มพบ.จัดเวทีสภาผู้บริโภคระดับประเทศ ถก ปัญหากลโกงซื้อขายออนไลน์
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดเวทีสภาผู้บริโภคระดับประเทศ 'รวมพลังผู้บริโภค สู้ภัยกลโกงออนไลน์ : Consumer Unite to Fight Online Scams' องค์กรผู้บริโภคภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมถก ปัญหากลโกงซื้อขายออนไลน์ ขยายตัวลุกลามทั่วออนไลน์ ชี้ รัฐต้องให้ผู้ขายแสดงตัวตนให้ชัดเจน พร้อมเสนอ จัดทำระบบเชื่อมโยงข้อมูล ร้องเรียนออนไลน์ ไกล่เกลี่ยออนไลน์ ลดภาระผู้บริโภค รวมทั้งแนะ สำนักเลขาฯ อาเซียนควรเป็นหน่วยงานกลางดูแลการคุ้มครองผู้บริโภคระดับอาเซียน เพื่อให้มีมาตรฐานในการซื้อขายสินค้าออนไลน์
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส้รางเสริมสุขภาพ จัดเวทีสภาผู้บริโภคระดับประเทศ ภายใต้หัวข้อ “รวมพลังผู้บริโภค สู้ภัยกลโกงออนไลน์” เพื่อเป็นพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ให้มีการแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น รวมถึงให้ข้อเสนอแนะต่อการกำหนดนโยบายเพื่อจัดการปัญหาหลอกลวง หรือ การเอาเปรียบในการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์
ภายในงาน มีตัวแทนผู้บริโภคที่ที่ต่อสู้ปัญหาการซื้อขายสินค้าออนไลน์เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะถึงปัญหาดังกล่าวด้วย ดำเนินรายการโดย รศ.รุจน์ โกมลบุตร ประธานอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ต่อมาในช่วงที่สอง เป็นการเสวนา “บทเรียนการคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อขายออนไลน์ในต่างประเทศ” ได้ตัวแทนจากหลากหลายประเทศ ทั้ง Dr. Johanes Widijantoro จากประเทศอินโดนีเซีย Atty. Victorio Mario A. Dimagiba จากประเทศฟิลิปปินส์ Mr. Wilfred Ang Zhong Xin จากประเทศสิงคโปร์ Mr. Baskaran Sithamparam จากประเทศมาเลเซีย และตัวแทนองค์กรผู้บริโภคจากประเทศไทย คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาและเสนอแนวทางการแก้ไข ช่วงดังกล่าวดำเนินรายการโดย คุณณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการ “ที่นี่ไทยพีบีเอส”และ ผู้อำนวยการ Thai PBS World และในช่วงสุดท้าย เป็นการเสวนา “ความร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภคจากภัยกลโกงออนไลน์” โดยมีวิทยาเป็นหน่วยงานต่างๆ แลกเปลี่ยนข้อเสนอและทางออกของปัญหาการซื้อขายออนไลน์ ได้แก่ พ.ต.อ.ไพฑูรย์ พูลสวัสดิ์ ผกก.(สอบสวน) กก.4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังพัฒนาระบบยา (กพย.) ดร.ปริญญา หอมเอนก ผู้บริหาร เอซิส โปรเฟสชันนิล เซ็นเตอร์ จำกัด และคุณจุฑา สังขชาติ เลขาธิการสมาคมผู้บริโภคสงขลา ดำเนินรายการ โดย คุณชนาธิป ไพรพงค์ โปรดิวเซอร์ ไทยพีบีเอส พอดแคสต์
ในช่วงเช้า คุณพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดงานและร่วมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ ‘นโยบายรัฐกับการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายออนไลน์’ คุณพุทธิพงษ์ ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญในการซื้อขายออนไลน์ ว่า ในประเทศไทยมีแพลตฟอร์มที่เป็นช่องทางการซื้อของไม่มากนัก และ คนไทยก็มักจะไปใช้แพลตฟอร์มจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ส่วนนี้ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบหรือติดตามสินค้าต่าง ๆ ได้ทันท่วงที ทั้งเรื่องคุณภาพของสินค้าหรือการตั้งราคาเกินจริง ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐจะทำต่อจากนี้ คือ การดึงความร่วมมือจากภาคประชาชนเข้ามาเพื่อพัฒนาเรื่องการซื้อขายออนไลน์ อีกทั้งจะมีการตั้งศูนย์ติดตามข้อมูลข่าวสารคลาดเคลื่อนทำงานเชิงรุก เพื่อดูแลเรื่องการดังกล่าว รวมไปถึงการพัฒนาคน ทรัพยากร เสริมทักษะ เพื่อติดตามช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไปในอนาคต
ช่วงแรก : ฟังเสียง ผู้บริโภคและต่อการคุ้มครองผู้บริโภคความคาดหวัง ในช่วงนี้ได้ตัวแทนผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่มีคุณภาพมาบอกเล่าประสบการณ์ ส่วนใหญ่พบการหลอกลวงขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ การลดราคาเกินจริง รวมถึงบางรายพบปัญหาความยุ่งยากในการชดเชยเยียวยาเมื่อเกิดปัญหา หรือไม่มีหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลเรื่องการทำตลาดออนไลน์และการโฆษณาบนสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ ทำให้เกิดช่องโหว่และทำให้ผู้ขายหลอกลวงขายสินค้าให้กับผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ในหลายกรณีผู้บริโภคกลับถูกลดทอนจากผู้ประกอบธุรกิจที่ใช้อำนาจตามกฎหมายข่มขู่ฟ้องร้อง ทำให้ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบและไร้ทางออก
คุณเศรษฐภูมิ บัวทอง หนึ่งในตัวแทนผู้เสียหายจากการซื้อที่นอนยางพาราบนร้านค้าในเฟซบุ๊ก บอกเล่าถึงปัญหาการโฆษณาเกินจริงว่า ในโครงข่ายออนไลน์ที่ไม่มีการกำกับดูแลนี้ ทำให้ผู้ขายมีโหว่ในการโฆษณาขายสินค้าหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อได้ รวมถึงขั้นตอนการร้องเรียนของสถานีตำรวจที่ล่าช้า ส่งผลให้กระบวนการแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคล่าช้า
ตามไปด้วย
“ตอนนี้มีคนเสียหายจากการซื้อที่นอนยางพาราในหลาย ๆ เพจ บนเฟซบุ๊กแล้วกว่า 5,000 คน ค่าเสียหายรวมกว่า 1.6 ล้านบาท ตอนนั้นเราคิดว่าที่ผ่านมาก็ระวังตัวอย่างดีแล้ว แต่ก็ยังหลงเชื่อคำโฆษณาโอนเงินซื้อสินค้าไป แม้จะเสียเงินไม่มาก แต่ก็ไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดกับคนอื่นอีก ดังนั้น หน่วยงานรัฐควรออกกติกาให้แพลตฟอร์มนั้น ๆ มีการแสดงตัวตนของผู้ขาย ผู้ซื้อ ให้ชัดเจน ตลอดจนกำหนดช่องทางการชำระเงินที่เชื่อถือได้ และควรมีระบบหรือข้อกำหนดลงโทษผู้กระทำความผิดและขึ้นแบล็กลิสต์ผู้ขายที่ทำผิดออกจากระบบโดยทันที” หนึ่งในตัวแทนผู้เสียหาย กล่าว
ช่วงที่สอง : บทเรียน การคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อขายออนไลน์ในต่างประเทศ ตัวแทนในแต่ละประเทศเห็นคล้ายกันในเรื่องปัญหาการร้องเรียนการซื้อขายสินค้าออนไลน์ มีลักษณะการเอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งการหลอกลวงขายสินค้าไม่มีคุณภาพ ราคาสินค้าเกินจริง แต่ละประเทศมีการแก้ไขปัญหาการซื้อสินค้าออนไลน์ที่แตกต่างกัน บางประเทศมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ประเทศฟิลิปปินส์มีกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคที่ครอบคลุมการซื้อสินค้าออนไลน์ ด้านประเทศสิงคโปร์มีกฎหมายความรับผิดตอความชํารุดบกพรองของสินคา (Lemon Law) ที่สามารถฟ้องร้องซื้อสินค้าที่ชำรุดบกพร่องในออนไลน์ได้ ส่วนในประเทศไทยมีข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันในการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สมาคมผู้ค้า E - Commerce และบริษัทอีกจำนวนหนึ่ง
คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สิ่งท้าทายที่ควรจะแก้ปัญหา คือ การทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจตรงกัน ทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละสถานีตำรวจเชื่อมคดีกันได้เมื่อเกิดการรวมกลุ่มของผู้เสียหาย ตลอดจนการทำให้เกิดแนวทางการกำกับคนในการขึ้นทะเบียนคนขายออนไลน์และต้องตรวจสอบได้ รวมถึงการทำให้เกิดระบบรับเรื่องร้องเรียนทางออนไลน์และจัดการปัญหาการดังกล่าวที่รวดเร็วขึ้น
“ในฐานะองค์กรผู้บริโภคเห็นว่า ควรมีกลไกความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคระดับอาเซียน โดยสำนักเลขาธิการอาเซียนควรเป็นหน่วยงานกลางที่เข้ามาดูแล เพื่อสร้างความร่วมมือการกำกับดูแลมาตรฐานสินค้าที่ขายในออนไลน์ การกำหนดคุณภาพของสินค้าตั้งแต่จุดเริ่มต้น การคืนเงินจากสินค้าไม่มีคุณภาพเต็มจำนวน การตั้งราคาให้สมเหตุสมผลกับสินค้า และการผลักดันกฎหมาย Lemon Law ที่ครอบคลุมไปยังสินค้าต่าง ๆ ด้วย” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว
ช่วงที่สาม : นำเสนอทางออก และกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการคุ้มครองผู้บริโภคจากภัยกลโกงออนไลน์ วิทยากรแต่ละท่านให้ความเห็นตรงกันว่า บทบาทการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐยังมีข้อจำกัดและไม่ต่อเนื่อง รวมถึงยังขาดการประสานความร่วมมือในการเชื่อมต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อออกแบบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านซื้อขายสินค้าออนไลน์ระหว่างกัน ที่ผ่านมาผู้บริโภคต้องตรวจสอบสินค้าต่าง ๆ ก่อนซื้อด้วยตัวเอง ทั้งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเป็นผู้ช่วยผู้บริโภคให้ซื้อขายออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย
คุณจุฑา สังขชาติ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค กล่าวถึงบทบาทขององค์กรผู้บริโภคที่เริ่มทำความร่วมมือ MOU กับผู้ประกอบการบางส่วนไว้ แต่เธอยังชี้ว่าส่วนนี้ยังขาดความร่วมมือจากผู้ประกอบการรายใหญ่และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาและสานต่อ โดยการจดทะเบียนผู้ขายที่ชัดเจน ทำให้ติดตามตัวผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ขายได้
“ปัญหาซื้อขายสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคส่วนใหญ่ มักเป็นกรณีที่มีค่าเสียหายที่ไม่สูงมาก ทำให้หลายคนไม่อยากเรียกร้องสิทธิ ดังนั้น ต้องสนับสนุนความเข้มแข็งให้ผู้บริโภครู้เท่าทันและตระหนักถึงสิทธิที่ถูกละเมิดเพื่อเป็นพลังในการแก้ไขปัญหา เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานรัฐต้องร่วมสนับสนุน นอกจากนี้การรวมกลุ่มของผู้บริโภคเพื่อให้มีสภาองค์กรผู้บริโภคก็ยังเป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็งในทุกประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการซื้อขายสินค้าออนไลน์”
ด้านนายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันโลกของการซื้อขายสินค้าออนไลน์เป็นเรื่องที่ผูกพันกับบุคคลและหน่วยงานทุกภาคส่วน ไม่ใช่เกี่ยวเนื่องเพียงแค่คนขายและคนซื้อ ดังนั้น การกำกับดูแลและร่วมกันกำหนดรูปแบบเพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทันกลโกงออนไลน์จึงเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างเร่งด่วนทันที โดยเฉพาะเรื่องการจัดทำข้อมูลที่เป็นระบบ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและตรวจสอบค้นหาข้อมูลได้ง่าย รัฐต้องสนับสนุนการรวมกลุ่มผู้บริโภคในการให้ความรู้ รวมถึงยกระดับการเฝ้าระวัง อีกทั้งทุกภาคส่วนควรต้องเรียนรู้และแลกเปลี่ยนบทบาทการทำงานร่วมกัน และสำหรับบทบาทหน่วยงานรัฐต้องมีการอำนวยความสะดวกในที่เดียวด้วย เช่น ระบบรายงานผลการจัดการปัญหา การให้เครดิตร้านค้าโดยผู้ซื้อหรือผู้บริโภค เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค
ข้อมูลจาก ข่าวเผยแพร่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค