เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสานร้องผู้ว่าฯไม่เอา GMOs
เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสานพร้อมภาคีภาคประชาสังคม ยื่นหนังสือให้ผู้ว่าฯทบทวนการปลูก GMOs ในไทย หวังผลกระทบเชิงลบมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ
ตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานจัดทำยุทธศาสตร์เกษตรได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและเตรียมการให้มีการปลูกทดลองพืชดัดแปรงพันธุกรรม (GMOs: Genetically Modified Organisms)ในพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ในแปลงเปิด รวมไปถึงการปลูกในเชิงพาณิชย์ องค์กรเกษตรกร องค์กรผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งได้ติดตามการปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมในประเทศต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง พบว่า การปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์มีผลกระทบเชิงลบมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ
ทางด้านเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น นำโดย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) , เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน , เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน, มูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต , ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า , เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกขอนแก่น , สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น , เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จ.ขอนแก่น , เครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคอีสาน ,เครือข่ายผู้หญิงภาคอีสาน ได้รวมตัวกันกว่า 50 คน ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นโดยมี นายขจรศักดิ์ สรหาจักร หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่นรับมอบหนังสือแทน
นายทองม้วน โยกาวี ตัวแทนเกษตรกร กล่าวว่า GMOs เป็นลิขสิทธิ์ที่มีเจ้าของแล้ว ถ้าหากนำมาทดลองปลูกในแปลงเปิด วันหนึ่งเกิดว่าเกสรของพืชที่ทดลองปลูกไปผสมพันธ์กับพืชพันธุ์พื้นบ้านที่เกษตรกรปลูกอยู่เป็นประจำ แล้วทำให้เกิดการกลายพันธุ์ขึ้นมา ทางบริษัทก็จะกล่าวหาว่าเกษตรกรไปละเมิดลิขสิทธิ์ แล้วพืชพรรณที่เกษตรกรเคยปลูก เคยบริโภค โดยไม่ได้เสียค่าใช้จ่าย ต่อไปเกษตรกรจะไม่ได้ซื้อพืชพรรณธัญญาหารกินกันทั้งประเทศเลยหรือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ด้าน นายสมพงษ์ ประทุมทอง ประธานศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การที่ นำ GMOs เข้ามาในประเทศไทย เพื่อเป็นข้ออ้างในการหาผลประโยชน์ทางการค้า ซึ่งเกษตรกรผู้ผลิตไม่สามารถที่จะเกิดการต่อสู้ได้หากเกิดว่ามีการปนเปื้อนทางพันธุกรรมเพราะพันธุ์พืชที่เกษตรกรปลูกไม่ได้จดลิขสิทธิ์ ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมต่อเกษตรกรรายย่อย ควรพิจารณาก่อนนำมากำหนดนโยบาย
นอกจากนี้ นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยโสธรพร้อมกับเกษตรกรได้ร่วมยื่นหนังสือให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร คัดค้านการเอาพืช GMOs และจังหวัดมหาสารคาม นำโดย คุณสุเมธ ปานจำลอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกมหาสารคาม ก็ได้ยืนหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เช่นกัน เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ทบทวนนโยบายและดำเนินการเกี่ยวกับพืชดัดแปรพันธุกรรมดังต่อนี้
1. ขอให้ยับยั้งการอนุญาตให้มีการปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิด จนกว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งกำหนดให้มีการชดเชยความเสียหายและรับผิดชอบกรณีที่เจ้าของหรือผู้ปลูกพืชดัดแปรงพันธุกรรมทำให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับพืชทั่วไป พืชที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ ในระหว่างที่ไม่มีกฎหมายข้างต้น ให้มีการอนุญาตในการปลูกทดลองพืชดัดแปรพันธุกรรมในโรงเรือนทดลอง หรือให้ห้องปฏิบัติการเท่านั้น
2. ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ภายใต้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรกรรมอินทรีย์ ทั้งนี้โดยให้มีตัวแทนของผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเครือข่ายเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น องค์กรสาธารณประโยชน์ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรของประเทศสามารถเชื่อมโยงประสานกันโดยไม่ขัดแย้งกัน