Update ด่วน! องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
ทำไม...คนไทยต้องมาทุบรถที่ซื้อมาใหม่เพื่อเรียกร้องให้บริษัทรถรับผิดชอบ
ทำไมคนไทยต้องเจอโฆษณาหลอกขายยาขายสินค้าซ้ำซาก ร้องเรียนที่ไหนก็ไม่ได้ผล
ทำไมสินค้าแพง น้ำมันแพงถึงเป็นปัญหาไม่รู้จบ ฯลฯ
ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะผู้บริโภคไทยไม่มีการรวมตัวกัน ไม่มีตัวแทนของตัวเองที่จะส่งเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมได้อย่างมีพลัง
ในรัฐธรรมนูญไทยปี 2540 และ 2550 กำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้มีผู้บริโภคมีการรวมกลุ่มและมีตัวแทนเพื่อมาเป็นปากเป็นเสียงแทนคนไทยทั้งประเทศ ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการซื้อหรือใช้สินค้าบริการต่างๆ
แต่วันนี้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูปปี 2558 กลับจะมีการตัดเอา “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ออกจากร่างรัฐธรรมนูญ แล้วประชาชนจะเหลือหลักประกันอะไรว่าจะมีกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้น และจะเรียกรัฐธรรมนูญนี้ว่าเป็นฉบับปฏิรูปได้อย่างไร
เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกคนร่วมลงชื่อเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้ใส่คำว่า “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครคุ้มครองผู้บริโภคได้ดีเท่ากับตัวผู้บริโภคเอง
>>>ร่วมรณรงค์คลิ๊ก<<<
อดีต-ปัจจุบัน
องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
มิถุนายน 2541-เมษายน 2543
ระยะแรกของการผลักดันกฎหมายเป็นช่วงที่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ยังประกาศใช้ ซึ่งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 57 ช่วงเวลานี้ ถือเป็นช่วงที่มีการขับเคลื่อนในระยะแรก ได้แก่
- การแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาหลักการองค์การอิสระตามมาตรา 57
- เผยแพร่หลักการองค์การอิสระ
- สิทธิผู้บริโภคที่ควรมีการคุ้มครองเพิ่มเติม
- การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่องหลักการองค์การอิสระและปัญหาผู้บริโภค
เมษายน 2543-มีนาคม 2546
การขับเคลื่อนในระยะที่ 2 กฎหมายเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง
- การยกร่างกฎหมายองค์การอิสระ
- การจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนร่างกฎหมายในระดับจังหวัด
- การจัดเวทีแลกเปลี่ยนระดับภูมิภาคและเวทีใหญ่ในกรุงเทพฯ
- พัฒนาร่างโดยสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค นำเสนอรัฐบาล, ส.ส., ส.ว., สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และภาคประชาชน
เมษายน 2546-ก่อนรัฐธรรมนูญ ปี 2550
เคลื่อนไหวผลักดันเข้มข้นขึ้น
- เข้าพบรัฐมนตรีที่ดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์, นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์, นายสุวัฒน์ ลิปตพัลลภ และ พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูล ณ อยุธยา เป็นต้น)
- การผลักดันให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งได้มีการดำเนินการสองครั้ง
- การเสนอกฎหมายภาคประชาชนโดย ส.ส. 20 คน แต่ไม่มีความคืบหน้า
- จัดเวทีมาตรา 57 เชื่อมโยงปัญหาอื่นๆ ที่มีผู้บริโภคประสบในชีวิตประจำวัน
- ดำเนินการรวบรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550
ผลักดันผ่านสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ระบุความเป็นอิสระขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจน และกำหนดระยะเวลาที่รัฐบาลต้องดำเนินการเรื่องนี้
12 มีนาคม 2551
องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ในมาตรา 61
15 มีนาคม 2551
เริ่มต้นรณรงค์ใหม่อีกครั้งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยการประกาศเจตนารมณ์และรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ ในการเสนอกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค 42 จังหวัด เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เครือข่ายคนคอนโด และชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
19 กุมภาพันธ์ 2552
นำรายชื่อที่รวบรวมได้ทั้งหมด 12,208 รายชื่อ ยื่นต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา
26 พฤษภาคม 2552
รัฐสภาแจ้งผลการตรวจอสบว่า มีผู้เข้าชื่อครบตามหลักเกณฑ์การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จำนวน ๑๑,๒๓๐ รายชื่อ
22 มิถุนายน 2552
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำจดหมายเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนาม และเร่งรัดการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.... ฉบับประชาชน
6 ตุลาคม 2553
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการแห่ง ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.... ฉบับคณะรัฐมนตรี ฉบับนางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์และคณะเป็นผู้เสนอ ฉบับนางสาวผ่องศรี ธาราภูมิและคณะเป็นผู้เสนอ ฉบับนางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิชและคณะเป็นผู้เสนอ ฉบับนายวิชาญ มีนชัยนันท์และคณะเป็นผู้เสนอ ฉบับนายวรงค์ เดชวิกรมและคณะเป็นผู้เสนอ และฉบับนางสาวสารี อ๋องสมหวังและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 11,230 คน เป็นผู้เสนอ และตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งจำนวน 54 คนเพื่อพิจารณา
2 มีนาคม 2554
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติให้ถอน ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.... เพื่อนำไปปรับปรุงใหม่
16 มีนาคม 2554
ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.... ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ ถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง
20 เมษายน 2554
กฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 3 วาระ โดยมีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 301 ต่อ 2 เสียง รวมทั้งผ่านความเห็นชอบเบื้องต้นของวุฒิสภา และได้พิจารณาในคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 3 ครั้ง
25 เมษายน 2554
วุฒิสภารับหลักการของกฎหมายและตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาโดยมีผู้แทนภาคประชาชนจำนวน 10 คน และประชุมกรรมาธิการ จำนวน 3 ครั้ง
10 พฤษภาคม 2554
รัฐบาลประกาศยุบสภาทำให้การพิจารณาร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายวุฒิสภาต้องหยุดชะงักไป
2 กรกฎาคม 2554
เลือกตั้งทั่วไป
26 สิงหาคม 2554
พบรัฐมนตรี สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ให้สนับสนุนและผลักดันกฎหมายฉบับนี้
เดือนสิงหาคม-กันยายน 2554
องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศรณรงค์ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สนับสนุนให้มีการเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้
13 กันยายน 2554
ยื่นจดหมายให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีมติร้องขอให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภายใน 60 วัน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 153
28 กันยายน 2554
คณะรัฐมนตรี ลงมติร้องขอให้รัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
28 พฤศจิกายน 2554
รัฐสภามีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ..... ด้วยมติเอกฉันท์ 511 เสียง กฎหมายสามารถเดินหน้าพิจารณาในขั้นตอนของวุฒิสภา
5 กันยายน 2555
สภาผู้แทนราษฎรพิจารณากรณีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มติที่ประชุมสภาไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภาและตั้งกรรมาธิการร่วมกันของทั้งสองสภาพิจารณาร่วมกันจำนวน 22 คน และตั้งกรรมาธิการฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 11 คน ของวุฒิสภาจำนวน 11 คน
9 มกราคม 2556
คณะกรรมาธิการร่วมพิจารณากฎหมายแล้วเสร็จ เตรียมบรรจุในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมสมาชิกวุฒิสภาเพื่อรับร่างที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมต่อไป
9 กันยายน 2556
กฎหมายผ่านวุฒิสภา ด้วยเสียงข้างมาก จำนวน 115 เสียง ไม่เห็นชอบ (ไม่มี) งดออกเสียง 4 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง จากจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่ประชุม จำนวน 120 คน โดยเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้ออกแถลงการณ์ขอบคุณสมาชิกวุฒิสภาที่เห็นชอบกฎหมายฉบับนี้
20 พฤศจิกายน 2556
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 25 (สมัยสามัญทั่วไป) ที่ประชุมกำหนดให้ ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว ให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน (เลื่อนตามที่ที่ประชุมเห็นชอบในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ปีที่ 3 ครั้งที่ 20 (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2556
9 ธันวาคม 2556
รัฐบาลประกาศยุบสภา ทำให้ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ค้างอยู่ในวาระสมัยประชุม ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่หยิบขึ้นมาพิจารณา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 วรรคสอง ซึ่งกำหนดว่า หากมีการยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลใหม่ต้องร้องขอต่อรัฐสภาภายในหกสิบวัน นับแต่วันประชุมสภาครั้งแรก เพื่อให้นำกฎหมายที่ค้างพิจารณาจากสภาที่แล้วมาพิจารณาต่อหากรัฐบาลไม่ร้องขอให้นำกฎหมายฉบับใดขึ้นมาพิจารณาต่อ กฎหมายฉบับนั้นก็จะเป็นอันตกไป
22 พฤษภาคม 2557
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการและให้รัฐธรรมนูญปี 50 สิ้นสุดลง
18 พฤศจิกายน 2557
ยื่นหนังสือต่อ คุณกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีสำนักรัฐมนตรี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้พิจารณากฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
19 พฤศจิกายน 2557
มีการจัดประชุมคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ มีมติตั้งทีมคณะทำงานเพื่อพิจารณาปรับปรุงกฎหมายองค์การอิสระ
9 ธันวาคม 2557
คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสภาปฏิรูปแห่งชาติ จัดประชุมเพื่อพิจารณารับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานต่างๆ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
19 ธันวาคม 2557
ยื่นข้อเสนอต่อ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพิ่มอำนาจประชาชนและขอให้ช่วยสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ซึ่งเป็นฉบับที่ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการร่วมในรัฐบาลที่ผ่านมา
5 มกราคม 2558
ประธานคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ เสนอร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคควรมีอำนาจกำหนดบทลงโทษด้วยตัวเองได้ สามารถฟ้องร้องคดีเองได้และมีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 215 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง จากผู้ร่วมประชุม 223 คน และให้นำเสนอต่อ ครม. ภายใน 30 วัน
2 กุมภาพันธ์ 2558
คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค นำเสนอ ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ ต่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ที่ประชุม สปช. มีมติเห็นชอบและส่ง ร่างกฎหมายดังกล่าว ให้คณะรัฐมนตรี ดำเนินการต่อไป เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงิน
9 มีนาคม 2558
ประธาน สปช.ได้ส่งร่าง พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ให้แก่ คณะรัฐมนตรี พิจารณา
ปัจจุบัน ???
Tags: องค์การอิสระ,, องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค , สิทธิผู้บริโภค