2nd benefit

2nd benefit

โพลหนุน รัฐจัดงบใหม่สร้าง ‘รัฐสวัสดิการ คนกรุง๕๘% อยากเห็นพรรคการเมืองมีนโยบายรักษาพยาบาลไม่เสียค่าใช้จ่ายและเงินยังชีพรายเดือน

เมื่อวาน   ( ๘ พฤศจิกายน2561 ) เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แถลงข่าว “ประชาชนเชื่อรัฐสวัสดิการเกิดได้ ชี้รัฐต้องจัดสรรงบใหม่ให้เป็นธรรม” ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจประชาชนในเขตกรุงเทพฯ จำนวน ๑,๒๑๑ คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ ๕๖.๕ พึงพอใจกับการจัดสวัสดิการของรัฐในระดับปานกลาง โดยพึงพอใจเรื่องนโยบายรักษาพยาบาลไม่เสียค่าใช้จ่าย มากที่สุด หรือร้อยละ ๓๐.๒ รองลงมาคือเรื่องเบี้ยยังชีพรายเดือน ร้อยละ ๒๓.๕ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ ๖๐ ยังเห็นว่าประชาชนทุกคนควรได้รับสวัสดิการของรัฐ

  

ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นฯ กล่าวต่อไปว่า ประชาชน ร้อยละ ๔๘.๙ เห็นว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการพื้นฐาน เช่น เรื่องการศึกษา บำนาญถ้วนหน้า สาธารณสุข เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมองว่าแหล่งรายได้ที่รัฐจะนำมาใช้จัดสวัสดิการให้ประชาชนได้นั้นมาจากการจัดสรรงบประมาณใหม่ โดยแบ่งสัดส่วนอย่างเป็นธรรม ร้อยละ ๔๔.๓ และให้ยกเลิกการลดหย่อนภาษีถึงร้อยละ ๓๓.๓ พร้อมกับยังต้องการเห็นพรรคการเมืองมีนโยบายในเรื่องบริการด้านสาธารณสุขฟรีมากที่สุด ตามด้วยเรื่องเงินดำรงชีพรายเดือนสำหรับผู้สูงอายุ และการประกันรายได้เมื่อตกงานหรือไม่มีงานทำ

“ที่น่าสนใจคือคนกรุงเทพฯ ร้อยละ ๖๐ เห็นว่ารัฐควรจัดสวัสดิการให้ประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง และร้อยละ ๘๗.๖ เห็นด้วยกับการให้เงินดำรงชีพรายเดือนสำหรับประชาชนที่อายุ ๖๐ ปีขึ้นไป เพราะเมื่ออายุ ๖๐ ปี คนเหล่านี้จะกังวลใจในเรื่องรายได้ และสุขภาพกาย/ใจ ถึงร้อยละ ๔๔.๘ และร้อยละ ๓๙.๖ ตามลำดับ และถึงแม้จะมีความกังวลใจ แต่ก็มีคนที่ยังไม่ได้เตรียมตัวหลังอายุ ๖๐ ปีถึงร้อยละ ๙.๗” ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์กล่าว

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ให้สัมภาษณ์ว่า ประชาชนเห็นว่ารัฐต้องจัดสรรงบประมาณของประเทศใหม่อย่างเป็นธรรมเพื่อนำมาจัดสวัสดิการให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านการดูแลรักษาสุขภาพ การศึกษา การประกันรายได้เมื่อว่างงาน หรือบำนาญถ้วนหน้า โดยคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการจัดให้มีบำนาญถ้วนหน้าสำหรับคนที่อายุ ๖๐ ปีขึ้นไป และควรจัดให้มากกว่า ๓,๐๐๐ – ๕,๐๐๐ บาท/เดือน

“เพราะคนรู้สึกได้ถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงมีข้อเสนอให้ยกเลิกการลดหย่อนภาษีและนำรายได้มาจัดสวัสดิการกว่าร้อยละ ๓๐ ดังนั้น รัฐต้องทบทวนว่าการลดหย่อนภาษีที่ทำอยู่ในตอนนี้เป็นธรรมกับคนทั่วไปหรือไม่ ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์” ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวต่อไปว่า จากโพลสะท้อนว่าคนในกรุงเทพฯ รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในชีวิตทั้งด้านสุขภาพ และเรื่องรายได้ แต่ก็พยายามเตรียมตัวเองหลังอายุ ๖๐ ปี ด้วยการออมเงินไว้ใช้ ทำประกันแบบออมทรัพย์ หรือลงทุนในกองทุนต่างๆ โดยไม่รอให้รัฐจัดสรรสวัสดิการให้ แต่ต้องเข้าใจว่ากลุ่มตัวอย่างที่ตอบคำถามเป็นกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งอาจพอมีกำลังออมเงิน โจทย์สำคัญคือ คนที่ไม่มีกำลังออมหรือหากออมแล้วไม่เพียงพอ จะใช้ชีวิตหลังจากนี้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐต้องมีนโยบายจัดเป็นสวัสดิการพื้นฐานให้กับประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้า

ทั้งนี้ การสำรวจความคิดเห็นได้เก็บข้อมูลในช่วงวันที่ ๒๕ – ๓๐ ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน ๑๐๐,๐๐๐ คน ต้องการความเชื่อมั่นร้อยละ ๙๕ และความผิดพลาดไม่เกินร้อยละ ๓ ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน ๑,๑๑๑ กลุ่มตัวอย่าง

  

Tags: เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ