ต้องทำอย่างไรเมื่อเจออาหารหมดอายุ
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบป้ายโฆษณา “ซื้อ 1 แถม 1” หรือ “ลดราคา…%” เห็นปุ๊บคุณก็หยุดปั๊บ แล้วรีบหยิบสินค้านั้นใส่รถเข็นทันทีเพราะกลัวว่าของจะหมด โดยที่ไม่ได้ดูฉลากอาหารเลยว่าหมดอายุไหม
พอกลับมาถึงบ้านคุณก็เปิดทาน ปรากฏว่าอาหารนั้นมีรสชาดออกแนวเสียๆ บ้วนทิ้งแทบไม่ทัน เลยต้องดูที่ฉลาก พบว่า วันที่หมดอายุมันผ่านเลยมาแล้วร่วมเดือน ถ้าคุณเป็นคุณจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ หรือคุณจะคิดแค่ว่า “โอ้ย...ทำไมฉันถึงซวยอย่างนี้”
ในฐานะองค์กรที่ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิ เรามีวิธีจัดการปัญหานี้มาบอก แบ่งแยกย่อยเป็น 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 การจำหน่ายอาหารหมดอายุ
กรณีที่ 2 อาหารเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ
ขั้นตอนการจัดการปัญหา
1. ถ่ายรูป (ฉลากโดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า) พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)
2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน
3. ให้ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งต้องคิดให้ดี ว่า เราต้องการให้เขาดำเนินการอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
- ขอเปลี่ยนสินค้า
- ขอเงินคืน
- จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ
- ให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น
4. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ บรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า
หมายเหตุ : ต้องเก็บใบรับเงินทุกครั้งที่มีการซื้อ เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันการซื้อและระบุตนเป็นผู้เสียหาย
ในกรณีที่ไม่มีใบสำคัญรับเงินเป็นหลักฐาน สิ่งที่สามารถเรียกร้องได้โดยทั่วไปคือการเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ ทั้งนี้ ขึ้นกับการต่อรองกับผู้ขายและต้องดำเนินการทันทีพี่พบว่าได้บริโภคอาหารหมดอายุหรืออาหารเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ
ฐานความผิด
ทั้ง 2 กรณี เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เช่นเดียวกัน หากแต่เป็นความผิดต่างมาตรา โดย กรณีจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับกรณีการจำหน่ายอาหารที่เสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุนั้น เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ ซึ่งในคำนิยามมีความหมายหลายประการ แต่สำหรับกรณีนี้อาจหมายถึง 1) อาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ด้วย และ 2) อาหารที่ได้ผลิต บรรจุ หรือเก็บรักษาไว้โดยไม่ถูกสุขลักษณะ โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ว่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
จากฐานความผิดของทั้ง 2 กรณีที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ สามารถนำบทลงโทษนี้มาเป็นฐานประกอบการเรียกร้องค่าเสียหายเพื่อให้ผู้ประกอบการเยียวยาได้
ที่สำคัญหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็สามารถใช้กระบวนการฟ้องร้องต่อศาล โดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ในการดำเนินการฟ้องได้
- ฟ้องได้ด้วยตัวเองไม่ต้องใช้ทนายความ
- ไม่เสียค่าธรรมเนียมศาล
- มีเจ้าพนักงานคดีของศาล ช่วยเป็นที่ปรึกษาและจัดทำคำฟ้อง
- ระยะเวลารวดเร็ว เพียงสองศาลเท่านั้น
- ไปศาลที่อยู่ในเขตอำนาจของที่เกิดเหตุความเสียหาย หรือศาลที่อยู่ในเขตที่ตั้งของผู้ผลิต
หากมีข้อสงสัยปรึกษาที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟรี!!!!! โทร : 02-248 3737 ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียน(วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 9.00-17.00 น.) หรือ ส่ง e-mail มาที่ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ตัวอย่างความสำเร็จที่ผ่านมา
- กรณีพบเฉาก๊วยชนิดซองบรรจุถังหมดอายุ ได้รับการเยียวยาค่าสินค้าและค่าเสียเวลาในการเดินทางกลับเพื่อเปลี่ยนคืนสินอีกเป็นเงิน 500 บาท
- กรณีซื้อนมมาดื่มแล้วพบว่านมนั้นหมดอายุ ได้รับเงินเยียวยาความเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท
- กรณีพบกาแฟกระป๋องหมดอายุที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับเงินเยียวยาความเสียหายผ่านการสนับสนุนกิจกรรมคุ้มครองสิทธิของเด็กนักเรียนในโรงเรียนเป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท พร้อมกับการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับร้านค้าว่าจะไม่จำหน่ายของหมดอายุอีก
- กรณีพบน้ำส้มหมดอายุในถังสังฆทาน ได้รับการเยียวยาความเสียหายเป็น จำนวนเงิน 15,000 บาท
- กรณีปูอัดเสียก่อนวันหมดอายุ ได้รับการเยียวยาความเสียหายเป็น บัตรกำนัลมูลค่า 5,000 บาท
- กรณีดื่มชาเขียวแล้วมีรสเปรี้ยวทั้งที่ยังไม่ถึงวันหมดอายุ ได้รับการแก้ไขปัญหาจากบริษัทโดยการตรวจสอบหาสาเหตุที่ทำให้ชาเขียวบูดก่อนอายุ พร้อมทำหนังสือชี้แจงและขอโทษผู้บริโภค