'สารี' ฉะ สปน.เตะถ่วง ไม่อยากให้เกิด 'สภาองค์กรผู้บริโภค' เตรียมฟ้องหากยังดึงเกม
หากภายใน 7 วันนี้ ยังไม่มีการประกาศองค์กรผู้บริโภคเพิ่มเติม เตรียมฟ้องสปน.หลังล่าสุดองค์กรผู้บริโภคผ่านการจดแจ้ง 144 องค์กร เหลือเพียง 6 องค์กรเท่านั้น การมีสภาองค์กรของผู้บริโภคก็จะเป็นจริง เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เร่งประกาศ การจดแจ้งขององค์กรผู้บริโภคจากจังหวัดต่าง ๆ โดยเร็ว
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2563 สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานความคืบหน้าการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ว่า จากข้อมูลเว็ปไซต์ของสปน. พบว่าองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการจดแจ้งทั่วประเทศขณะนี้มีจำนวน 144 องค์กรข้อมูล ณ วันที่ 27 กันยายน (ดูได้จาก https://www.opm.go.th/opmportal/index.asp?pageid=1554... ) เข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร?
ถึงแม้จะเหลืออีกเพียง 6 องค์กร ก็ยังมีความจำเป็นต้องเร่งรัดสปน. เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมา การจดแจ้งองค์กรผู้บริโภคยาวนานมากเกือบถึง 15 เดือน หรือ 1 ปี 2 เดือน 7 วัน นับตั้งแต่การยื่นจดแจ้งวันแรกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา กว่าองค์กรผู้บริโภคจะผ่านการจดแจ้งได้ 114 องค์กร ทั้งที่กติกา กำหนดให้องค์กรผู้บริโภคยื่นจดแจ้ง ไม่ใช่การขออนุญาต ว่า องค์กรผู้บริโภคทั้งนิติบุคคลและไม่ใช่นิติบุคคล มีผลงานมากกว่า 2 ปี ไม่ถูกจัดตั้งโดยรัฐและเอกชน นายทะเบียนจังหวัดและนายทะเบียนกลาง คือ สปน. จะใช้เวลา 60 วัน ในการพิจารณา และสามารถขยายระยะเวลาในการพิจารณา ได้อีก 30 วัน 2 ครั้ง รวมทั้งหมด 120 วัน ในการรับจดแจ้ง บางจังหวัดต้องใช้การแถลงข่าวขู่ฟ้องคดี ถึงผ่านการจดแจ้ง หรือแม้แต่องค์กรที่ผ่านการรับรองของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ให้การรับรองว่า เป็นองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ก็ไม่ผ่านการพิจารณาของสปน.
ขอให้สปน. เร่งรัดการออกประกาศรับรององค์กรและเร่งประกาศรายชื่อองค์กรผู้บริโภคในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ สปน.หรือออก อกผ3โดยเร็ว เพราะพบว่า มีอีกหลายจังหวัดที่ได้รับการรับรองจากระดับจังหวัด (อกผ2) มานาน เช่น จังหวัดสงขลา จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ยังไม่มีการรับรองให้ อกผ3 แต่อย่างใด หากพบว่า ยังล่าช้านานเกินกว่า 7 วัน องค์กรผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดได้เตรียมการที่จะฟ้องสปน. ต่อศาลปกครอง พรบ. ว่าด้วยการจัดตั้งสภาขององค์กรผู้บริโภค พ.ศ. 2562
กฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้องค์กรผู้บริโภคมีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนกับนายทะเบียนจังหวัดและนายทะเบียนกลาง กำหนดให้องค์กรผู้บริโภคจำนวน 150 องค์กร สามารถเข้าชื่อยื่นจดแจ้งการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ ตามมาตรา 9 และรวบรวมสมาชิกที่ผ่านการจดแจ้งได้ไม่น้อยกึ่งหนึ่งขององค์กรผู้บริโภค ถึงจะสามารถยื่นจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคได้ และสภาองค์กรผู้บริโภคนั้นต้องรีบดำเนินการจัดทำข้อบังคับและรับฟังความคิดเห็นก่อนการประกาศใช้มีสภาองค์กรผู้บริโภคแล้วประชาชนได้ประโยชน์อะไร
1) ให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค รวมทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
2) ประชาชนไม่ต้องเดินทางไป 10 หน่วยงาน เพื่อร้องเรียน แต่เดิมกว่าจะประสบผลสำเร็จในการร้องเรียน หลายครั้งประชาชนต้องไปร้องเรียนหลายๆ หน่วยงานถึงจะได้รับการชดเชยค่าเสียหาย หากมีสภาองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้น ผู้บริโภคก็สามารถร้องเรียนที่สภาองค์กรฯ ได้ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ
3) สนับสนุน หรือดำเนินการ ติดตาม เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความเสื่อมเสียแก่ผู้บริโภค พร้อมจะเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา
4) ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ เมื่อมีการฟ้องคดี ผู้ประกอบการจะต้องชำระค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของค่าเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ
5) มีความเชี่ยวชาญหลายสาขาอย่างน้อย 8 สาขาและยังมีได้อีกตามความเหมาะสม ได้แก่ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านการขนส่งและยานพาหนะ ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสุขภาพ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ด้านบริการสาธารณะ
6) มีความเป็นอิสระ มีกรรมการจากผู้แทนผู้บริโภคและผู้เชี่ยวชาญ เป็นภาคเอกชน สามารถทำงานเชิงรุก รวดเร็ว ฉับไว ได้
7) สามารถมีสภาองค์กรของผู้บริโภคระดับจังหวัดได้ เพื่อที่จะทำให้ปัญหาของผู้บริโภคได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วและเป็นเพื่อนที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
วันนี้การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค มีอุปสรรคตลอดเส้นทาง เช่น ความล่าช้าในการพิจารณา ขาดมาตรฐานกลางในการพิจารณา การแก้ปัญหาทีละประเด็นที่เกิดขึ้น ไม่ทำงานเชิงรุก การไม่จัดการองค์กรที่ไม่ใช่องค์กรผู้บริโภค หน่วยงานตรวจสอบเช่นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินล่าช้า การตรวจสอบองค์กรมากกว่าคนที่กระทำความผิดในสังคม ทั้งที่องค์กรเหล่านี้ขึ้นทะเบียนเพื่อทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ การให้กรรมการและสมาชิกไปพบเพื่อตรวจสอบยืนยันตัวตน การใช้เหตุผลทางเทคนิคของสปน. เช่น จังหวัดออกเลขผิดพลาด บางจังหวัดให้ไปขอยื่นจดทะเบียนใหม่ บางจังหวัดใช้วิธีการแก้ไขให้ใหม่ บางจังหวัดเจ้าหน้าที่โอนย้าย ไม่มีคนทำงานหรือเอกสาร ทั้ง ๆ ที่ ทุกจังหวัดต่างทำงานกับองค์กรผู้บริโภคกันแทบทุกจังหวัดมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป หรือประเด็นเรื่องกรรมการที่มาจากหน่วยงานราชการ การรับเงินจากหน่วยงานของรัฐ สะท้อน การแก้ไขปัญหาทีละประเด็น แทนการกำหนดมาตรฐานกลางในการพิจารณา แก้ปัญหาทีละประเด็น ไม่ทำงานเชิงรุก หรือจังหวัดที่อาจจะไม่ได้สนใจเรื่องนี้เพราะเป็นงานฝาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่สนับสนุน หรือช่วยหาทางออก
สารี ทิ้งท้าย ว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค แตกต่างจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคทั่ว ๆ ไป เพราะเป็นตัวแทนตามกฎหมาย และเป็นเครือข่ายขององค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่ทำงานแตกต่างกันในด้านต่าง ๆ
“ถึงเวลาที่สภาองค์กรผู้บริโภคจะเกิดขึ้นได้แล้ว ให้องค์กรผู้บริโภคได้มีโอกาสเรียนรู้ผิดถูก และปรับปรุงกันไป อย่างน้อยมีโอกาสในการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค เหมือนกับสภาอุตสาหกรรม หรือหอการค้า ซึ่งมีทั้งสาขาอุตสาหกรรมต่างๆ และหอการค้าระดับจังหวัด การเกิดของสภาองค์กรผู้บริโภค จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างมาก จึงจำเป็นต้องทะลุทะลวงผ่าทางตันนี้ให้ได้ การมีสภาองค์กรผู้บริโภคมีประโยชน์มากมาย อย่างน้อยที่สำคัญเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้ผู้บริโภค คนเล็ก คนน้อยจะถูกหลอกถูกโกงน้อยลง ยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพ หมายถึงการมีคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคโดยรวม ซึ่งเป็นประโยชน์กับทุกคน เพราะทุกคนเป็นผู้บริโภค”
ขอบคุณภาพจาก www.consumerthai.org