Black Ribbon

2nd benefit

2nd benefit

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน จัดเวทีสังเคราะห์เรื่องร้องเรียน

news khonkaen 161259-01

สองวันกับการสรุปบทเรียน พัฒนาเทคนิคงานรับเรื่องร้องเรียนของภาคอีสานใน 9 จังหวัดมีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด จนถึงเดือนพฤศจิกายน นี้ จำนวน 211 เรื่อง เป็นปัญหาเรื่องบริการบริการสุขภาพมากสุดถึง 55เรื่อง รองลงมาเป็นเรื่องสื่อและโทรคมนาคม 27 เรื่อง อาหารยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ 24 เรื่อง โดยมากกว่า 50% เป็นเรื่องร้องเรียนของจังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ยังวางแผนในการพัฒนาองค์กรผู้บริโภคคุณภาพในภาคอีสาน

news khonkaen 161259-02

 

พิมพ์อีเมล

ร้องผู้ตรวจฯ สอบ 'กสทช.' ตั้งเสาโทรศัพท์ไม่รับฟังประชาชน

 

telecom post news 

สมาคมผู้บริโภคร้องผู้ตรวจฯ สอบ "กสทช." เหตุตั้งเสาโทรศัพท์ไม่รับฟังความเห็นปชช. ชี้องค์การอนามัยโลกเคยเตือนคลื่นวิทยุเสี่ยงมะเร็ง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 23 พ.ย. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยประชาชนใน จ.ขอนแก่น ศรีสะเกษ และจ.นครราชสีมา เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อคัดค้านการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมในเขตชุมชน โดยไม่มีการจัดรับฟังความเห็นของคนในชุมชนตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพราะเกรงผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังล่าช้าต่อการแก้ไขเรื่องร้องเรียน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โดยมีนายธาวิน อินทร์จำนง รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้รับเรื่อง 

นายปฏิวัติ เฉลิมชาตินายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้จัดการสมาคมฯ ระบุว่า สมาคมฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคกรณีการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมในชุมชน ซึ่งยังไม่สามารถยุติปัญหาได้ และร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีความคืบหน้าในการจัดการปัญหา 

โดยมีข้อร้องเรียนได้แก่ ความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ การไม่จัดรับฟังความเห็นของคนในชุมชน การตั้งเสามีกระบวนการทำงานระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงาน กสทช. ไม่สอดคล้องกัน ความล่าช้าของสำนักงาน กสทช.ในการแก้ไขเรื่องร้องเรียนของประชาชน ไม่สามารถยุติปัญหาได้ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 46 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน 

และสำนักงาน กสทช.มีการโฆษณาว่า คลื่นวิทยุจากเสาส่งสัญญาณมือถือไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ แต่เมื่อกลางปี ค.ศ.2011 องค์การอนามัยโลกได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 208 ประกาศให้คลื่นวิทยุเป็นสารเสี่ยงมะเร็งในกลุ่ม 2B ดังนั้นจึงถือว่าเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและเป็นเท็จต่อประชาชน

 

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559, 19:48
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/728807

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

พิมพ์อีเมล

“บัตรทองต้องเดินหน้า หลังประชามติต้องไม่แย่กว่าเดิม”

khonkaen news 250759 for web

วันนี้ 25 กรกฎาคม 2559 เวลา 13.00 น. ที่โรงแรมอวานี อ.เมือง จ.ขอนแก่น กระทรวงสาธารณสุขจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อกลไกอภิบาลระบบสุขภาพและแผนด้านสุขภาพระดับชาติ ในส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อกลุ่มคนอีสานรักหลักประกันสุขภาพ นำโดยคุณเทพรักษ์ คุณม้วน ถิ่นวิลัย ทราบข่าวจึงร่วมกันไปยื่นหนังสือในประเด็นข้อเสนอต่อการปฏิรูประบบสุขภาพ ต่อ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมาเปิดงานและเดินทางกลับในช่วงเช้า จึงได้ยื่นข้อเสนอต่อ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ รอง ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ประเด็นในการยื่นมีหลายประเด็น เช่น รมต.สาธารณสุขหยุดคุกคามบัตรทอง หยุดแทรกแซง สปสช. , การไม่บังคับการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ, แยกระบบผู้ซื้อบริการ-ผู้ใช้บริการ, กระจายบุคลากรทางการแพทย์ไปชนบท, ประชาชนต้องมีส่วนร่วมต่อการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพ


แถลงการณ์ ประกาศเจตนารมณ์ระบบหลักประกันสุขภาพ
“บัตรทองต้องเดินหน้า หลังประชามติต้องไม่แย่กว่าเดิม”
*********************************

     จากการที่เครือข่ายประชาชนที่ขับเคลื่อน ผลักดันจนเกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีกฎหมายออกมาคือ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ถือว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่าง ออกแบบให้ประชาชนคนไทยไม่ล้มละลายจากการรักษาพยาบาล มีกลไกการคุ้มครองสิทธิ ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งระดับประเทศ ภาค จังหวัดและท้องถิ่น นับเป็นเวลา 14 ปีแล้วที่คนไทยทุกคนเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพไม่มีภาระด้านค่าใช้จ่าย ถือเป็นการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนและทั่วโลกยอมรับ

     หากนับย้อนเวลากลับไป ต้นปี 2555 เป็นต้นมา มีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามสร้างกระแส ทำให้ระบบบริการมีปัญหาเพื่อนำไปสู่การยุบ เลิก หรือแก้ไขสาระสำคัญของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติและเหตุการณ์อื่นๆที่ส่งผลภาวะภัยคุกคามต่อระบบหลักประกันสุขภาพ เช่น การที่ สตง., คตร. เข้ามาตรวจสอบการใช้เงินของ สปสช. ถือว่าเป็นเรื่องดีหรือมีนัยยะอื่นๆ การย้ายนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช., การแก้ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและล่าสุดการคัดเลือกเลขา สปสช. ที่พยายามมิให้คนที่เหมาะสม มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบให้ดีต่อไปเข้ามาบริหาร พยายามเอาพรรคพวกของตนเข้ามาบริหาร ยึดกุมทิศทาง

     อีกทั้งที่ผ่านมามีประเด็นที่พยายามทำผิดเจตนารมณ์ของระบบหลักประกันสุขภาพ เช่น การให้ประชาชนทุกคนร่วมจ่ายที่จุดบริการ, การแยกเงินเดือนออกจากค่าหัวบัตรทองซึ่งไม่ควรแยก คนอยู่ไหนเงินอยู่ที่นั่นและเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้มาใช้บริการ(สิทธิบัตรทอง) เป็นภาระของประเทศ ซึ่งบัตรทองคือการลงทุนเพื่อสุขภาพไม่ใช่ภาระ รวมถึงสถานการณ์หลังออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ บัตรทองต้องไม่ล้มและไม่แย่กว่าเดิม

     พวกเราในนามคนอีสานรักหลักประกันสุขภาพ ขอประกาศเจตนารมณ์ของระบบหลักประกันสุขภาพ ดังนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือสิทธิของประชาชนไทย ที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ มาตรฐาน อย่างเสมอหน้า ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่การสงเคราะห์หรือร้องขอ โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหน่วยบริหารจัดการ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิอย่างมีคุณภาพ

     ระบบหลักประกันสุขภาพมีเป้าหมายเพื่อ เป็นหลักประกันสุขภาพให้คนไทยว่าเมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการรักษา โดยรัฐจัดหาบริการด้านการดูแลรักษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ

     สิทธิที่ประชาชนได้รับจากระบบหลักประกันสุขภาพ จะได้รับบริการในด้านการรักษา ส่งเสริม ป้องกันและฟื้นฟู จากการมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพที่มากไปกว่าการเป็นผู้รับบริการ ได้แก่ การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การพัฒนาระบบ รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิทั้งในระดับชาติ ระดับพื้นที่

     เราขอเรียกร้องให้เครือข่ายแพทย์พาณิชย์ ธุรกิจยา หยุดพฤติกรรมล้มบัตรทอง หยุดหาประโยชน์ส่วนตัวบนความทุกข์ของประชาชน ผู้ใดทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ เท่ากับทำสงครามกับประชาชน ระบบหลักประกันสุขภาพเดินหน้าได้ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

“ร่วมปกป้องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เป็นรัฐสวัสดิการเพื่อคนไทย”

ด้วยความคารวะ 25 กรกฎาคม 2559
เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีจังหวัดขอนแก่น,
ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่น, เครือข่าย 9 ด้าน 4 จังหวัด (ขอนแก่น,ร้อยเอ็ด,มหาสารคาม,กาฬสินธุ์),
ศูนย์ประสานงานสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยสาขาจังหวัดขอนแก่น,
ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน 4 จังหวัด (ขอนแก่น,ร้อยเอ็ด,มหาสารคาม,กาฬสินธุ์)

khonkaen news 250759 for web 02

พิมพ์อีเมล

ผู้ประสบอุบัติเหตุร้อง “อุบัติเหตุไม่ใช่เวรกรรม นั่งรถโดยสารต้องปลอดภัย”

22807-01

วันนี้ (24 ก.พ.59) เวลา 9.30 น. ที่ศาลจังหวัดสุรินทร์และศาลแขวงสุรินทร์  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสานพร้อมด้วยทนายความและผู้ประสบภัยจำนวน 3 ราย ที่ประสบอุบัติเหตุจากกรณีรถยนต์โดยสารนำคณะ อบต.ตากูก อ.เขวาสิรินทร์ จ.สุรินทร์ เดินทางไปศึกษาดูงานที่จังหวัดตาก เกิดอุบัติเหตุเสียหลักพลิกคว่ำบนถนนสายวังทอง-สากเหล็ก ต.ดินทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก (เมื่อ 3 มี.ค.58) เป็นเหตุให้ผู้โดยสาร 52 คน ได้รับบาดเจ็บ มีผู้เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ 6 ราย ซึ่งได้รับการชดเชยเยียวยาจากบริษัทประกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ส่วนอีก 3 ราย ยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาจากบริษัทประกันภัย จึงเป็นเหตุให้ผู้ประสบภัยจำนวน 3 รายดังกล่าว เดินทางมายื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในครั้งนี้

นางสาวจุรีรัตน์ เสนาะเสียง หนึ่งในผู้ประสบภัยกล่าวว่า ตนเป็นผู้หนึ่งที่เดินทางไปกับคณะและได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องถูกตัดขาด้านขวาทำให้ไม่สามารถทำงาน ยืน หรือยกสิ่งของ แม้กระทั่งเดินโดยลำพังได้อย่างคนปกติ  ต้องกลายเป็นบุคคลทุพพลาภาพไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติเหมือนเดิมได้ ซึ่งต้องเสียบุคลิกภาพไปตลอดชีวิต  ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง  เรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน  1,959,165 บาท

นายนิยม บันลือทรัพย์  ได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้นขาด้านซ้ายหัก ร่างกายซีกซ้ายได้รับการกระทบกระเทือนอย่างหนัก แขนซ้ายไม่สามารถยกของได้ และไม่สามารถทำงานได้อย่างคนปกติ จากเดิมตนเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องดูแลบุพการี 2 คน และบุตรอีก 2 คน ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งนี้ในระหว่างการรักษาตัว ตนนั้นไม่สามารถทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวได้ อีกทั้งภรรยาก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องคอยมาดูแลตนซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,464,767 บาท

นายอัมรินทร์ ดำเนินงาม  ได้รับบาดเจ็บจากแรงเหวี่ยงกระเด็นไปกระแทกกับเก้าอี้นั่งโดยสาร และถูกกดทับในตัวรถ ทำให้ร่างกายบาดเจ็บและบอบซ้ำอย่างหนัก จากอุบัติเหตุในครั้งนั้นที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อร่างกายและจิตใจตลอดเวลา รู้สึกฝังใจไม่กล้าเดินทางไปไหนมาไหนโดยรถยนต์โดยสารอีก ทำให้ได้รับความทุกขเวทนาด้วยความเจ็บปวด  ไม่มีความสุข  และขาดความมั่นใจในการทำงาน  เรียกค่าเสียหาย 105,951 บาท

ทางด้านนายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสานกล่าวว่า ที่ผ่านมาทางเครือข่ายได้ประสานงานกับ อบต.ตากูก เพื่อแจ้งสิทธิและมอบชุดเอกสารความรู้เกี่ยวกับการเช่ารถรับจ้างไม่ประจำทางอย่างไรให้ปลอดภัย และที่ผ่านมาได้มีการจัดเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยรถเช่าทัศนาจร  ร่วมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จ.สุรินทร์  ซึ่งมีตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาเข้าร่วม โดยมีวัตถุประสงค์ให้องค์กรนำไปปฏิบัติและร่วมกันพัฒนาคุณภาพมาตรฐานรถโดยสารในประเทศไทยต่อไป

ที่มา: นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ  (ศูนย์เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน)

พิมพ์อีเมล