2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

เช้านี้ทูตสหรัฐฯคนใหม่แถลงข่าวชวนประเทศไทยเข้า TPP

คิดว่าเรื่องนี้คงเป็นประโยชน์กับสหรัฐฯมากกว่าฝ่ายไทยมากแน่ๆ สหรัฐจึงยอมวางหลักการส่งเสริมประชาธิปไตยที่พร่ำเทศนานานาชาติ เปิดอ้อมแขนรับรัฐบาลทหารของไทยที่มีข้อกล่าวหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างเข้มข้นนับแต่รัฐประหาร ซึ่งก็ตรงกับการทำข้อมูลของ อย.ของไทยที่เคยประเมินผลกระทบจากแค่ทริปส์พลัสเรื่องยาประเด็นเดียว ผลประโยชน์จะตกอยู่กับบริษัทข้ามชาติทั้งหมด บนรายจ่ายของระบบสุขภาพของไทยและชีวิตคนไทย
 
ค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มไม่ต่ำกว่าปีละแสนล้าน ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์อีกไม่ต่ำกว่า 1.4 แสนล้าน ขณะที่ผลประโยชน์ที่สหรัฐฯมาล่อ เป็นแค่สิทธิพิเศษทางการค้าด้านภาษี ระยะสั้นๆ เท่านั้น
 
การเข้า TPP มีผลผูกพันระยะยาวต่อประชาชนคนไทย เหตุใดจึงไม่รอรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยซึ่งน่าจะสะท้อนความต้องการของประชาชนได้มากกว่า
 
ถ้าสหรัฐอ้างว่ากระบวนการกว่าจะเข้าได้ มันใช้เวลายาวนาน (อีก 2 ปี TPP จึงจะเปิดรับสมาชิกใหม่ได้) ถึงตอนนั้นอาจจะมีการเลือกตั้งแล้ว ก็แสดงว่า รัฐบาลสหรัฐยอมรับการตัดสินใจของรัฐบาลรัฐประหาร ยอมรับการปกครองของรัฐบาลทหารที่จะผูกมัดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต ด้วยใช่ไหม
 
หากเป็นเช่นนั้น หยุดแสดงตัวว่าเป็นประเทศรักประชาธิปไตยได้แล้ว หยุดแสดงตัวว่าเป็นประเทศส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้แล้ว เพราะพฤติกรรมนี้ชี้ชัดว่า รัฐบาลไหนก็ได้ขอให้สหรัฐฯได้ประโยชน์สูงสุด
 
ขณะที่รัฐบาล คสช. ก็เล่นบทกันไปคนละทิศคนละทาง นายกฯประยุทธ์สั่งให้เพราะให้ทุกหน่วยราชการไปศึกษาข้อมูล text จริง แล้วทำความเห็น แต่รองนายกฯสมคิด เที่ยวประกาศว่าจะเข้า TPP ให้ได้ และไปขอร้องญี่ปุ่นให้ช่วย ทั้งที่ยังไม่มีการประชุมรวบรวมความเห็นหรือถกข้อมูลระหว่างหน่วยงานเลย
 
หน่วยราชการต่างๆจึงอยู่ในภาวะช็อคว่า ตกลงจะให้ความเห็นอย่างไรดี รัฐบาลอยากฟังความเห็นจริงๆ บนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริง หรืออยากฟังแบบชงเชลียร์
 
ข่าวลือหึ่งว่า ในการประชุม ครม.นัดพิเศษวันที่ 4 ธ.ค.นี้ จะดันเรื่อง TPP เต็มแรง
 
ถ้าข่าวนี้จริง ก็ต้องถือว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีความสามารถในการเลียนแบบนักการเมืองที่ตัวเองเคยกร่นด่า เพราะเมื่อ 3 ปีที่แล้ว วันที่ 4 ธ.ค. ครม.ยิ่งลักษณ์ ก็เคยนำกรอบการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป เข้าอนุมัติทั้งที่ไม่เคยผ่านการรับฟังความคิดเห็น โดยอาศัยช่วงเวลาวันสำคัญในการดึงความสนใจของสาธารณชนออกไป
 
 ข่าวบทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน
|

Tags: อาหาร , เอฟทีเอ, ผูกขาด, เมล็ดพันธุ์, จีเอ็มโอ, GMOs, พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ