เครือข่ายผู้บริโภคพบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย 753 รายการ ชี้ดาราและเน็ตไอดอลต้องรับผิดชอบต่อผู้บริโภค
เครือข่ายผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โฆษณาผิดกฎหมาย 753 รายการ ส่วนผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฏหมายยังวางขายเกลื่อนในออนไลน์ เรียกร้องดาราและเน็ตไอดอลต้องรับผิดชอบต่อผู้บริโภค พร้อมยื่นข้อเสนอ 16 ข้อต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วันนี้ (26 ก.พ. 62) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภูมิภาค ได้แก่ เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคตะวันตก และเครือข่ายผู้บริโภคกทม. เปิดเผยผลการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ พบมีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยประกาศว่าเป็นผลิตภัณฑ์อันตรายและได้เพิกถอนเลขสารบบจำนวน 29 ผลิตภัณฑ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีการอ้างเลข อย. ปลอม ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่แสดงที่ตั้งผู้ผลิต ยังวางจำหน่ายในสื่อสังคมออนไลน์และร้านค้าออนไลน์ต่างๆ และพบว่าดารา เน็ตไอดอลมีส่วนในการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง
นายโสภณ หนูรัตน์ นักวิชาการ มพบ. กล่าวว่า การเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ของ มพบ. และเครือข่ายผู้บริโภค เน้นไปที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันคือ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กินแล้วต้องไม่ตาย” โดยมีการเฝ้าระวังในช่วงระหว่างวันที่ 24-27 ธันวาคม 2561 โดยแบ่งกลุ่มเฝ้าระวังการโฆษณาผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งในห้างออนไลน์ (E-market Place) สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ได้แก่ อินสตาแกรม ไลน์ เฟซบุ๊ก รวมทั้งมีการเฝ้าระวังในกลุ่มพรีเซนเตอร์ ดารา เน็ตไอดอล บุคคลมีชื่อเสียง แพทย์และเภสัชกรที่ขายหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ซึ่งมียอดผู้ติดตามไม่น้อยกว่า 10,000 ราย โดยใช้วิธีการเฝ้าระวังจากข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ อย. ประกาศว่ามีส่วนผสมอันตราย และค้นจากคีย์เวิร์ดคำโฆษณาผิดกฎหมาย เพื่อตรวจสอบการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ที่อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เช่น หุ่นดี ลดความอ้วน ผอม สวย อาหารเสริมลดน้ำหนัก เป็นต้น
นางสาวสถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการ มพบ. กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ พบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ อย. เคยประกาศว่ามีส่วนผสมของสารประกอบอันตราย จำหน่ายอยู่ในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ และร้านค้าออนไลน์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบว่าร้านค้าส่วนใหญ่ไม่แสดงเลขอนุญาตโฆษณา ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย ดังนั้นห้างออนไลน์ที่อนุญาตให้มีการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวจะต้องรับผิดชอบ และผู้ค้ารายย่อยที่นำมาขายก็จะต้องมีความผิดด้วย ทั้งนี้ หลังจากนี้ทางเครือข่ายผู้บริโภคจะเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่ผลในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ซอกแซกสื่อ (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)’
นายปิยะพงษ์ ปัญญาดา มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในอินสตาแกรม พบผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทเสริมอาหารลดน้ำหนัก 177 ผลิตภัณฑ์ และมีการโฆษณามากถึง 348 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งหมดบนอินตาแกรม ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมายที่ อย. ประกาศห้ามจำหน่ายถึง 14 ผลิตภัณฑ์ และมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมายถึง 38 ครั้ง
“ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือ ยังมีผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายขายอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งในเฟซบุ๊กและอินตาแกรม แต่ไม่สามารถ report ได้ เนื่องจากตอนกดเลือกเหตุผลในการร้องเรียนนั้นไม่มีเรื่องปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพอยู่เลย” นายปิยะพงษ์
นายศตคุณ คนไว สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย พบว่ามีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดถึง 753 ชิ้น โดยพบในเฟซบุ๊ก 240 ชิ้น อินสตาแกรม 348 ชิ้น ไลน์ 80 ชิ้น และร้านค้าออนไลน์ 85 ชิ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างเหล่านี้มักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. ผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นเพียงการจดแจ้งกับ อย. แต่มักจะนำไปโฆษณาว่าผ่านมาตรฐาน อย. แล้ว รวมถึงมีบางผลิตภัณฑ์ที่ใส่เลข อย. ไม่ตรงกับผลิตภัณฑ์ที่โฆษณา นอกจากนี้ เมื่อมีการร้องเรียนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ พบยังมีข้อติดขัดในการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย
นายพงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก กล่าวว่า นอกจากปัญหาโฆษณาที่มีจำนวนมากแล้ว ดารา คนดัง เน็ตไอดอล รวมทั้งผู้มีวิชาชีพด้านสุขภาพ ก็มีส่วนต่อการโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ โดยผลการเฝ้าระวังพบผลิตภัณฑ์ที่มีโฆษณาซึ่งอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย 74 ผลิตภัณฑ์ และมีดาราเป็นผู้โฆษณาจำนวน 59 ราย เน็ตไอดอลจำนวน 10 ราย นักวิชาการหรือวิชาชีพ จำนวน 2 ราย และดาราที่เป็นเจ้าของแบรนด์อีกจำนวน 9 ราย ทั้งนี้ ในกลุ่มดังกล่าวมีบางผลิตภัณฑ์ที่เลข อย. ไม่ตรงกับสินค้าที่โฆษณา หรือบางสินค้า เลข อย. มีสถานะยกเลิกแล้ว แต่ยังมีการโฆษณาอยู่ จึงมองว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ขาย ผู้โฆษณาที่เป็นดารา เน็ตไอดอลและร้านค้าออนไลน์ที่เป็นช่องทางจำหน่ายจะต้องมีส่วนรับผิดชอบ
“ขอให้ดารา เน็ตไอดอล และนักวิชาการ ตรวจสอบข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะรับโฆษณา หรือสอบถามจากเพจ ซอกแซกสื่อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก่อนที่จะรับงานโฆษณา เพื่อเป็นการสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น” นายพงษภัทร
ภญ.ชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวว่า นอกจากเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคแล้ว ยังพบว่าผู้ขายไม่มีการแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่า เป็นผู้ขายที่ได้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือจดทะเบียนตลาดแบบตรงกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทำให้ผู้บริโภคยังมีความเสี่ยงจากการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะผู้ค้ารายย่อยที่จำหน่ายสินค้าผ่านพื้นที่สาธารณะอย่างเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม ซึ่งตรวจสอบยากกว่าผู้ขายในร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ทำให้ยังพบปัญหาผู้บริโภคถูกหลอก ถูกโกงจากการซื้อสินค้าออนไลน์อยู่เสมอ
“กระทรวงพาณิชย์ควรออกกฎให้ผู้ค้าออนไลน์ทุกคนต้องจดทะเบียนขายสินค้าออนไลน์โดยไม่มีระบุรายได้ต่อปีขั้นต่ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงเพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลและตามหาตัวผู้กระทำผิดได้หากเกิดปัญหา” ภญ.ชโลมกล่าว
ทั้งนี้ มพบ. และเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภูมิภาค ได้เสนอให้หน่วยงานต่างๆ มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ ดังนี้
ข้อเสนอต่อ อย.
1. ให้ดำเนินคดีผู้ค้ารายย่อยที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย รวมทั้งร้านค้าออนไลน์ที่ละเลยไม่ตรวจสอบ และปล่อยให้มีการขายสินค้าผิดกฎหมายด้วย
2. ลงโทษผู้ค้าที่ไม่แสดงเลขอนุญาตโฆษณา เข้มงวดกวดขันกับการโฆษณาเกินจริง หลอกลวง เป็นเท็จ ผิด กฎหมาย อย. หรือผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ รวมทั้งสั่งปรับรายวันกับผู้โฆษณาขายสินค้าผลิตภัณฑ์สุขภาพออนไลน์ผิดกฎหมาย เพื่อให้ปิดอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊ก
3. ตั้งงบสนับสนุนผู้ร้องเรียนเรื่องการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โดยมีรางวัลนำจับที่ชัดเจน เรื่องละ 300 บาท เพื่อสร้างแนวร่วมเฝ้าระวังในการจัดการปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพออนไลน์
4. อย. ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ ด้วยการวินิจฉัยโทษ ‘โฆษณาเกินจริงเป็นเท็จ’ และลงโทษปรับอัตราสูงสุด
5. ควรกระจายอำนาจให้ สสจ. ดำเนินการเปรียบเทียบปรับได้ กรณีมีการร้องเรียนกระทำความผิดทางออนไลน์ในเขตพื้นที่ที่ สสจ. รับผิดชอบ
6. ให้ห้างออนไลน์สร้างระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูลกับ อย. เพื่อลิ้งก์เลขทะเบียนผลิตภัณฑ์และเลขอนุญาตโฆษณาของผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายกับเว็บสารบบของ อย. เพื่อให้ผู้บริโภคตรวจสอบข้อมูลได้ง่ายขึ้น
7. เปิดเผยคลังข้อมูลโฆษณา เพื่อให้ผู้บริโภคทั่วไปและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูล และช่วยตรวจสอบเรื่องโฆษณาร่วมกับ อย. ได้
8. ดำเนินคดีกับทั้งผู้ขาย ผู้โฆษณาที่เป็นดารา เน็ตไอดอลและร้านค้าออนไลน์ที่เป็นช่องทางจำหน่ายในเชิงลงโทษด้วย
9. ควรมีการกำกับการโฆษณาเพิ่ม โดยให้แสดงข้อความว่าเป็นผู้โฆษณาที่ได้รับสปอนเซอร์ หรือเป็นผู้ใช้จริง
10. กรณีร้องเรียนปัญหาผ่านช่องทางออนไลน์ ให้ อย. ใช้ระบบระงับข้อพิพาททางออนไลน์ ให้เสร็จในคราวเดียวไม่ต้องเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย
ข้อเสนอต่อหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
1. หน่วยงานรัฐ ทั้ง อย. สคบ. รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประสานงานให้เจ้าของเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ให้เพิ่มอัลกอริธึ่มสำหรับรายงานการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค
2. กลุ่มสภาวิชาชีพต่างๆ ตรวจสอบ และดำเนินคดีกับผู้ที่อ้างความเป็นวิชาชีพ มาหารายได้ โดยการโฆษณาผิดกฎหมาย ตามข้อบังคับของสภาวิชาชีพนั้นๆ
3. ดารา เน็ตไอดอล นักวิชาการ ต้องตรวจสอบข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือสอบถามจากเพจ ‘ซอกแซกสื่อ (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)’ ก่อนจะรับงาน เพื่อสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น
4. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ต้องกำกับดูแลให้มีการแสดงข้อมูลผู้จดทะเบียนขายสินค้าออนไลน์ โดยแสดงเป็นตราสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคทราบ
5. ให้ สคบ. แก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้มีการรับจดทะเบียนผู้ขายสินค้าผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยไม่มีทุนขั้นต่ำ และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ขายสินค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างเคร่งครัด
6. ให้รัฐมีการเก็บภาษีการขายสินค้าออนไลน์