สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบ – กำกับควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลที่เกี่ยวกับ ‘โควิด - 19’ ของ รพ. เอกชน

สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอ กรมการค้าภายในและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เร่งตรวจสอบและกำกับควบคุมราคาค่าบริการ ค่ารักษา และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด - 19 ของโรงพยาบาลเอกชน หลังพบกรณีที่อาจเข้าข่ายการตั้งราคาที่สูงเกินสมควร

           จากกรณีที่มีเรื่องร้องเรียนของประชาชนว่า ถูกเก็บค่ารักษาพยาบาลโควิด - 19 สูงถึง 2 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนออกมาให้สัมภาษณ์ ว่าผู้ป่วยโควิด - 19 ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน หากพบว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่ารัฐกำหนดราคาไว้ ผู้ป่วยจะต้องออกค่าใช้จ่ายส่วนต่างทั้งหมดนั้น

          สภาองค์กรผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์เช่นนี้อาจจะสื่อได้ว่า “รัฐจ่ายในอัตราที่ต่ำเกินไป” หรือ “เอกชนมีการเรียกเก็บสูงเกินไป” โดยเฉพาะในกรณีหลัง พบว่ามีข้อมูลการเรียกเก็บที่อาจเข้าข่ายการตั้งราคาที่สูงเกินสมควร เช่น ผ้าก๊อซ ที่ราคาต้นทุน 10 บาท ถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บในราคา 800 บาท ชุดป้องกันเชื้อ (PPE) ราคาที่ยอมรับร่วมกัน 144 บาท แต่กลับถูกเรียกเก็บถึง 401.61 บาท หรือหน้ากาก 3M รุ่น 1870 ราคาขายในท้องตลาดชิ้นละ 65 - 70 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งคิดราคาถึงชิ้นละ 185 บาท สูงกว่าราคาตลาดถึงร้อยละ 226 – 282 ซึ่งการตั้งราคาในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นที่มาของการเรียกร้องให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนกลายเป็นภาระของรัฐบาลและประชาชน เป็นการสร้างวิกฤติในวิกฤติอีกชั้น

          สภาฯ จึงขอเรียกร้องให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับควบคุมราคาสินค้าและบริการ ตามที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ประกาศกำหนดให้ยารักษาโรค บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค เป็นสินค้าและบริการควบคุม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และเร่งดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว หากพบว่ามีมูลความจริงว่ามีการตั้งราคาสูงเกินสมควร ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายทันที ทั้งนี้เพื่อไม่เป็นการสร้างวิกฤติในวิกฤติ รวมทั้งสร้างภาระให้กับรัฐบาลเกินสมควร

           รวมทั้งเรียกร้องให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับควบคุมสถานพยาบาลเอกชน ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ตรวจสอบการกระทำของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว รวมทั้งมีหลายกรณีที่มีเรื่องร้องเรียนเรื่องการถูกเรียกเก็บเงินในการตรวจหาเชื้อโควิด ซึ่งอาจเข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของสถานพยาบาล เป็นการค้ากำไรเกินสมควรจากสถานการณ์วิกฤติการระบาดของโควิด-19 เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคตามกฎหมาย  และเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่า รัฐมีความรับผิดชอบในการจ่ายค่าใช้จ่ายกับสถานพยาบาลเอกชนอย่างความเหมาะสมหรือไม่ และเป็นเหตุสมควรที่จะเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายให้กับสถานพยาบาลเอกชนหรือไม่


           *สภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 46 และพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 มีอำนาจตามกฎหมายในการให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค รวมตลอดทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนและดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารหรือเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความเสื่อมเสียแก่ผู้บริโภค

Tags: ค่ารักษาพยาบาลแพง, โรงพยาบาลเอกชน, สภาองค์กรของผู้บริโภค, COVID-19, โควิด-19

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน