ผู้บริโภคชี้ บทเรียน 8 ปี กระบวนการฟ้องคดียุ่งยาก
ผู้บริโภคสะท้อนการใช้กฎหมายคดีผู้บริโภค การพิจารณาคดียังไม่เอื้อความสะดวก ด้านผู้ป่วยหวังพึ่ง ระหว่างรอ พรบ.คุ้มครองผู้เสียหาย
5 ก.ค.ในเวทีเสวนา “8 ปี บทเรียนการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค” จัดโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเชิญตัวแทนผู้บริโภค ศาลยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เข้าร่วมสะท้อนการใช้กฎหมาย
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ สะท้อนถึงการใช้สิทธิ์ในการฟ้องคดีว่า แม้การฟ้องคดีจะทำให้อายุความหยุดลง ภาระการพิสูจน์เป็นหน้าที่ของแพทย์ แต่ก็ยังใช้เวลาในการพิจารณาคดีที่นาน สุดท้ายภาระการพิสูจน์ต่างๆ ตกเป็นฝ่ายของคนไข้อยู่ดีแต่พยานหลักฐานอยู่ในมือของสถานพยาบาล
“ความยากอีกอย่างในการต่อสู้คดีก็คือการหาพยานทางการแพทย์ มาเป็นพยานให้ ค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งค่าทนาย ค่าธรรมเนียมศาล และต้องรอศาลตีความว่าเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่
สถิติผู้บริโภคในศาลชั้นต้น ปี 59 ช่วง 3 เดือนแรก สถานพยาบาลรัฐ 17 คดี เอกชน 23 คดี ปัญหาใหญ่ คือ คนไข้มักเสียเปรียบ เพราะแพทยสภา ไม่เคารพกติกา แต่เมื่อคนไข้ชนะคดีก็ด่าศาล แพทยสภาต้อนคนไข้ให้จนมุม มีการจะเอาบริการทางการแพทย์ออกจากพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ซึ่งคนไข้อยากพึ่งกฎหมายฉบับนี้อยู่ ตราบที่ พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ยังไม่เกิด” ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์กล่าว
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความเห็นว่าหลักการกฎหมายเป็นหลักการที่ดี ช่วยฟ้องคดีให้กับผู้บริโภค และมีคำพิพากษาเชิงลงโทษ แต่ก็ยังล่าช้ามาตลอด 8 ปี สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือจะทำยังไงให้เป็นประโยชน์มากขึ้น
“การให้ผู้บริโภคฟ้องเองได้ โดยไม่ต้องใช้ทนายแต่ว่าศาลยังใช้ระบบกล่าวหายังไม่ใช้ระบบไต่สวน ทำให้ผู้บริโภคต้องใช้ทนาย ทำให้ระบบการพิจารณาคดียังไม่เอื้อต่อผู้บริโภค เจ้าพนักงานคดีไม่พอการให้เขียนคำฟ้องต้องนัดเป็นอาทิตย์ พอยื่นฟ้องไปแล้วต้องรอศาลตีความถึง 3 เดือนว่าเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว
พร้อมกล่าวเสริมว่าการพิสูจน์ต่างๆนั้นในหลายคดี ผู้บริโภคถูกไต่สวนก่อน ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม แทนที่จะให้คนถูกกล่าวหาเป็นฝ่ายพิสูจน์ ทำให้เสียเปรียบ
“มีข้อจำกัดมากในการฟ้องคดีทางการแพทย์ เพราะหาแพทย์มาให้ความเห็นได้น้อยและยากมาก ทุกคนรู้ว่าบริการทางการแพทย์เป็นการค้า รพ.เอกชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งนั้น ยังถือเป็นคดีผู้บริโภค ยกเว้น รพ.เอกชนจะยุติการเก็บเงิน และควรมีกฎหมายอื่นมารองรับ เช่น การเยียวยาความเสียหาย
ขอเสนอให้ศาลใช้เงื่อนไขเรื่องการหาข้อเท็จจริงมาช่วยผู้บริโภค ใช้ระบบการไต่สวนแทนระบบการกล่าวหา ควรทำให้กระบวนการพิจารณาเป็นมิตรกับผู้บริโภค” นางสาวสารีกล่าว
นายรังสรรค์ วิจิตรไกรสร รองประธานศาลอุทธรณ์ กล่าว ว่าต้องมีกระบวนการสร้างการเรียนรู้ในการคุ้มครองผู้บริโภคในทุกภาคส่วน ปัญหาของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ไม่ได้มีแต่ภาคประชาชน ศาลเองก็ต้องเรียนรู้เช่นกัน
“น่าเสียดายที่จัดวิธีคดีพิจารณาคดีผู้บริโภค เน้นหนักไปในภาคเอกชน แต่ภาครัฐ ไม่ได้จัดบุคลากรมาให้ คนที่ทำจึงมีข้อจำกัด ผู้พิพากษาตัดสินได้ แต่ความรู้เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค อาจมีไม่เข้มข้น การจัดบุคลากรก็มีส่วน เราไม่ได้เน้น ซึ่งข้อเสนอคือ ต้องจำกัดคุณสมบัติของผู้พิพากษาให้มีประสบการณ์ในคดีผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 5 ปี ถึงจะตัดสินในศาลชั้นต้นได้ แม้บทบาทของศาลยังไม่เป็นเชิงรุก เป็นไต่สวนมาก ศาลเป็นระบบราชการ กรณีมีความล่าช้าเรื่องคดี ผู้พิพากษาในไทยมี 5 พันคน แต่คดีมีกว่าล้านคดี”
นอกจากนี้ยังแนะนำกับผู้บริโภคเกี่ยวกับฟ้องคดีผู้บริโภคว่าผู้บริโภคต้องมีทักษะนำเสนอเรื่องราวให้ศาลรู้เรื่องด้วย
“ศาลไม่ได้เป็นเปาบุ้นจิ้น ไม่มีจั่นเจา ผู้บริโภคต้องช่วยศาล ระบบไต่สวนให้อำนาจศาลสืบพยาน แต่ไม่ใช่เครื่องมือให้ศาลเข้าใจเรื่องราวได้ ถ้าขาดพยานก็ต้องแจ้งให้ศาลทราบจะได้เรียกพยานให้ ไม่งั้นศาลจะรู้ได้ยังไง คือ ต้องนำเสนอศาลให้รู้ว่าอยากได้พยานอะไร ให้เรียกอะไร จะได้เกิดการแก้ปัญหาได้” รองประธานศาลอุทธรณ์กล่าว
Tags: ศาล