2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ฉลาดซื้อ เผยผลตรวจซ้ำ “สารกันบูดในแกงไตปลาแห้ง” ดีขึ้น แนะผู้บริโภคดูฉลากก่อนตัดสินใจซื้อของฝาก


ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ เผยผลทดสอบสารกันบูดในผลิตภัณฑ์ “แกงไตปลาแห้ง” รอบสอง 15 ตัวอย่าง ชี้สถานการณ์ดีขึ้น พบร้อยละ 26 มีปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐาน จากเดิมที่พบถึงร้อยละ 50 พร้อมแนะผู้บริโภคดูฉลากของฝากก่อนซื้อ โดยเฉพาะข้อมูลผู้ผลิต การใช้วัตถุเจือปนอาหาร วันผลิต และวันหมดอายุ

         
ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ ในโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่าง “แกงไตปลาแห้ง” จำนวนทั้งหมด 15 ตัวอย่าง จากตลาดสดและร้านขายของฝากในภาคใต้ ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิกและกรดเบนโซอิก เป็นครั้งที่ 2 (สุ่มตรวจครั้งแรก เดือนมีนาคม 2561)

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ตรวจพบวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม และ ประเภทกรดซอร์บิก ปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 1000 มก./กก. ในหมวดอาหารประเภทเครื่องปรุงรส

          โดยผลทดสอบพบว่า มีผลิตภัณฑ์แกงไตปลาแห้ง 5 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบสารกันบูดทั้งสองชนิด ได้แก่ 1) ยี่ห้อ คุณแม่จู้ จากร้านจี้ออ อ.เมือง จ.กระบี่ 2) ยี่ห้อ แม่อร กระบี่ จากร้านศรีกระบี่ อ.เมือง จ.กระบี่ 3) ยี่ห้อ จี้ถ้าน พังงา จากร้านต้นข้าว-ต้นขิง สนามบินหาดใหญ่ 4) ยี่ห้อ วิน Win จากร้านเฟิร์ส & เฟิร์น สนามบินหาดใหญ่ และ 5) ยี่ห้อ วังรายา จากร้านขายของฝาก จ.ปัตตานี

          และ มี 6 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบสารกันบูด แต่ไม่เกินมาตรฐาน ได้แก่ 1) ยี่ห้อ ณ ชุมพร  จากร้านของฝาก อ.เมือง จ.ชุมพร พบปริมาณกรดเบนโซอิก เท่ากับ 23.94 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 2) ยี่ห้อ แม่จิตร สุราษฎร์ธานี  จากตลาดสดเทศบาล สุราษฎร์ธานี พบปริมาณกรดเบนโซอิก เท่ากับ 136.21 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 3) ยี่ห้อ จันทร์เสวย  จากร้านขายของฝาก จ.ปัตตานี พบปริมาณกรดเบนโซอิก เท่ากับ 180.83 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 4) ยี่ห้อ ลุงหรอย  จากร้านปิ่นโต สนามบินหาดใหญ่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก เท่ากับ 218.96 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 5) ยี่ห้อ เจ๊น้อง  จากร้านศรีกระบี่ อ.เมือง จ.กระบี่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก เท่ากับ  338.19  มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 6) ยี่ห้อ ชนิดา พังงา จากร้านเฟิร์ส & เฟิร์น สนามบินหาดใหญ่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก เท่ากับ  482.62  มิลลิกรัม/กิโลกรัม

          ส่วนที่เหลืออีก 4 ตัวอย่าง ตรวจพบปริมาณสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก หรือกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน ได้แก่ 1) ยี่ห้อ คุณแม่จู้  จากร้านของฝากแม่จู้ ถ.เทพกษัตรี จ.ภูเก็ต พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  1190.45 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 2) ยี่ห้อ แม่กุ่ย ภูเก็ต จากร้านของฝากแม่กุ่ย จ.ภูเก็ต พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 1107.64 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 3) ยี่ห้อ เจ้นา พังงา จากตลาดสดเทศบาล สุราษฎร์ธานี พบปริมาณกรดเบนโซอิก เท่ากับ 971.76 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 4) ยี่ห้อ ป้าสุ สุราษฎร์ธานี จากตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ พบปริมาณกรดซอร์บิก 697.23 มก./กก  และกรดเบนโซอิก 332.01 มก./กก. (โดยมีปริมาณสัดส่วนของสารกันบูดทั้งสองชนิดรวมกันเกินหนึ่ง ซึ่งเกินมาตรฐาน) 

          มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ฉลาดซื้อเคยสุ่มตรวจแกงไตปลาแห้งครั้งแรก เมื่อเดือนมีนาคม 2561 จำนวน 10 ตัวอย่าง พบว่ามี 5 ยี่ห้อ ที่มีสารกันบูดเกินมาตรฐาน (ร้อยละ 50) ส่วนครั้งนี้ตรวจทั้งหมด 15 ตัวอย่าง พบว่ามี 4 ยี่ห้อ ที่สารกันบูดเกินมาตรฐาน (ร้อยละ 26) ซึ่งดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ใน 3 ยี่ห้อ ที่มีสารกันบูดเกินมาตรฐานในครั้งแรก คือ ยี่ห้อชนิดา จันทร์เสวย และ แม่จิตร ครั้งนี้พบว่ามีสารกันบูดไม่เกินมาตรฐาน ซึ่งขอชมเชยผู้ประกอบการที่ปรับปรุงสินค้าให้ดีขึ้น  

          “ที่น่าแปลกใจคือแกงไตปลาแห้ง ยี่ห้อ คุณแม่จู้ (กระปุกแก้วฝาสีทอง) ต้นตำรับดั้งเดิม จากร้านของฝากแม่จู้ จ.ภูเก็ต ที่ครั้งก่อนตรวจไม่พบสารกันบูด แต่ในครั้งนี้พบว่าเกินมาตรฐาน คือ พบกรดซอร์บิก 1190.45 มก./กก. ขณะที่ยี่ห้อเดียวกัน คือ คุณแม่จู้ (กระปุกพลาสติก ฝาสีแดง) ที่สุ่มเก็บมาจาก จ.กระบี่ ตรวจไม่พบสารกันบูด ถึงแม้ว่าจะมีส่วนผสม และ เลข อย. ต่างกัน แต่ชื่อที่เหมือนกัน ก็อาจทำให้ผู้บริโภคสับสนในการเลือกซื้อได้ว่าแบบไหนมี หรือไม่มีสารกันบูด จึงอยากฝากให้ผู้ประกอบการปรับปรุงมาตรฐานการผลิตและให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับผู้บริโภคให้ดีขึ้น” นางสาวมลฤดีกล่าว

          นอกจากนี้ นางสาวมลฤดี ยังกล่าวเสริมว่า ในเรื่องการให้ข้อมูลการใช้สารกันบูด บนฉลากบรรจุภัณฑ์พบว่า แกงไตปลาแห้งที่ตรวจพบสารกันบูดทั้ง 10 ยี่ห้อ ไม่มียี่ห้อใดเลย ที่ระบุว่าใช้วัตถุกันเสีย จึงอยากให้ผู้ผลิตได้ปรับปรุงการแสดงฉลากให้ถูกต้อง เมื่อมีการใช้สารกันบูดจะมากหรือน้อยก็ต้องระบุไว้ให้ผู้บริโภคทราบ

          “อีกกรณีหนึ่ง ที่ผลตรวจพบว่ามีสารกันบูดปริมาณเล็กน้อยในหลักสิบ หรือ ร้อยกว่าๆ ก็อาจเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตไม่ได้ใส่เอง แต่สารกันบูดเหล่านี้ อาจมาจากวัตถุดิบที่เป็นส่วนผสม หากจะใช้คำว่า ‘ไม่ใช้วัตถุกันเสีย หรือ ปราศจากสารกันบูด’ บนฉลาก ก็ขอให้ตรวจสอบให้แน่ใจก่อน โดยอาจส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจกับหน่วยงานที่ให้บริการตรวจคุณภาพอาหาร เมื่อแน่ใจแล้วว่าไม่มีวัตถุกันเสียจึงค่อยระบุบนฉลาก ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นว่าให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องกับผู้บริโภคได้” มลฤดีกล่าว

          ด้าน ภญ.ชโลม เกตุจินดา ผู้แทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวว่า แกงไตปลาเป็นของฝากภาคใต้ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว จากผลตรวจสารกันบูด กว่าร้อยละ 73 ที่ไม่เกินมาตรฐาน หรือ ไม่พบสารกันบูดก็ถือว่าน่าชื่นชม โดยเฉพาะผู้ผลิตที่ใช้กระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ (Pasteurization) ซึ่งไม่ต้องใช้สารกันบูดเลย จึงอยากฝากให้ร้านค้าอื่นๆ ลองศึกษาข้อมูลเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่กระบวนการผลิตที่ไม่ต้องพึ่งพาสารกันบูดหากว่าเป็นไปได้ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานอาหารของฝากภาคใต้ให้ดียิ่งขึ้น

          “สำหรับผู้บริโภคที่ชอบของฝากจำพวกน้ำพริกหรือแกงไตปลาแห้ง ก่อนซื้อมาทาน จึงอยากแนะนำให้ดูวันผลิตด้วย อย่าดูแค่วันหมดอายุเพียงอย่างเดียว เพราะของฝากจำพวกอาหารที่ผลิตเอาไว้นานเกินไป ก็อาจมีกลิ่นหรือรสชาติที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าจะยังไม่หมดอายุ ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถระบุทั้งวันผลิตและวันหมดอายุ ก็จะเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อของฝากที่มีความสดใหม่ รวมทั้งร้านค้าเองก็จะสามารถจัดเรียงสินค้าวางขายตามลำดับก่อนหลังได้อย่างถูกต้องอีกด้วย” ภญ.ชโลมกล่าว

 อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3192