คอบช.ด้านบริการสุขภาพยืนยันรัฐบาลต้องคุมค่ารักษาพยาบาลรพ.เอกชน
ภาคประชาสังคมร่วมกับคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านบริการสุขภาพ ยันไม่เลื่อน ไม่ถอย ไม่ล้ม พร้อมเดินหน้าผลักดันให้รัฐบาลกำกับ ควบคุม ราคาค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน เพียงยอมขาดทุนกำไร เพิ่มธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม
จากการที่ คณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 กำหนดให้บริการสุขภาพเป็นบริการควบคุมและเพิ่มเวชภัณฑ์ ให้เป็นสินค้าควบคุมเช่นเดียวกับยา รวมทั้งจะเสนอขอความเห็นชอบจากครม. ในวันที่ 22 มกราคม 2562 เพื่อออกมาตรการควบคุมราคายา เวชภัณฑ์ และค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่มีประชาชนร้องเรียนว่าค่ารักษาพยาบาลแพง ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคนั้น
วั้นนี้ (18 มกราคม 62) คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย แถลงข่าว "ภาคประชาสังคมยืนยัน เดินหน้ากำกับราคาค่ารักษาพยาบาล”
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะอนุกรรมการ คอบช. ด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมา คอบช. ได้ติดตามเรื่องค่ารักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง มีการผลักดันข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายวิธี ทั้งการจัดเวทีสภาผู้บริโภค เข้าพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเวทีวิชาการวิเคราะห์กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมราคา ยื่นหนังสือเพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการควบคุมกำกับราคาค่ารักษาพยาบาล จนกระทั่งกกร. มีมติตามข้อเรียกร้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 มกราคม 62
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการ คอบช.ด้านบริการสุขภาพ
ต่อมาสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้ออกมาแถลงคัดค้านการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน ด้วยเหตุผลว่าอาจปิดกั้นความสามารถด้านการแข่งขัน สวนทางกับเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่ง คอบช. มองว่า ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เหมาะสมกับธุรกิจบริการสุขภาพ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ทุกคนต้องใช้บริการ จึงควรคำนึงถึงเรื่องค่าบริการที่เป็นธรรม เหมาะสม มากกว่าเรื่องการแข่งขัน นอกจากนี้ กลุ่มองค์กรผู้บริโภคไม่สนับสนุนนโยบายเมดิคอล ฮับ เพราะเป็นเหตุให้มีการดึงบุคคลากรการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไปสู่ภาคเอกชน ส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น
นายสมชาย กระจ่างแสง มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ อธิบายว่า หากไม่มีการควบคุมกำกับราคายา เวชภัณฑ์ และค่ารักษาพยาบาล อาจเป็นแรงจูงใจทำให้แพทย์บางคนย้ายสังกัดจากโรงพยาบาลรัฐ ไปให้บริการในโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากมีค่าตอบแทนที่มากกว่าหลายเท่าตัว ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนบุคลากรในโรงพยาบาลของรัฐ อีกทั้งอาจทำให้ค่ารักษาพยาบาลของระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุนเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
นายสมชาย กระจ่างแสง มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า จากการรับเรื่องร้องเรียนของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค พบว่ามีผู้บริโภคหลายรายเจอปัญหาการถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลแพง ทั้งในส่วนที่ถูกเรียกเก็บจากส่วนเกินสวัสดิการการรักษาพยาบาลประจำ หรือกรณีพ้นวิกฤตฉุกเฉิน 72 ชั่วโมง ทำให้เป็นภาระต่อประชาชนถึงขั้นล้มละลายได้ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ไม่เข้าข่ายอาการวิกฤต ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาระทางการเงินของผู้ป่วย
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันมีผู้บริโภคที่ถูกเรียกเก็บค่ารักพยาบาลที่ไม่มีสิทธิ/เรียกเก็บเกินอัตราที่กำหนด ถึง 186 กรณีซึ่งสาเหตุของการร้องเรียน มาจากการถูกเก็บค่ารักษาพยาบาลที่สูง ไม่สมเหตุสมผล มีการเก็บค่าใช้จ่ายบางอย่างเกินความจำเป็น แทบล้มละลาย บางรายถึงขั้นถูกฟ้องศาล ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาในเชิงระบบ รัฐจึงควรมีมาตรการกำกับดูแลค่ารักษาพยาบาลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และขอให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับบริการสุขภาพต้องดำเนินการอย่างสุจริต โดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสม ภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม
ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการ คอบช.นักวิชาการด้านอาหาร ยา และบริการสุขภาพ กล่าวว่า การทำธุรกิจด้านสุขภาพในหลายประเทศมีมาตรการการควบคุมราคา แม้แต่ประเทศในแถบเอเชีย เช่น ประเทศมาเลเซีย ประเทศญี่ปุ่น ประเทศสิงคโปร์ ดังนั้น จึงเชื่อว่าประเทศไทยสามารถควบคุมราคายา เวชภัณฑ์ และค่ารักษาพยาบาลได้ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงห้ามคิดกำไรจากสินค้าและบริการ แต่ต้องมีการควบคุมที่เป็นมาตรฐาน เช่น ให้กรมบัญชีกลางช่วยควบคุมและกำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าโรงพยาบาลสามารถบวกกำไรเพิ่มได้เท่าไร เพื่อเป็นราคากลางที่ตรงไปตรงมา โรงพยาบาลมีกำไรเพื่อนำไปพัฒนาเรื่องต่างๆ ส่วนผู้เข้ารับการรักษาก็ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลสูงเกินจริง
ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการ คอบช.นักวิชาการด้านอาหาร ยา และบริการสุขภาพ
ผศ.ดร.สุจิตรา ตุลยาเดชานนท์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการสืบค้นข้อมูลราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จะเห็นว่าหุ้นของโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่มีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นทุกไตรมาส และที่น่าสนใจคือหุ้นของโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจากเงินที่ลงทุนไปถึง 100 เท่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในธุรกิจด้านบริการสุขภาพ จึงเห็นด้วยกับควบคุมราคาของธุรกิจดังกล่าว
ผศ.ดร.สุจิตรา ตุลยาเดชานนท์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ไม่ได้บอกว่าห้ามเอากำไร เพราะเข้าใจว่าการประกอบธุรกิจย่อมต้องหวังผลตอบแทนเป็นธรรมดา แต่มองว่าควรคิดกำไรอย่างเหมาะสม เนื่องจากธุรกิจบริการสุขภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใช้ และเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วย ความเดือดร้อนของผู้รับบริการ ดังนั้นค่ารักษาพยาบาลที่สูงเกินไปจึงส่งผลกระทบในวงกว้าง”
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การมองว่าโรงพยาบาลเอกชนเป็นโรงพยาบาลทางเลือก จึงไม่ต้องควบคุมค่ารักษาพยาบาลนั้นไม่ถูกต้อง เพราะการเลือกใช้สถานพยาบาลในประเทศไทยยังมีปัญหามาก เช่น เรื่องสิทธิประกันสังคม ที่บางคนต้องใช้สิทธิโรงพยาบาลเอกชนเนื่องจากโรงพยาบาลรัฐสิทธิเต็ม หรือในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินบริเวณที่ไม่มีโรงพยาบาลรัฐ จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้นจึงควรคิดราคาค่ารักษาในมาตรฐานเดียวกัน
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ส่วนเรื่องเมดิคอล ฮับ มองว่าถึงอย่างไรก็ต้องกำกับค่ารักษาพยาบาล ซึ่งสามารถดูตัวอย่างได้จากต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ที่ให้ความสำคัญกับเมดิคอลฮับมาก ก็มีการทบทวนและกำหนดเพดานราคาค่ารักษาพยาบาล ทั้งที่ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนแพงกว่าโรงพยาบาลรัฐเพียง 2.5 เท่า โดยมีคำยืนยันว่าการกำกับควบคุมค่ารักษาพยาบาล เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่กระทบต่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ของโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีการกำหนดแนวทางของการคิดค่ารักษาพยาบาลไว้ (Medical Fee Benchmark Guideline) หากโรงพยาบาลเอกชนคิดแพงเกินแนวทางต้องมีเหตุผลสมควร ถ้าไม่มีเหตุผลต้องคืนเงินให้ผู้บริโภค
“ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมีการควบคุมแลกำหนดแนวทางการคิดค่ารักษาพยาบาล เพราะมีเรื่องร้องเรียนที่กระทรวงสาธารณสุขและองค์กรผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย แต่แก้ปัญหาไม่ได้เนื่องจากไม่มีหลักเกณฑ์ จริงอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนนั้นเป็นธุรกิจ ต้องทำกำไร แต่การที่โรงพยาบาลเอกชนสามารถกำไรมากกว่า 33.7 % นั้นถือว่าสูงเกินไป ดังนั้นรัฐบาลต้องทำหน้าที่กำกับดูแล หรือหากมองว่าโรงพยาบาลเอกชนเป็นทางเลือก ทางฝั่งผู้บริโภคจะรณรงค์ให้ไม่ต้องใช้โรงพยาบาลเอกชน และใช้โรงพยาบาลรัฐแทน”
Tags: องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค , ราคายา , ค่ารักษาแพง, คอบช.ด้านบริการสุขภาพ