'NGOs'ชี้ระงับโครงการสสส. ปชช.เสียประโยชน์ แนะรัฐตรวจสอบอย่างโปร่งใส่
วันนี้ (11 ม.ค. 59) ภาคีเครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน แถลงข่าวกรณีการบอนไซขบวนการภาคประชาชนด้วยการปลดคณะกรรมการ (บอร์ด) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) การระงับการอนุมัติงบประมาณการดำเนินงานโครงการ รวมทั้งการใช้มาตรการภาษีคุกคามองค์กรภาคประชาสังคมโดยไม่ชอบธรรม ที่สภาคริสตจักรในประเทศไทย
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การระงับโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ทำให้มีผลกระทบกับผู้ปฏิบัติงาน โดยมีคนถูกเลิกจ้างจากการยุติโครงการประมาณ 5,000–6,000 คน ซึ่งการที่รัฐมาลิดรอนขบวนการนี้จะทำให้การพัฒนาทักษะให้กับผู้ใช้แรงงานทั้งในและนอกระบบสูญเปล่าไป
“เราไม่ได้ออกมาเพื่อปกป้องบอร์ด แต่เราทำเพื่อประชาชน เพราะการเหมารวมตรวจสอบทุกโครงการทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้รัฐบาลตรวจสอบการทำงานนี้อย่างโปร่งใส และถ้ารัฐบาลจะปฏิรูป สสส. ก็ต้องให้มีส่วนร่วมจากภาคประชาชนโดยเร็ว” นายมนัส กล่าว
ด้าน นายธนากร คมกฤส กรรมการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ให้ความเห็นว่า มูลนิธิฯ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการถูกระงับการจ่ายเงินโครงการของ สสส. โดยสถานการณ์นี้ทำให้มูลนิธิฯ ต้องเลิกจ้างพนักงานไป 7–8 คน จากเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 15 คนภายในสิ้นเดือนนี้ เพราะมูลนิธิฯ เป็นองค์กรสาธารณกุศล ซึ่งอยู่ได้ด้วยการพึ่งงบประมาณจากโครงการ ทั้งนี้ ยังส่งผลต่อการทำงานในพื้นที่ ที่ต้องชะลองาน รวมถึงกระทบถึงครอบครัวของผู้ยากลำบากด้วย เนื่องจากมูลนิธิฯ ไม่สามารถดูแลได้
นายวิวัฒน์ ตามี่ ตัวแทนจากศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง กล่าวว่า สถานการณ์การระงับการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่โครงการไม่ได้รับงบประมาณงวดสุดท้าย และยังถูกสรรพากรในพื้นที่ตามคุกคาม ทั้งที่ไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ทำให้ชาวบ้านไม่เข้าใจ นึกว่าองค์กรไปทุจริตมา ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือขององค์กร จึงเสนอให้รัฐบาลปลดล็อคการระงับโครงการ และสนับสนุนงบประมาณลงมาเพื่อเยียวยาไม่ให้เกิดความเดือดร้อนไปมากกว่านี้
นายอ๊อด สำเภาแก้ว ตัวแทนจากเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ถ้าไม่มีโครงการงดเหล้า บุหรี่ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. คนไทยจะติดเหล้า บุหรี่มากขึ้น ซึ่งการเข้าไปทำกิจกรรมรณรงค์ในชุมชนจำนวน 1,000 คน ทำให้มีคนเลิกบุหรี่ 100 คน ซึ่งถือว่าทำได้สำเร็จ ทั้งนี้ ไม่มีรัฐบาลชุดไหนที่ทำเรื่องบุหรี่ เหล้าที่เข้าถึงประชาชน มีแต่ภาคประชาชนเท่านั้น
“ที่มาวันนี้ไม่ได้มาเพื่อปกป้องบอร์ด หรือปกป้องผลตอบแทนของตัวเอง แต่มาเพื่อสังคม พ่อแม่พี่น้อง” นายอ๊อด กล่าว
ทางด้าน นายโกเมศร์ ทองบุญชู เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวว่า การปลดบอร์ดเป็นบันไดก้าวแรกของการเปลี่ยนโครงสร้าง สสส. เขาเสนอให้ยกเลิกคำสั่งปลดบอร์ด และการแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ต้องเป็นคนที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกลุ่นทุนในเรื่องสุขภาพ บุหรี่ และเหล้า
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงเรื่องภาษีว่า คนที่รับเงินเดือนภายใต้โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.นั้นต้องเสียภาษีทุกคน ซึ่งการกล่าวอ้างว่าภาคประชาชนไม่เสียภาษีนั้นไม่จริง ส่วนเงินที่ทำกิจกรรมนั้นไม่ใช่เงินรายได้ แต่เป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ ซึ่งไม่ควรต้องเสียภาษี เพราะถือเป็นเงินที่อยู่ในงบดำเนินการ
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวต่อไปว่า การตีความว่าเงินในการดำเนินกิจกรรมต้องเสียภาษีหรือไม่ยังมีความขัดแย้งกันระหว่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กับกรมสรรพากร ที่ต้องหาทางออก ซึ่งภาคประชาชนไม่ได้รับจ้างทำของ แต่ทำงานเพื่อสาธารณะ
“ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากเสียภาษี หรือหนีภาษี แต่ สสส.ต้องทำให้เรื่องนี้ให้ชัดเจน และเป็นระบบ” นางสาวสารี กล่าว
ทั้งนี้ เครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ประกอบด้วย ภาคีต่างๆ 20 องค์กร เช่น ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเด็ก เยาวชนและครอบครัว เครือข่ายองค์กรงดเหล้าและบุหรี่ เครือข่ายเกษตรและความมั่นคง เป็นต้น
ข่าวบทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:
{loadmudule related_items,Articles Related Itemes}|
Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , สสส., ภาคีเครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน