2nd benefit

2nd benefit

สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว ราคา 25 บาท

matrobus18.2.64

แถลงการณ์สภาองค์กรของผู้บริโภค
ข้อเสนอด้านราคาในการต่อสัมปทานสายสีเขียว
สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว ราคา 25 บาทก็ทำได้

              จากการติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เรื่องรถไฟฟ้าและการต่อสัญญาสัมปทาน เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องต่อสัญญา สภาองค์กรของผู้บริโภคมีข้อเสนอแนะและข้อสังเกต ดังนี้

  1. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียวสามารถลดเหลือเพียง 25 บาทต่อเที่ยวได้ รัฐยังมีกำไรและสามารถนำเงินส่งรัฐได้มากถึง 23,200 ล้านบาท และหากคิดค่าบริการ 49.83 บาท ตามข้อมูลที่กระทรวงคมนาคมเสนอ จะสามารถนำเงินส่งรัฐได้สูงถึง 380,200 ล้านบาท

        สภาองค์กรของผู้บริโภค มีโอกาสได้รับทราบข้อมูลของกระทรวงคมนาคม ที่ถูกนำเสนอในการประชุมกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่า กรุงเทพมหานครสามารถคืนหนี้สินได้ทั้งหมด แถมยังมีเงินเหลือนำส่งรัฐบาลได้มากถึง 380,200 ล้านบาท ในปี 2602 โดยใช้การคำนวณค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายในราคา 49.83 บาท สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงได้ทดลองทำข้อมูลเปรียบเทียบ หากลดราคาค่าโดยสารลงร้อยละ 50 เหลือเพียง 25 บาท ยังสามารถทำได้และมีกำไรอีกด้วย

data.bts18.2.64 1 * ตัวเลขนำส่งรัฐ อาจจะน้อยกว่านี้ได้ หากคิดภาระดอกเบี้ย จากเงินต้น 39,800 ล้านบาท ที่เหลือจากการชำระในช่วงแรก ระหว่าง ปีพ.ศ. 2573-2585

  1. มูลค่าหนี้ที่แท้จริงของกรุงเทพมหานคร ไม่มีความชัดเจน สร้างความสับสน

        กรุงเทพมหานคร ใช้ตัวเลขหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เกินจริง โดยผนวกรวมหนี้ใน 8 ปีข้างหน้าที่ยังไม่เกิดรวมเป็นหนี้สินในปัจจุบัน เพื่อเป็นข้ออ้างต่ออายุสัมปทานสายสีเขียวอีก 30 ปี รวม 38 ปีอย่างไม่โปร่งใส ไม่มีข้อมูล ไม่มีที่ไปที่มาของค่าโดยสารรถไฟฟ้า

       จากตัวเลขหนี้จำนวน 148,716.2 ล้านบาท (อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 14 กุมภาพันธ์ 2564) ที่ กทม. อ้างขึ้นมาเพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทานแล้วคิดค่าโดยสารตลอดสาย 15 - 65 บาท หรือ 130 บาท ในการเดินทางไปกลับ เป็นการสร้างภาระให้กับผู้บริโภคล่วงหน้า 38 ปี

       โดยตัวเลขที่กรุงเทพมหานคร ค้างจ่ายจริง ณ ปัจจุบัน มีเพียง 34,837.00 ล้านบาทเท่านั้น แบ่งเป็นหนี้การลงทุนโครงสร้าง 18,145.00 ล้านบาท เงินชดเชยส่วนต่อขยาย 7,090.00 ล้านบาท หนี้ค้างชำระเดินรถ 3 ปี 9 เดือน 9,602.00 ล้านบาท

      ทั้งนี้ มูลค่าหนี้ที่แตกต่างกันถึง 113,879.2 ล้านบาท โดยคิดรวมจากค่าใช้คืนดอกเบี้ยและค่างานระบบในอนาคต จนถึงปี 2572 ถึงหมดอายุสัมปทานเป็นเงิน 88,904 ล้านบาท และหนี้ค้างเดินรถส่วนต่อขยาย ตั้งแต่ปี 2562 - 2572 อีก 21,132 ล้านบาท ฯลฯ ทั้งหมดนี้ได้ถูกนำมาเป็นยอดหนี้รวมปัจจุบันของกทม. เพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทานไปอีก 30 ปี

  1. สภาขององค์กรผู้บริโภคเสนอให้กรุงเทพมหานคร ยุติการดำเนินการต่อสัญญาสัมปทาน และรอการตัดสินใจจากผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น พร้อมเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น หนี้สิน ดอกเบี้ย การคิดค่าจ้างเดินรถ รายได้จากการเดินรถ รายได้จากการพัฒนาสถานี การโฆษณา เป็นต้น

        ราคา 15 - 65 บาท ตลอดสายไปกลับ 130 บาทต่อวัน เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงถึงร้อยละ 39.27 ของค่าแรงขั้นต่ำ 331 บาท ในกรุงเทพมหานคร เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนยาวนานถึง 38 ปี จนถึงปี 2602 ทำให้บริการรถไฟฟ้าไม่สามารถเป็นบริการขนส่งมวลชนได้จริง ไม่สามารถลดปัญหารถติดในกรุงเทพมหานครได้ ดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคาดหวังและชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎร

สภาองค์กรของผู้บริโภค หวังว่า จะได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูล ภาระหนี้ การคิดราคาค่าบริการ การจ้างบริการเดินรถ หรือการสร้างทางเลือกของแหล่งรายได้อื่นของกรุงเทพมหานคร ในการสนับสนุนบริการรถไฟฟ้าให้เป็นบริการขนส่งมวลชนและให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ตรวจสอบสัญญาที่จะสร้างภาระให้กับผู้บริโภค

-------------------

ข่าวเกี่ยวข้อง 

กรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค ถก! ประเด็นค่ารถโดยสารBTS 104 บาท http://www.indyconsumers.org/main/public-service-163/1211-640210bts.html

สภาองค์กรของผู้บริโภค เกิดแล้ว ประเดิมงานแรกทำข้อเสนอนายกรัฐมนตรี http://www.indyconsumers.org/main/public-service-163/1210-tcc-08-02-64.html

มพบ. และองค์กรเครือข่ายผู้บริโภค บุกทำเนียบ ยื่นคัดค้านขึ้นราคาBTS 104 บาท http://www.indyconsumers.org/main/public-service-163/1209-104-08-02-64.html

 

 

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , เครือข่ายผู้บริโภค, สภาองค์กรผู้บริโภค, หยุด104บาท, หยุดกทม., สภาองค์กรของผู้บริโภค