2nd benefit

2nd benefit

ผู้บริโภคฟ้องแย้ง AIS เหตุค้างชำระค่าบริการ ศาลอุทธรณ์รับฟ้อง คืนสิทธิผู้บริโภคเรียกร้องความเป็นธรรม

        ผู้ร้อง เป็นหนึ่งในผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือ เอไอเอส เลขหมาย 08-9890-XXXX และ 08-1812-XXXX และต่อมาปลายปี 2552 ต่อเนื่องต้นปี 2553 ทางเอไอเอสได้ระงับสัญญาณหมายเลขทั้งสอง โดยอ้างว่าผู้ร้องค้างชำระค่าบริการ ทั้งที่ ในความเป็นจริงผู้ร้องไม่ได้ค้างชำระ โดยผู้ร้องชำระค่าบริการเป็นเช็ค แต่ระบบการเรียกเก็บเงินของผู้ให้บริการเกิดความผิดพลาด โดยเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ทำเช็คฉบับดังกล่าวสูญหาย

          ต่อมา ผู้ร้องขอให้บริษัทฯ แก้ไขประวัติการชำระเงินล่าช้าในข้อมูลของบริษัทฯ แต่ไม่ได้รับการแก้ไข ผู้ร้องจึงได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่งปัจจุบันคือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หลังจากนั้น ได้มีการเจรจาโดยผู้ร้องขอให้บริษัทฯ ออกเป็นใบลดหนี้ แต่ทางบริษัทฯ ไม่ยอมออกใบลดหนี้ให้  ผู้ร้องจึงระงับการชำระเงินแก่บริษัทฯ  ตามประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 22 วรรคสอง ซึ่งระบุว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องของการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการ และต้องแจ้งข้อมูลให้ผู้ใช้บริการทราบภายใน 60 วัน ผู้ให้บริการจึงสิ้นสิทธิเก็บเงินค่าบริการดังกล่าว  

        เดือนมีนาคม 2555 เอไอเอสยื่นฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดตลิ่งชัน กรณีขอใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และมียอดค้างชำระกับบริษัทฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 จนถึงต้นปี 2553 โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลย ชำระเงิน 56,980.48 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 48,673 บาท นับถัดจากวันฟ้อง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ คือ ค่าทนายความ 5,000 บาท ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ทางด้านจำเลยได้ขอใช้สิทธิการฟ้องแย้งโจทก์ต่อศาล ศาลพิจารณาว่า การฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ไม่อาจรวมพิจารณาด้วยกันได้ จึงให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องแย้งเดิม และสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย

         จากนั้น ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค ต่อมาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 และเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปตามลำดับศาล สมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ หมายเลขคดีแดงที่ ผบ. 3086/2558 

         ทั้งนี้ คดีนี้อยู่ระหว่างโจทก์ (บริษัทฯ) ขอยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 คำพิพากษาคดี : 

 ภาพประกอบ:  pexels.com