอ็มโอลงไปได้เลย ส่วนพัฒนาการฉลากที่จะต้องเป็นลักษณะไหน ผมคิดว่อนุกรรมการต้องไปดูต่อ" รองเลขาธิการ อย. กล่าว
เพื่อเป็นการยกระดับและส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็น 1 ใน 10 เป้าหมายนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2559 จึงเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการดังนี้
1. ปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 215 พ.ศ. 2545 เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค โดย
1.1 กำหนดให้อาหาร ผลิตภัณฑ์อาหาร หรือวัตถุเจือปนอาหาร ที่ผลิตมาจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม ได้แก่ เมล็ดพืชดัดแปรพันธุกรรม อาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร หรือวัตถุเจือปนอาหาร ที่ผลิตมาจากจุลินทรียที่ไม่ทำให้เกิดโรคที่ดัดแปรพันธุกรรม ต้องผ่านประเมิน ความปลอดภัยที่กำหนด ทั้งนี้ การประเมินความเสี่ยง ต้องกำหนดอย่างละเอียด ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปรับปรุงใหม่
1.2 กำหนดให้อาหาร และผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดและวัตถุดิบที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม หรือพันธุวิศวกรรม เป็นอาหารที่ต้องมีฉลากที่ชัดเจน โดยต้องมีการแสดงฉลากว่า มาจากเทคโนโลยีจีเอ็มโอในทุกกรณีที่ตรวจพบ แทนของเดิมที่ระบุให้อาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร หรือโปรตีนที่เป็นผลจากการดัดแปรพันธุกรรม ตั้งแต่ร้อยละ 5 ของแต่ละส่วนประกอบที่เป็นส่วนประกอบหลัก 3 อันดับแรก และแต่ละส่วนประกอบดังกล่าวนั้นมีปริมาณตั้งแต่ร้อยละ 5 ของน้ำหนักผลิตภัณฑ์
1.3 ให้ฉลากมีสัญลักษณ์จีเอ็มโอในรูปสามเหลี่ยมที่ชัดเจนและเห็นได้ชัด ดังที่มีการดำเนินการในประเทศบราซิล
1.4 อนุญาต ให้ใช้ข้อความ‘ปลอดอาหารดัดแปรพันธุกรรม’หรือ‘ไม่ใช่อาหารดัดแปรพันธุกรรม’หรือ‘ไม่มีส่วนประกอบของอาหารดัดแปรพันธุกรรม’หรือข้อความ อื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ซึ่งต้องมีหลักฐานการตรวจรับรองจากหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยรับรองที่รัฐให้การรับรอง
2. กำหนดให้มีกระบวนการตรวจสอบหลังการอนุญาตจำหน่าย (Post-Marketing) ทั้งอาหารจีเอ็มโอและอาหารที่ระบุว่า อาหารปลอดการดัดแปรพันธุกรรม (non-GM)
3. เร่งรัดพัฒนาระบบการรายงานความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร (Food Alert System for Thai Consumers) และใช้ฐานข้อมูลร่วมกันของหน่วยงานรัฐและองค์กรผู้บริโภค พร้อมให้มีการเปิดเผยข้อมูลการทดสอบความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร แก่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง
4. ข้อเสนอต่อกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ หากมีการดำเนินการในอนาคต ขอให้ยึดหลักการคุ้มครองสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการดำเนินการ ขอเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขต้องมีบทบาทสำคัญเป็นหน่วยงานในการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ และยึดหลักป้องกันไว้ก่อน โดยในกฎหมายนี้จำเป็นต้องมีมาตรการชดเชยเมื่อได้รับผลกระทบจากพืชจีเอ็มทั้งหมด
ข่าวบทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:
Tags: คอบช. , อาหาร , มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , ผู้บริโภค, มลฤดี โพธิ์อินทร์, สารี อ๋องสมหวัง, กระทรวงสาธารณสุข , ไพบูลย์ ช่วงทอง, พืชดัดแปลงพันธุกรรม