2nd benefit

2nd benefit

๒๒ ปี เส้นทางสภาองค์กรของผู้บริโภค การต่อสู้ของผู้บริโภคเพื่อให้มีตัวแทนระดับประเทศ หวังได้ตัวจริงจัดตั้งสภา

          ในประเทศไทย มีหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมากมาย เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นหน่วยงานกลางดูแลเรื่องฉลาก โฆษณา สัญญาทั่วไป และมีหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะเรื่อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดูแลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น กรมการค้าภายใน ดูแลเรื่องราคาสินค้าและบริการต่างๆ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนภาคธุรกิจเอกชนหลักๆ คือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่คอยเป็นปากเสียงรักษาประโยชน์ให้กับผู้ประกอบธุรกิจ แต่ในฝั่งผู้บริโภค ยังไม่มีตัวแทนระดับประเทศที่เป็นทางการ แม้ว่าจะมีองค์กรผู้บริโภคเกิดขึ้นมากมาย จึงทำให้เกิดแนวคิด " องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค " ในประเทศไทย ถือกำเนิดและก่อร่างสร้างตัวขึ้นในยุค รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มาตรา ๕๗ และมีอำนาจในการให้ข้อคิดเห็นในการออกกฎหมายและมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นของผู้บริโภคเอง ไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่เฉพาะหน่วยงานของรัฐ ที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค หรือผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมที่สำคัญ
เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ( ประกอบด้วยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และองค์กรผู้บริโภคกว่า ๓๐๒ องค์กร และกลุ่มผู้เสียหายด้านต่างๆ ) ได้พยายามรณรงค์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่องทำให้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ชัดเจนมากขึ้นในมาตรา ๖๑ รับรองสิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นผู้บริโภค ย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มีการผลักดันให้ออกกฎหมายร่วมกันกับคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เสนอกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ. ...  แต่ท้ายที่สุดมีเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้ร่างกฎหมายตกไปทั้งที่ผ่านกรรมาธิการร่วมของสองสภาเป็นที่เรียบร้อย

          วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ ประเทศไทย ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ แนวคิด " องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค " ได้ถูกยกเลิกไป โดยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ เป็นการรับรองสิทธิผู้บริโภค การรวมตัวของผู้บริโภคเป็นองค์กรผู้บริโภค และการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภค เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของ โดยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
          ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เป็นเจ้าภาพในการจัดทำร่างกฎหมายตามมาตรา ๔๖ ดังกล่าว ซึ่ง สคบ. ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายโดยมีตัวแทนผู้บริโภคเป็นอนุกรรมการชุดดังกล่าว เมื่อมีการยกร่างกฎหมาย ก็ได้นำร่างมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม ๒๕๖๐ และนำความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ กลับมาปรับแก้ไขจนเป็นร่างกฎหมายแล้วเสร็จโดยวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างกฎหมาย โดยใช้ชื่อกฎหมาย “สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ” ตามที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเสนอ ที่ต้องการให้มีสภาเดียว และเป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่เป็นทางการ และส่งร่างกฎหมายดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตรวจแก้  สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตั้งคณะพิเศษขึ้นและได้เชิญตัวแทนผู้บริโภคเข้าไปร่วมให้ความเห็น และได้ตรวจแก้ร่างกฎหมายเปลี่ยนเนื้อหา และชื่อกฎหมายใหม่ทั้งฉบับ เป็น “พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ....” แก้ไขหลักการที่ผู้บริโภคเสนอหลายเรื่อง ทำให้การเป็นสภาเดียวหายไป เกิดระบบหลายสภาและมีกลไกการจดแจ้งสถานะองค์กร ตั้งนายทะเบียนทำหน้าที่รับจดแจ้ง โดยองค์กรผู้บริโภคที่มีสิทธิจดแจ้งต้องทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมาไม่น้อยกว่าสองปี และให้องค์กรผู้บริโภคที่จดแจ้งแล้วต้องรวมตัวกันให้ได้ครึ่งหนึ่งขององค์กรผู้บริโภคทั้งหมดที่มาจดแจ้ง ยื่นต่อนายทะเบียนกลางขอจดจัดตั้งสภาององค์กรผู้บริโภค และมีงบสนับสนุนให้สภาองค์กรผู้บริโภคที่ตั้งขึ้นเป็นสภาแรก 350 ล้านบาท เป็นร่างกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค และเข้าสู่การพิจารณาและเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๒ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายดังกล่าว โดยมีตัวแทนของผู้บริโภคได้รับเลือกเป็นคณะกรรมาธิการเพียง ๑ คน


          ต่อมา วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบให้ออกกฎหมาย พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ... ด้วยคะแนนเสียง ๑๕๙ เสียงเป็นเอกฉันท์ งดออกเสียง ๓ และ ไม่ลงคะแนนเสียง ๑ เสียง โดยกฎหมายดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับภายใน ๖๐ วัน ทั้งนี้อำนาจหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคนั้น ในกฎหมายได้ระบุไว้ว่า ในฐานะตัวแทนผู้บริโภค ให้สภาองค์กรฯ มีอำนาจดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ด้วย

          (๑) ให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค เสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

          (๒) สนับสนุนและดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ และแจ้งเตือนภัยปัญหาผู้บริโภค โดยจะระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้

          (๓) รายงานการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคไปยังหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบ และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ

          (๔) สนับสนุนและช่วยเหลือองค์กรของผู้บริโภค และส่งเสริมการรวมตัวขององค์กรของผู้บริโภคในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่

          (๕) สนับสนุนการศึกษาและและการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

          (๖) สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความข้อพิพาท เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ทั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดีต่อศาล

          (๗) ดำเนินคดีแทนผู้บริโภค

          (๘) รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก

          ตลอด ๒๒ ปี ( พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๖๒ ) องค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค ได้ร่วมต่อสู้ร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ย่อท้อ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่รัฐบาล ก็ยังคงเจตจำนงที่จะให้มีตัวแทนของผู้บริโภคในระดับประเทศ คอยเป็นปาก เป็นเสียงให้กับผู้บริโภค และมีอำนาจต่อรองกับภาครัฐ และภาคธุรกิจ ซึ่งเชื่อว่าแม้จะมีกฎหมายเกิดขึ้นแล้ว ก็ยังมีภารกิจที่ต้องดำเนินการต่ออีกหลายอย่าง ต้องช่วยกัน รวมตัวและรวมพลังกันในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็ง และทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงทำให้ผู้บริโภคตระหนักในสิทธิของตนเอง ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตนเองมากขึ้น และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์กรผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ ให้มีคุณภาพในการเป็นตัวแทนผู้บริโภคในหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคจากระดับพื้นที่ไปสู่ระดับประเทศ