2nd benefit

2nd benefit

ตีกลับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค หวั่นซํ้าซ้อนสคบ.

indy news

สปช.มีมติ 145 ต่อ 75 ตีกลับร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ให้ กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคนำไปแก้ไขเพิ่มเติม ชี้ซ้ำซ้อน สคบ.ทำให้ประชาชนสับสน แนะแก้กฎหมายเพิ่มตัวแทนผู้บริโภคใน คคบ.ดีกว่า กมธ.ปฏิรูปด้านการเมืองหวั่นร่าง รธน.ถูกคว่ำ ประสาน "บวรศักดิ์" ประชุมร่วม กมธ.ยกร่างฯ

เมื่อวันจันทร์ ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญ คือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มี น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เป็นประธาน ได้ยกร่าง พ.ร.บ.เสร็จแล้ว

ทั้งนี้ ในร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ... มีสาระสำคัญคือ การจัดตั้งองค์การชื่อว่า "องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค" มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่มีความเป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ให้ความเห็นในการตราและการบังคับใช้กฎหมายหรือกฎ ให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และมีหน้าที่ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้กิจการขององค์การไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

ขณะที่คณะกรรมการองค์การอิสระฯ จะประกอบด้วย กรรมการ 15 คน มาจากการสรรหา โดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้แทนจาก 9 องค์กร อาทิ นายกสภาทนายความ, เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น โดยคัดเลือกผู้แทนองค์กรบริโภคจำนวน 7 คน มาจาก 7 ด้าน ด้านละ 1 คน และมาจากการเลือกกันเองของผู้แทนองค์กรบริโภคเขตจำนวน 8 คน

สำหรับอำนาจหน้าที่ คือ สนับสนุนและช่วยเหลือองค์กรผู้บริโภคด้านต่างๆ เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็ง รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค สนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริง การโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย สนับสนุนสิทธิร้องเรียนหรือการดำเนินคดีของผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภคที่เดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบการ ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่า การดำเนินคดีต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม คณะกรรมการอาจส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาตั้งพนักงานอัยการดำเนินคดีตามที่เห็นสมควรได้ ตรวจสอบการกระทำที่ละเลยการคุ้มครองผู้บริโภค แล้วรายงานไปยังหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ หรือรัฐสภา

สำหรับเงินและทรัพย์สินขององค์การ ในส่วนที่มาจากรัฐบาลได้กำหนดให้จัดสรรเป็นรายปีจากกฎหมายงบประมาณแผ่นดินประจำปี โดยมีข้อกำหนดการจัดสรรให้ไม่น้อยกว่า 3 บาทต่อหัวประชากร หรือหากมีจำนวนประชากร 65 ล้านคน ต้องจัดสรรงบให้องค์การจำนวน 195 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ในทุกๆ 3 ปีต้องมีการกำหนดจำนวนอัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นไว้ในพระราชกฤษฎีกา และปรับตามดัชนีค่าครองชีพ

ทั้งนี้ ที่ประชุม สปช.ได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง อาทิ นายคุรุจิต นาครทรรพ ที่กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่จะให้มีองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่อยู่ภายใต้กำกับของรัฐ เพราะปัจจุบันมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่เป็นหน่วยงานในการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว การตั้งองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกับ สคบ.จะทำให้เกิดความสับสนในการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือไม่

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช.กล่าวว่า การตั้งองค์การอิสระนี้ขึ้นมาโดยไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ คือแยกอิสระเด็ดขาด จึงขอให้พิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะการยึดโยงกับการบริหารต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน ความเป็นอิสระต้องตรวจสอบได้โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แต่หากเป็นแบบนี้ก็เป็นอิสระแบบเอกชน และกรรมการในชุดนี้ต้องตรวจสอบได้

ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธาน กมธ.และเป็นเลขาฯ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ชี้แจงว่า องค์การนี้ไม่ได้ทำงานซ้ำซ้อนกับ สคบ. เพราะไม่มีอำนาจฟ้องคดีเอง ต้องผ่านอัยการสูงสุดเป็นผู้กรอง และหากเห็นว่า สคบ.ฟ้องก็จะไม่ฟ้องซ้ำ หลักการฟ้องก็ต่างกัน สคบ.ก็เกิดจากข้อร้องเรียนของผู้บริโภคที่เป็นปัจเจกชน ส่วนองค์การคุ้มครองต้องเป็นประเด็นที่กระทบต่อสาธารณะโดยรวม องค์การนี้อาจเป็นองค์การแรกที่เขียนไว้ว่า ถ้ากรรมการไม่เป็นอิสระ ทำหน้าที่มิชอบ มีสิทธิ์ติดคุก 2 เดือน ปรับตั้งแต่ 2 หมื่น-2 แสนบาท และยังมีการตรวจสอบทางงบประมาณโดย สตง.รายงานต่อทั้ง ครม.และรัฐสภา และยังยึดโยงกับสมัชชาผู้บริโภคที่จะตรวจสอบแต่ละปีว่า ทำนอกวัตถุประสงค์หรือไม่รักษาประโยชน์ของผู้บริโภคหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายของสมาชิกส่วนใหญ่มองว่า สคบ.ไม่มีผลงานหรือเป็นที่พึ่งของประชาชนไม่ได้หรืออย่างไร ถึงต้องมีการตั้งองค์การตามร่างใน พ.ร.บ.นี้ อีกทั้งการแยกองค์กรที่มีอำนาจและงบประมาณซ้ำซ้อนกับหน่วยอื่น ทำให้เกิดความสับสนแก่ประชาชน ทำไมไม่แก้ที่กฎหมายของ สคบ. เพื่อเพิ่มตัวแทนให้ผู้บริโภคในที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) อีกทั้งยังมีหลายจุดที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในหลายประเด็นเพื่อให้สมบูรณ์ด้วย

หลังจากนั้น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในฐานะประธานในที่ประชุม ได้ให้สมาชิกลงมติว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปให้ สนช.พิจารณาหรือไม่ ผลการลงมติปรากฏว่า เห็นด้วย 75 เสียง ไม่เห็นด้วย 145 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ซึ่งถือว่าที่ประชุมมีมติให้ กมธ.นำร่างกลับไปแก้ไขเพิ่มเติม ตามข้อบังคับ สปช.ข้อ 107 วรรค 4 ที่ระบุให้คณะกรรมาธิการแก้ไขร่างพระราชบัญญัตินั้น โดยสมาชิกอาจยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมได้ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่สภาฯ มีมติ

ภายหลังการลงมติ น.ส.สารีกล่าวว่า ยังไม่ถือว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ตกไป เนื่องจากส่วนใหญ่รับในหลักการ แต่ต้องการให้ปรับแก้ในรายละเอียด ซึ่งได้ให้เวลาสมาชิก สปช.แปรญัตติเข้ามาใน 7 วัน เพื่อพิจารณาปรับแก้ใน 30 วัน คล้ายกับกระบวนการในสภาล่าง ก่อนที่จะส่งต่อให้ สนช. พิจารณาอีก 3 วาระต่อไป

วันเดียวกัน มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน กมธ.เพื่อพิจารณามติของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กรณีมีการนำระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมมาใช้ในไทย โดยเชิญนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะ สปช.ด้านการเมืองเข้าร่วม

ก่อนการหารือเกี่ยวกับวาระการประชุม นายอลงกรณ์ พลบุตร กมธ.ปฏิรูปด้านการเมืองและเลขานุการวิป สปช.ได้แสดงความคิดเห็นว่า กมธ.ยกร่างฯ ทำงานไป 5 เปอร์เซ็นต์แล้ว ควรจะมีการประชุมร่วมเพื่อหารือแลกเปลี่ยนในประเด็นที่ถูกสังคมวิจารณ์ติติง อาทิ ประเด็นให้ข้าราชการประจำทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ที่ถูกวิจารณ์ว่ากำลังยกร่างฯ กลับไปสู่ระบบเดิม ซึ่งเราอยู่เรือลำเดียวกัน จึงต้องปรึกษาหารือเพื่อรับผิดชอบร่วมกัน และไม่อยากเห็นร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกส่งกลับมาที่ สปช.ถูกแปรญัตติแบบรื้อร่างฯ ถ้าต่อจากนี้จนถึงเดือน เม.ย. กมธ.ยกร่างฯ ไม่ทบทวนกลับมาให้ดี มีโอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำ ตนจึงจะประสานกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เพื่อเสนอให้มีการประชุมร่วมระหว่าง กมธ.ยกร่างฯ และ กมธ.ปฏิรูปการเมืองต่อไป.

 

ที่มา : ไทยโพสต์  Tuesday, 3 February, 2015 - 00:00

 

บทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน :

|