2nd benefit

2nd benefit

ถูกไฟแนนซ์ฟ้องผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ อย่าตกใจ สู้คดีในศาลลดหนี้ได้

 car speed pic for web

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2549 นางชลลดา มัณฑปาน ผู้ร้องได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อ HONDA Accord กับธนาคารธนชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ในราคา 1,463,177.57 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.75 ต่อปี รวมเป็นเงิน 1,810,710 บาท โดยตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ 60 งวดเดือน เดือนละ 30,178.50 บาท หลังจากชำระได้เพียง 17 งวด ปรากฎว่าผู้ร้องผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดกัน เมื่อเดือนเมษายน 2551 ผู้ให้เช่าซื้อจึงเข้ามายึดรถยนต์คันดังกล่าวที่บ้านของผู้ร้อง โดยไม่ได้มีการบอกกล่าวเลิกสัญญา

ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2559  ผู้ร้องได้รับหมายศาล พร้อมคำฟ้อง ให้ชดใช้หนี้ค่ารถจำนวน 756,436.50 บาท โดยมีบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ตเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)  เป็นโจทก์ ซึ่งขณะนั้น     ผู้ร้องไม่ทราบเลยว่า รถยนต์คันดังกล่าวขายได้ราคาเท่าไหร่

หลังจากถูกฟ้อง ผู้ร้องจึงได้มาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งทางมูลนิธิได้ให้การช่วยเหลือในการทำคำให้การต่อสู้คดี จนในที่สุด เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ ชำระเงิน 50,000 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์  

โดยคดีนี้ศาลฟังข้อเท็จจริงได้ว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายรับตรงกันว่า ผู้ให้เช่าซื้อได้รับรถยนต์กลับไปแล้ว ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญากลับสู่สถานะเดิม ผู้ร้องในฐานะจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อไม่ต้องชดใช้ค่าขาดราคาเช่าซื้อตามสัญญา แต่ในสัญญาเช่าซื้อข้อ 13 ระบุว่า “กรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อหรือเจ้าของได้รถกลับคืน และจะนำรถออกขายให้แก่บุคคลอื่น ผู้ให้เช่าซื้อหรือเจ้าของต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามจำนวนคงค้างชำระตามสัญญา หากนำรถออกขายได้น้อยกว่าหนี้คงค้างชำระ ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดส่วนที่ขาดเฉพาะในกรณีที่เจ้าของได้ขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสม” ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมิได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับภาระสูงกว่าที่ควร ข้อตกลงนี้จึงผูกพันคู่สัญญาโดยชอบ ดังนั้นเมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายส่วนนี้ แม้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิไม่ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบก่อน

โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ชัดแจ้งว่า ผู้ให้เช่าซื้อ ซึ่งก็คือธนาคารธนชาติ จำกัด (มหาชน) ได้รับรถยนต์คืนไปเมื่อใด และขณะนั้นรถยนต์ที่เช่าซื้อมีสภาพทรุดโทรมหรือได้รับความเสียหายเท่าใด ซึ่งตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 บัญญัติให้ ภาระหน้าที่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงตกแก่ผู้ประกอบการ ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่า ราคาเช่าซื้อที่ขาด ไม่เป็นจำนวนตามฟ้อง และข้อตกลงในส่วนนี้ที่รวมดอกเบี้ย เป็นการกำหนดความรับผิดในลักษณะเบี้ยปรับ  ราคาค่าเช่าซื้อตามฟ้องมีการคิดราคารถบวกผลประโยชน์และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ไว้ล่วงหน้า ทั้งผู้ให้เช่าซื้อได้รับค่าเช่าซื้อบางส่วนกับค่าขายรถยนต์แล้วด้วย

นางสาวศรินธร  อ๋องสมหวัง นักกฎหมาย ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “จากผลของคดีนี้ จึงเป็นบทเรียนให้ผู้บริโภคได้ว่า ในคดีผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์  เมื่อผู้บริโภคถูกฟ้อง เห็นตัวเลขที่ฟ้องมาเป็นจำนวนมาก  ก็อย่าได้ตกใจ เพราะอย่างที่ทราบตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 กฎหมายกำหนดให้ภาระการพิสูจน์เป็นของคนที่ฟ้องหรือผู้ประกอบการ หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ ก็ไม่มีสิทธิได้เงินส่วนนั้น  อย่างในคดีนี้ ผู้บริโภคถูกฟ้องให้รับผิดเป็นเงินกว่าเจ็ดแสนบาท แต่เมื่อศาลมีคำพิพากษา ยอดหนี้ที่ต้องรับผิดเหลือเพียงห้าหมื่นบาทเท่านั้น”

คำพิพากษาคดี: