ปาร์ตี้ ‘ปิ่นโต’ หน้าทำเนียบฯ ทวงลายเซ็น ‘บิ๊กตู่’ รับรองกฎหมายบำนาญประชาชน ๓,๐๐๐ บาท
เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการกว่า ๒๐๐ คนจัดกิจกรรมปาร์ตี้ปิ่นโต นัดกินข้าวหน้าทำเนียบรัฐบาล ทวงลายเซ็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้รับรองร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ....
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นการมาทวงถามนายกรัฐมนตรีให้เซ็นรับรองร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ที่ประชาชนกว่า ๑๓,๐๐๐ คนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หลังจากอยู่ในวาระการพิจารณาของนายกฯ นานกว่า ๕ เดือน
“หากเรามีบำนาญพื้นฐาน จะเป็นหลักประกันที่ไม่ทำให้ใครต้องล้มละลายจากการไม่มีกิน เมื่ออายุ ๖๐ ปี เป็นเหมือนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในชีวิต เหมือนระบบหลักประกันด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นหลักค้ำทางสังคมอีกเสาหนึ่ง และหากเรามีรัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชน ก็หวังว่านายกฯ จะเซ็นรับรองกฎหมายนี้ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนพรรคการเมืองที่หาเสียงไว้ว่าจะทำบำนาญถ้วนหน้า ก็อยากให้เร่งทำร่างกฎหมายประกบคู่ไปกับร่างของประชาชน” นายนิมิตร์กล่าว
ตัวแทนเครือข่ายประชาชนฯ ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้าเป็นกลไกที่รัฐสามารถใช้แก้ปัญหาความยากจนในระยะยาวได้ ซึ่งหากถามว่าเงินที่จะนำมาจัดสรรอยู่ที่ไหน คำตอบคือ ความพร้อมของประเทศอยู่ที่เจตจำนงของรัฐ ซึ่งประชาชนต้องไม่นิ่งเฉย ต้องส่งเสียง ทวงถาม ทำให้เสียงดังอย่างต่อเนื่อง ว่าประชาชนต้องการหลักประกันด้านรายได้ที่มั่นคงเมื่อสูงวัย
ด้านนางสาวเนืองนิช ชิดนอก ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค อ่านแถลงการณ์ว่า การมีเงินบำนาญรายเดือน ๓,๐๐๐ บาท ที่อ้างอิงจากเส้นความยากจนในปัจจุบัน เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ผู้สูงอายุทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใช้ชีวิตวัยเกษียณอย่างมีคุณค่า ในขณะที่ลูกหลานซึ่งอยู่ในวัยทำงาน ไม่ต้องกังวลว่าจะหาเงินเพื่อส่งเสียพ่อแม่ แต่จะมีโอกาสสร้างอนาคตของตัวเองได้มากขึ้น
“หากเงินบำนาญถ้วนหน้าเปรียบดั่งข้าว ขอให้ข้าวมื้อนั้นเพียงพอแก่การกิน แก่การยังชีพ ไม่ต้องอดมื้อกินมื้อ เพื่อให้พวกเรามีชีวิตขับเคลื่อนประเทศต่อไป เราขอยืนยันว่า การจัดสวัสดิการเพื่อหลักประกันในการดำรงชีวิต เป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับเสมอหน้ากัน และรัฐต้องหยุดมองประชาชนเป็นภาระของประเทศ ที่แค่ให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือชั่วคราว ต้องหยุดส่งต่อความจนเรื้อรัง ที่ผูกโซ่ตรวนจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยการมีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า” นางสาวเนืองนิช กล่าว
ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ มีข้อเรียกร้องจำนวน ๒ ข้อ คือ ๑.ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หยุดถ่วงเวลาพิจารณากฎหมายด้วยการเร่งให้คำรับรองร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติฯ ฉบับที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอ เพื่อให้กระบวนการพิจารณากฎหมายได้ดำเนินการตามกลไกของรัฐสภาทันที และ ๒.ให้ทุกพรรคการเมือง ที่หาเสียงว่าจะทำบำนาญประชาชน ออกมาร่วมกับเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการเสนอร่างกฎหมายประกบคู่กับร่างกฎหมายของภาคประชาชน เพื่อให้เห็นการร่วมมือกันสร้างบำนาญถ้วนหน้าให้กับคนไทยทั้งประเทศ
แถลงการณ์ “เปลี่ยนเบี้ยยังชีพ เป็นบำนาญถ้วนหน้า เริ่มได้ทันที”
เป็นระยะเวลากว่า ๕ เดือนแล้วที่ร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่ประชาชนกว่าหนึ่งหมื่นสามพันคนร่วมลงชื่อสนับสนุน อยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ยังไร้วี่แววจากนายกรัฐมนตรีว่าจะเซ็นรับรองกฎหมายฉบับนี้หรือไม่?
ร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ เป็นกฎหมายที่ประชาชนร่วมกันร่างขึ้น เพื่อ “เปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้า” เปลี่ยนการสงเคราะห์ที่มองผู้คนอย่างไร้ศักดิ์ศรี มาเป็นการให้อย่างเสมอหน้า เท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใคร
การมีเงินบำนาญรายเดือน ๓,๐๐๐ บาท ที่อ้างอิงจากเส้นความยากจนในปัจจุบัน เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ผู้สูงอายุทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใช้ชีวิตวัยเกษียณอย่างมีคุณค่า ในขณะที่ลูกหลานซึ่งอยู่ในวัยทำงาน ไม่ต้องกังวลว่าจะหาเงินเพื่อส่งเสียพ่อแม่ แต่จะมีโอกาสสร้างอนาคตของตัวเองได้มากขึ้น
หากเงินบำนาญถ้วนหน้าเปรียบดั่งข้าว ขอให้ข้าวมื้อนั้นเพียงพอแก่การกิน แก่การยังชีพ ไม่ต้องอดมื้อกินมื้อ เพื่อให้พวกเรามีชีวิตขับเคลื่อนประเทศต่อไป เราขอยืนยันว่า การจัดสวัสดิการเพื่อหลักประกันในการดำรงชีวิต เป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับเสมอหน้ากัน
รัฐต้องหยุดมองประชาชนเป็นภาระของประเทศ ที่แค่ให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือชั่วคราว รัฐต้องหยุดส่งต่อความจนเรื้อรัง ที่ผูกโซ่ตรวนจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยการมีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า
นี่เป็นโอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นถึงความไม่ตระบัดสัตย์ในคำพูดของตัวเอง หลังประกาศจะ "ทำงานแบบวิถีใหม่" ที่อยากเห็นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเทศ ที่อยากได้ยินเสียงของประชาชน และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้มากขึ้น
รัฐบาลต้องแสดงเจตจำนงอย่างแน่วแน่ จริงจัง และให้ความสำคัญต่อร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติฯ เพื่อให้ประชาชนได้มีหลักประกันทางรายได้ขั้นพื้นฐานอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ส่วนพรรคการเมืองทั้งหลาย ตัวแทนประชาชน ผู้หาเสียงว่าจะผลักดันบำนาญถ้วนหน้า อย่าลืมว่าเคยสัญญาอะไรกับประชาชนไว้ เราตระหนักรู้อยู่ในใจเสมอ
ต่อจากนี้ ขอให้ข้าวทุกคำจากปิ่นโตที่เราจะกินร่วมกันหน้าทำเนียบรัฐบาล เป็นสัญญาณบอกไปถึงนายกรัฐมนตรีว่า รัฐต้องจัดให้มีระบบบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ในอัตราไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน 3,000 บาทต่อเดือน หรือเริ่มต้นบัดนี้ด้วยการยกเลิกเบี้ยยังชีพ เปลี่ยนเป็นบำนาญถ้วนหน้าทันที
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ มีข้อเรียกร้องจำนวน ๒ ข้อต่อรัฐบาลและพรรคการเมือง คือ
๑.ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หยุดถ่วงเวลาพิจารณากฎหมายด้วยการเร่งให้คำรับรองร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติฯ ฉบับที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอ เพื่อให้กระบวนการพิจารณากฎหมายได้ดำเนินการตามกลไกของรัฐสภาทันที
และ ๒.ให้ทุกพรรคการเมือง ที่หาเสียงว่าจะทำบำนาญประชาชน ออกมาร่วมกับเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการเสนอร่างกฎหมายเช่นเดียวกันนี้ประกบคู่กับร่างกฎหมายของภาคประชาชน เพื่อให้เห็นการร่วมมือกันสร้างบำนาญถ้วนหน้าให้กับคนไทยทั้งประเทศ
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ
๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๓
ณ ทำเนียบรัฐบาล
รายละเอียดจดหมาย....
คปร.๐๖/๒๕๖๓
๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๓
เรื่อง ขอให้พิจารณาให้คำรับรองร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่เสนอ
โดยภาคประชาชน
เรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เป็นเครือข่ายภาคประชาชนจากหลากหลายเครือข่าย ที่ร่วมกันลงรายมือชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยได้เข้าชื่อประชาชน ๑๔,๖๕๔ รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.๒๕๕๖ และในขณะนี้เป็นเวลากว่า ๕ เดือนแล้ว ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาให้คำรับรองของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... เป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงิน
ทั้งนี้ การลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งของการเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็นของรัฐบาล ที่จะส่งเรื่องที่มีความสำคัญต่อประชาชนอย่างมากให้กับรัฐสภาได้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนเรื้อรังของผู้คนในประเทศ
เครือข่ายประชาชนฯ จึงขอให้ท่านพิจารณาให้คำรับรองร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยทันที เพื่อให้กระบวนการพิจารณากฎหมายได้ดำเนินการตามกลไกของรัฐสภา ซึ่งร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ... มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้สูงอายุที่ ๖๐ ปีทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย มีหลักประกันทางรายได้เป็นรายเดือนที่เพียงพอ เหมาะสมต่อการยังชีพ เพราะการมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นสิทธิของผู้สูงอายุที่รัฐต้องรับรอง และพึงจัดให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วน
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(นิมิตร์ เทียนอุดม)
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ