2nd benefit

2nd benefit

ผ่าทางตันแบงก์บังคับผู้กู้ทำประกันเปิดช่องเลือกบริษัทเอง-เบี้ยถูก10%

ลูกค้ากู้ซื้อบ้านเฮ! คปภ.แจกของขวัญปีใหม่ชุดใหญ่ผนึกธปท.-บริษัทประกันผ่าทางตันปมแบงก์ บังคับทำประกัน เตรียมเปิดตัวแบบประกันใหม่เอี่ยม “กรมธรรม์ประกันคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาตรฐาน” เป็นทางเลือกลูกค้าไม่อยากถูกแบงก์บังคับทำประกัน สามารถหาซื้อเองได้กับค่ายประกันที่ร่วมโครงการ เฉพาะกู้ซื้อบ้านวงเงินไม่เกิน 4 ล้านบาท เบี้ยถูกลง 10% เหตุไม่มีคอมมิสชั่น แถมคุ้มครองต่อเนื่องหากรีไฟแนนซ์ คาดเปิดขายไตรมาสแรกปี 58 ยันธปท.พร้อมร่วมมือคุมเข้มแบงก์ฝ่าฝืนเจอโทษแน่

ปัญหาจุกอกของผู้อยากมีบ้าน ที่ต้องไปกู้เงินธนาคารซึ่งมักจะถูกบังคับให้ทำประกันภัยคุ้มครองเงินกู้กับบริษัทประกันภัยที่แบงก์จัดหามาให้ แม้จะไม่อยากทำหรืออยากจะเลือกบริษัทประกันอื่น ซึ่งอาจจะเสียเบี้ยประกันถูกกว่าก็ไม่สามารถทำได้ไม่เช่นนั้นธนาคารจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้กำลังจะถูกแก้ไขเมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมมือกับภาคธุรกิจและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หาทางออกให้กับผู้เอาประกันมีสิทธิ์ที่จะเลือกบริษัทประกันภัยที่สำคัญจ่ายเบี้ยประกันถูกลงกว่าเดิมด้วย

นางสาววราวรรณ เวชชสัสถ์ รองเลขาธิการด้านกำกับ สำนักงานคปภ. เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่า คปภ.ร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย จัดทำแบบประกันใหม่ “กรมธรรม์ประกันคุ้มครองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแบบมาตรฐาน” (Mortgage Reducing Term Assurance : MRTA) ขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ต้องการที่จะจัดทำประกันสินเชื่อเองโดยไม่ต้องถูกสถาบันการเงินบังคับให้ทำกับบริษัทประกันภัยแห่งใดแห่งหนึ่งในเวลาที่ไปยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินนั้นๆ

“ตอนนี้เราหารือกับบริษัทประกันภัยหมดแล้วรวมไปถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารต่างๆ ให้เข้าใจถึงหลักการและเหตุผล ซึ่งทางธปท.เข้าใจและจะช่วยเราควบคุมดูแลไม่ให้เกิดการทำผิดกติกา หากว่าใครฝ่าฝืนนอกจากธปท.จะมีบทลงโทษแล้ว ทางเราเองก็จะมีบทลงโทษในฐานะที่เขาเป็นนายหน้าเช่นกัน ตอนนี้รูปแบบกรมธรรม์ใกล้เสร็จแล้ว เหลือเพียงทางบริษัทประกันชีวิตขอเวลาไปปรับระบบเท่านั้น คาดว่าจะสามารถเปิดขายได้ในไตรมาสแรกปี 2558”

สำหรับกรมธรรม์ประกันคุ้มครองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแบบมาตรฐานกำหนดทุนประกันสูงสุด 4 ล้านบาท ไม่ต้องตรวจสภาพที่อยู่อาศัย แต่หากทำประกันในทุนประกันที่สูงกว่านี้ต้องเข้าเกณฑ์ของการประกันสินเชื่อปกติคือต้องตรวจสภาพและการขอสินเชื่อขึ้นกับเงื่อนไขของแต่ละสถาบันการเงิน โดยอัตราเบี้ยประกันภัยถูกกว่ารูปแบบเดิมที่ซื้อผ่านธนาคารประมาณ 10% เนื่องจากไม่มีค่าคอมมิสชั่น เพราะ เป็นการบริการตัวเอง ซึ่งลูกค้าต้องเข้าใจด้วยว่าต้องดูแลตัวเอง ถือเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภคที่ต้องการจ่ายเบี้ยประกันถูกกว่าเดิม และไม่ต้องรู้สึกเหมือนถูกแบงก์บังคับให้ทำประกัน

นอกจากนี้ กรมธรรม์ใหม่ยังมีข้อดีกรณีที่ลูกค้าต้องการรีไฟแนนซ์กรมธรรม์ยังคุ้มครองต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องปิดกรมธรรม์เดิมเพื่อไปทำกับสถาบันการเงินรายใหม่ที่ไปขอรีไฟแนนซ์ ทำให้สะดวก โดยลูกค้าที่ซื้อกรมธรรม์ประกัน คุ้มครองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมาตร-ฐานนี้ สามารถนำไปยื่นขอรับบริการสินเชื่อกับทางสถาบันการเงินต่างๆ ได้เลย

“กรมธรรม์ประกันคุ้มครองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมาตรฐานฉบับใหม่นี้จะเป็นภาคสมัครใจ บริษัทประกันใดจะขายต้องยื่นขออนุมัติจากคปภ. ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทประกันชีวิต โดยคปภ.จะลงรายละเอียดของกรมธรรม์นี้ไว้ในเว็บไซต์ของคปภ. รวมไปถึงให้บริษัทที่ขายลงในเว็บไซต์ของตัวเองด้วย เพื่อที่ลูกค้าสามารถเข้าไปดูรายละเอียดและติดต่อกับบริษัทในเรื่องของการทำประกัน การชำระเบี้ยประกัน และพิมพ์กรมธรรม์เองได้”

ทั้งนี้ ตลาดประกันคุ้มครองสินเชื่อ ส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่จะอยู่กับธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งตัวหลัก คือ ประกันสินเชื่อบ้าน โดยการปล่อยสินเชื่อของแบงก์มีผลต่อการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งหากพิจารณาเบี้ยประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อในส่วนของเบี้ยชำระครั้งเดียว หรือซิงเกิล พรีเมี่ยม (Single Premium) ในเบี้ยประกันกลุ่ม ในรอบ 5 ปีนี้ (2552-2556) ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2552 เติบโตถึง 50% ด้วยเบี้ย 20,043.5 ล้านบาท ปี2553 เติบโต 17% ด้วยเบี้ย 23,457.8 ล้านบาท ขณะที่ปี2554 ติดลบ 18% ด้วยเบี้ย 19,266.7 ล้านบาท ก่อนจะเติบโตบวกถึง 38% เบี้ย 26,572.3 ล้านบาทในปี 2555 และในปี 2556 ที่ผ่านมาก็ยังเติบโตได้ 30% ด้วยเบี้ย 34,485.5 ล้านบาท

ส่วนในปี 2557 นี้ การที่ธนาคารต่างๆ จำกัดการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนเบี้ยประกันส่วนนี้ติดลบ 10% ด้วยเบี้ย 26,362.1 ล้านบาท เทียบกับ 29,153 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ด้านแหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงของธนาคารแห่งหนึ่งให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวว่า การทำประกันชีวิตในวงเงินเท่ากับสินเชื่อบ้านนั้น ทุกธนาคารต่างมีบริการแบบนี้เหมือนกันหมด และไม่ได้บังคับให้ลูกค้าต้องใช้บริการนี้ เพราะขึ้นกับความสมัครใจของลูกค้า ขณะที่ประกันอัคคีภัยลูกค้ากู้บ้านต้องทำอยู่แล้ว

“โดยธนาคารแนะนำบริการนี้ เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ลูกค้า เนื่องจากในอดีตเคยมีเคสมาแล้วว่า ผู้กู้ซื้อบ้านเสียชีวิตลง และกลายเป็นภาระของคนที่อยู่ข้างหลังไม่สามารถผ่อนต่อได้ บริการนี้จะช่วยให้ภาระไม่ไปตกหนักกับคนข้างหลังที่ต้องมารับผิดชอบต่อ เพราะได้ทำประกันชีวิตทิ้งไว้ให้แล้ว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั่วประเทศ 9 เดือนแรกของปีนี้ สูงถึง 406,776 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4% และคาดว่าทั้งปีนี้จะปิดที่ 5.5 แสนล้านบาท ถือเป็นสถิติใหม่สูงสุดนับจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หลังจากปีที่แล้วเคยเป็นสถิติสูงสุดที่ 5.34 แสนล้านบาท

สำหรับปัจจัยที่ทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยทั่วประเทศปีนี้ขยายตัวมากสวนทางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เพราะยอดขายคอนโดมิเนียมที่เกิดขึ้นจำนวนมากในช่วงปี 2555-2556 มาโอนกรรมสิทธิ์ในปีนี้ รวมถึงมูลค่าที่อยู่อาศัยปรับตัวขึ้น จึงมีผลให้สินเชื่อมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2558 จะใกล้เคียงกับปีนี้ เพราะจำนวนการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ในปีนี้ลดลง รวมถึงการที่ตลาดต่างจังหวัดยังไม่ฟื้นตัวมาก จะทำให้ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัดจะไม่เติบโต

ทางด้านภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัย ในปี 2558 คาดว่า จะขยายตัวไม่มากนักประมาณ 5-10% โดยตลาดกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเป็นตลาดหลัก ส่วนตลาดต่างจังหวัดมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับปีนี้ได้ก็ถือว่าดีมากแล้ว

 

ที่มา : สยามธุรกิจ [ฉบับที่ 1519 ประจำวันที่ 2014-12-27 ถึง 2015-01-02]

 

บทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:

|