2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

มพบ.เผย ผู้บริโภคร้องเรียนไตรมาส 2 'หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์' แพงและไม่มีคุณภาพ

 

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยสถิติเรื่องร้องเรียนช่วงไตรมาสสองของปี 2563 พบปัญหา ‘เจลแอลกอฮอล์ - หน้ากากอนามัย ราคาแพงและไม่มีคุณภาพ’ พุ่งสูง ส่วนปัญหาการยกเลิกตั๋วสายการบินยังคงเพิ่มจำนวนขึ้น

วันที่ 22 กรกฎาคม 2563 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 โดยตั้งแต่เดือนเมษายน - เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มพบ. และเครือข่ายผู้บริโภคได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด จำนวน 1,246 เรื่อง

เนื่องจากช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ยังคงมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ปัญหาบางส่วนของผู้บริโภคจึงเป็นผลพวงมาจากโควิดด้วย สำหรับปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบอันดับหนึ่ง เป็นเรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีเรื่องร้องเรียน 409 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 32.83 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด อันดับสอง เรื่องสินค้าและบริการทั่วไป มีเรื่องร้องเรียน 329 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 26.40 และอันดับที่สาม คือ เรื่องบริการสาธารณะ มีเรื่องร้องเรียน 250 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 20.06
เมื่อดูรายละเอียดของเรื่องร้องเรียนจะพบว่า หมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (409 เรื่อง) ปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นการร้องเรียนเรื่องเจลแอลกอฮอล์ที่ไม่มีเลข อย. และการนำหน้ากากอนามัยมาแพ็คแบ่งขายผ่านออนไลน์ นับเป็นการขายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน เสี่ยงต่อสุขภาพทางเดินหายใจของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เป็นเท็จ หรือหลอกลวง ปัญหาการขายยาโดยไม่มีเภสัชกร รวมถึงปัญหาการขายผลิตภัณฑ์ที่ฉลากถูกยกเลิกใช้อีกด้วย
สำหรับหมวดสินค้าและบริการทั่วไป (329 เรื่อง) พบปัญหาเกี่ยวกับเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยเช่นกัน โดยเป็นเรื่องการขายสินค้าเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยที่มีราคาแพงเกินจริง ราคาไม่ตรงป้ายสินค้า หรือไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่งซื้อ โดยส่วนใหญ่มักเป็นการซื้อขายผ่านเว็บไซต์หรือร้านค้าออนไลน์

สุดท้าย หมวดบริการสาธารณะ (250 เรื่อง) ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกี่ยวกับขนส่งทางอากาศ คือเรื่องการเลื่อน - ยกเลิกเที่ยวบิน และปัญหาสายการบินยกเลิกเที่ยวบินโดยไม่แจ้งล่วงหน้า โดยฌพาะช่วงเดือนเมษายนที่มีวันหยุดช่วงสงกรานต์หลายวัน ผู้บริโภคได้จองตั๋วเดินทางล่วงหน้าเพื่อกลับบ้านหรือท่องเที่ยว แต่เกิดปัญหาการยกเลิกเที่ยวบินเนื่องจากปัญหาไวรัสโควิด-19 ระบาด ผู้บริโภคไม่ได้รับเงินคืนจากการจองตั๋ว และพบว่าสายการบินบางบริษัทอ้างว่าไม่มีนโยบายคืนเงิน ให้ผู้บริโภคใช้สิทธิเลื่อนตั๋วเพื่อให้เดินทางครั้งใหม่ ซึ่ง กลุ่มผู้บริโภคบางรายต้องการเงินคืน ไม่ได้ต้องการเดินทางอีก ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังคงไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงปัจจุบัน

จากปัญหาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภคได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาไปแล้ว 607 เรื่อง หรือร้อยละ 48.72 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นเกี่ยวกับการเฝ้าระวังออนไลน์ เช่น มอนิเตอร์ร้านค้าออนไลน์ที่ขายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน โฆษณาเกินจริง หรือขายสินค้าแพงเกินจริง เป็นต้น โดยมูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปยังเจ้าของร้านหรือเจ้าของเพจ ให้แก้ไข หรือหากไม่มีการแก้ไขแจ้งเรื่องไปยังหน่วยงานที่ควบคุมดูแล เช่น ETDA DE หรือ อย. เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีและสามารถจัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็ว สำหรับปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขนั้น ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับสายการบิน กลุ่มกรุ๊ปทัวร์ ที่มีการจองตั๋วแล้วเที่ยวบินยกเลิก ไม่ได้เดินทาง ซึ่งยังไม่ได้รับการเยียวยา ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย ที่ไม่ได้คุณภาพ ต้องมีการตรวจสอบและแจ้งหน่วยงานดูแลควบคุมดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

 ข่าวจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  www.consumerthai.org

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , เครือข่ายผู้บริโภค