สมาคมผลิตยาไทยค้านกรมทรัพย์สินฯแก้ไข พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าชี้ทำไทยเสียเปรียบ กระทบผู้ผลิตยารายย่อย
สมาคมผลิตยาไทยค้านกรมทรัพย์สินฯเสนอแก้พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า เพิ่มคำยามเรื่องกลิ่น เผยทำเกิดกว่าสาเหตุที่ขอแก้ไข ที่ระบุแค่ว่าเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ยื่นจดทะเบียนเท่านั้น แต่กลับแก้ไขเกิน ซ้ำยังทำเกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ ทำให้ไทยเสียเปรียบ ละทิ้งเอกสิทธิ์ของประเทศ ผู้ประกอบการรายย่อยเสียโอกาสพัฒนาสินค้าตนเอง ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้เปรียบ โดยเฉพาะเรื่องยาที่ต้องใช้กลิ่นธรรมชาติและกลิ่นสังเคราะห์ในการผลิตยาจะได้รับผลกระทบมาก
13 พ.ย.57 ภก.เชิญพร เต็งอำนวย นายกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน กล่าวว่า สมาคมฯ ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการผลิตยาของประเทศขอคัดค้าน กรมทรัพย์สินทางปัญญาที่เสนอให้มีการแก้ไขคำจำกัดความ เครื่องหมายการค้า ในพ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ..... เพราะจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตยาของประเทศ ซึ่งต้องใช้กลิ่นช่วยกลบและช่วยแต่งรสชาติของผลิตภัณฑ์ หากมีการแก้ไขคำจำกัดความ ให้รวมถึงกลิ่นอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง หรือกลิ่นที่ไม่เป็นกลิ่นโดยธรรมชาติของสินค้านั้น จะนำไปสู่การละเมิดเครื่องหมายการค้าของผู้ทรงสิทธิ์ได้
ภก.เชิญพร กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ระบุถึงเหตุผลการแก้ไขว่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ยื่นจดทะเบียนและให้เป็นไปตามข้อตกลงตามแผนทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน ซึ่งไม่ได้กำหนดให้ต้องแก้ไขคำนิยามเครื่องหมายการค้าให้เพิ่มกลิ่นแต่อย่างใด ที่สำคัญยังเป็นการแก้ไขเกินกว่าข้อตกลงทริปส์ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ ซึ่งองค์การค้าโลกกำหนดให้ “เสียงและกลิ่น” เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละประเทศ แต่ไทยกำลังจะแก้ไขเกินกว่าข้อตกลงทริปส์ โดยละทิ้งเอกสิทธิ์ของประเทศ ถือเป็นการเปลี่ยนจุดยืนเดิม ทั้งยังสร้างความเสียหายให้ประเทศด้วย
นอกจากนั้น การแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.....ครั้งนี้ ยังจะทำให้เกิดการกีดกันทางการค้าและไม่ได้ช่วยยกระดับสินค้าไทย เพราะหากยอมให้มีการแก้ไขคำนิยาม “เครื่องหมาย” ให้ครอบคลุมเรื่องกลิ่น จะส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงได้ทราบและเข้าถึงข้อมูลมากกว่า จะรีบดำเนินการจดทะเบียน “กลิ่น” เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME จะเป็นผู้เสียโอกาสในการพัฒนาสินค้าของตนเอง ซึ่งขัดแย้งต่อยุทธศาสตร์ของประเทศที่ต้องการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้
ภก.เชิญพร กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน การแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ..... ในส่วนที่ให้มีการพิสูจน์กลิ่นที่มีการละเมิดสิทธิ์หรือไม่ ไม่สามารถใช้วิธีการดมกลิ่นเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องใช้เครื่องมือพิสูจน์ ใช้เวลาในการวิเคราะห์ รวมถึงต้องมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ จึงเป็นปัญหายุ่งยากต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายย่อย ซึ่งผู้ประกอบการผลิตยาของประเทศจำเป็นต้องใช้กลิ่นธรรมชาติ กลิ่นสังเคราะห์ในการผลิตยาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงอาจเกิดการกลั่นแกล้งจากผู้ทรงสิทธิ์บังคับให้ผู้ประกอบการระงับการผลิตเพื่อพิสูจน์ก่อน ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าถึงยาของประชาชนได้
“ดังนั้น สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน จึงขอคัดค้านการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ....ในประเด็นเรื่องกลิ่น และเห็นว่า กระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่ดูแลภารกิจด้านสาธารณสุขของประเทศ ต้องพิจารณาผลกระทบของ ร่างพ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ในประเด็นเรื่อง “กลิ่น” ให้ชัดเจน ก่อนที่จะมีการพิจารณาในที่ประชุมสภานิติบัญญัติ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบ” ภก.เชิญพร กล่าว
ทั้งนี้มีรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.เครื่องหมายการ พ.ศ.....ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่มีการท้วงติงจากกระทรวงสาธารณสุข ครม.จึงมีมติให้กระทรวงพาณิชย์กลับไปพิจารณาอีกครั้ง