2nd benefit

2nd benefit

ชุ่ย!!! กรมทรัพย์สินทางปัญญาปล่อยคำขอสิทธิบัตรใช้กัญชารักษาโรคลมบ้าหมูประกาศโฆษณา ทั้งที่ผิดมาตรา 9 และเป็นความรู้แพทยแผนไทยโบราณ

มที่มีรายงานการตรวจสอบข้อมูลสิทธิบัตรยา พบว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศโฆษณาคำขอที่ 1101003758 ชื่อการประดิษฐ์ การใช้ไฟโตแคนนาบินอยด์หรือสารผสมของสารดังกล่าวในการรักษาโรคลมบ้าหมู

ที่มีการยื่นคำขอเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2553 โดยผู้ยื่นคำขอคือ โอกะ ฟาร์มาคิวติคอล คอมปะนี ลิมิเต็ด และ จีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด ผู้ประดิษฐ์ คือ วาสลีย์ เบน, สตีเฟนส์ แกรี, วิลเลียมส์ แคลร์, กาย จีออฟเฟรย์, ไวร์ท สตีเฟ่น, คิคูชิ เคทซูโร

ดร.อุษาวดี สุตะภักดิ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ นักวิจัยด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา ให้ความเห็นว่า แม้คำขอนี้ยังไม่ได้สิทธิบัตร แต่เป็นคำขอที่ขัดต่อ พ.ร.บ.สิทธิบัตร ไม่สมควรผ่านขั้นตอนจนมาถึงการประกาศโฆษณาได้ ทำให้ขัดขวางนักวิจัยอื่นในการใช้และพัฒนาต่อยอดสารประกอบกัญชาในการรักษาโรค

"คำขอสิทธิบัตรการใช้กัญชาในการรักษาโรคนี้ ขัดมาตรา 9(1) จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากพืชหรือสัตว์ เนื่องจาก cannabinoid หรือโดยเฉพาะ cannabinoid ชนิด THCV เป็นสารสกัดจากกัญชา และยังขัดต่อมาตรา 9(4) วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือการรักษาโรคมนุษย์หรือสัตว์

การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ปล่อยให้คำขอดังกล่าวผ่านขั้นตอนการประกาศโฆษณาจึงถือเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ ทั้งที่สามารถสกัดหรือไม่รับคำขอได้ตั้งแต่แรก เนื่องจากก่อนการประกาศโฆษณานั้น ผู้ตรวจสอบต้องพิจารณาว่าขัดมาตรา 9 หรือไม่"

นักวิจัยด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา ชี้ว่า คำขอนี้ ประกาศโฆษณาในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังการใช้คู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางยา ซึ่งในคู่มือดังกล่าวระบุไว้อย่างชัดเจนว่าคำขอที่เป็นลักษณะการใช้..เพื่อการรักษาโรค นั้นขัดต่อมาตรา 9(4) เป็นคำขอที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง

"การปล่อยให้มีคำขอลักษณะนี้ผ่านขั้นตอนต่างๆ แสดงให้เห็นว่า กรมทรัพย์ไม่มีการใช้คู่มือที่พัฒนาขึ้นอย่างจริงจัง ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อการทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการสร้างความสมดุลย์ระหว่างการคุ้มครองผู้ทรงสิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภค"

ทั้งนี้ยังพบว่าในตำราแพทย์ไทยทั้งในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งเป็นตำราแพทย์ฉบับหลวง ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 รวมถึงคัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ ของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ ก็ระบุว่ามีการใช้กัญชาเป็นเครื่องประกอบในยารักษาโรคลมต่างๆ รวมถึง ลมชัก ลมบ้าหมู อยู่แล้ว จึงกล่าวได้ว่าการใช้สารสกัดจากกัญชาในการรักษาลมชัก ลมบ้าหมู เป็นองค์ความรู้ดั้งเดิมแต่โบราณ ไม่มีความใหม่ในประเทศไทย

ทางด้านนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
กล่าวว่า เท่าที่ทราบมา ยังมีคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการใช้กัญชาที่กรมทรัพย์สินทางปัญฯาได้ประกาศโฆษณาแล้วอีก 3 คำขอเกี่ยวกับการใช้รักษาโรคลมชัก ใช้รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก และ มะเร็งเต้านม

"ทุกคำขอดังกล่าวยื่นผ่านระบบ pct ที่ผ่านมาทีมวิชาการที่ทำงานเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและเข้าถึงยาเตือนมาตลอดว่า เป็นคำขอที่ต้องตรวจอย่างละเอียด แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ทำใหสามารถอนุมานได้ว่า ทุกคำขอที่ยื่นผ่านระบบดังกล่าวนั้น กรมทรัพย์สินฯอาจไม่พิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากเห็นว่ามีการขอรับสิทธิบัตรในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย การขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบย่อมกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนายาภายในประเทศ รวมถึงปัญหาด้านสาธารณสุข

ดังนั้น ขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเปิดเผยรายงานการสืบค้นข้อมูลประกอบการประกาศโฆษณา (publication of search report) เพื่อให้สาธารณะได้ร่วมตรวจสอบได้ และการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรขณะนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องเขียนมาตรา 9 ให้ชัดเจนมากขึ้น และจัดการปฏิเสธคำขอลักษณะนี้ก่อนประกาศโฆษณา"