5 เทคนิค ช็อปออนไลน์ ให้ได้ของถูกใจและไม่เจ็บตัว
ทุกวันนี้ การซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ต กลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยไปแล้ว ด้วยความที่มันสะดวก รวดเร็ว อยู่ที่ไหน ก็ซื้อขายกันได้ ชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ แล้วก็รอรับสินค้าให้มาส่งถึงบ้านได้เลย จะซื้ออะไร ก็มีทั้งนั้น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ขนม อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า อะไหล่รถยนต์ สัตว์เลี้ยง ต้นไม้ ฯลฯ
ดังนั้น จึงขอแนะนำ 5 เทคนิคในการช็อปออนไลน์กัน
1 . ตรวจสอบตัวตน ความน่าเชื่อถือของคนขาย ร้านค้า ให้แน่ใจว่า มีตัวตนอยู่จริง ก็ดูจากชื่อ – นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ หรือ ทะเบียนการค้า และถ้าจะให้ชัวร์ ก็ควรเช็ค ประวัติของคนขาย ว่าเขาเป็นใคร เคยทำอะไรมาบ้าง โดยพิมพ์ ชื่อ หรือ เบอร์โทรศัพท์ ค้นหา ใน google แป๊บเดียว ก็จะมีข้อมูลบอกหมดว่า เขาเป็นยังไง ถ้าเคยมีประวัติเสีย โกงลูกค้า นิสัยไม่ดี รับรองต้องมีคนโพสต์แฉแน่นอน
- สอบถามลูกค้าเก่า ให้เล่าความจริง จากประสบการณ์ตรงของคนที่เคยใช้สินค้า จะช่วยยืนยันว่าของที่ขายนั้น คุณภาพเป็นอย่างไร บริการของร้านค้าดีหรือไม่ เมื่อก่อน หลายคนอาจจะตัดสินใจซื้อขาย โดยดูจากยอดกด Like ถูกใจร้านค้า แต่เดี๋ยวนี้ ลำพังยอด Like ก็ไว้ใจไม่ได้อีก เพราะมีการปั่นยอดกันได้ ทางที่ดีต้องดูจาก รีวิว หรือ ฟีดแบ็ค ของลูกค้าเก่า ประกอบกันด้วย
- ปลอดภัยกว่า ถ้าจ่ายผ่านบัตรเครดิต การชำระเงินค่าสินค้า ถ้าคนขายมีให้เลือกหลายช่องทาง การชำระด้วยบัตรเครดิต จะปลอดภัยกว่าการโอนเงินสดเข้าบัญชีผู้ขาย เพราะสามารถระงับการจ่ายเงินกับบริษัทบัตรเครดิตได้ หากสินค้าไม่ได้รับสินค้า หรือ มีปัญหาไม่ตรงตามสเปคที่ตกลงซื้อขายกัน
- เก็บหลักฐาน การซื้อขาย ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลผู้ขาย ชื่อ สกุล ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ หมายเลขบัญชี , ข้อมูลสินค้า สเปค ขนาด จำนวน คุณสมบัติ และ หลักฐานการโอนเงิน โดยคุณสามารถ บันทึกภาพหน้าจอ (print screen) ภาพสินค้าในเว็บไซต์ หรือ ข้อความที่แชทคุย ผ่านทาง Line กับผู้ขาย ไว้เป็นหลักฐานได้
- ร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง ถ้าหากเกิดปัญหาจากการซื้อของออนไลน์ อย่าลังเลที่จะใช้สิทธิของคุณในการร้องเรียน เพื่อให้ผู้ขายรับผิดชอบ เพราะนอกจากคุณจะได้รับการแก้ไขปัญหาแล้ว ประสบการณ์ของคุณจะเป็นบทเรียนให้กับผู้บริโภคคนอื่น ๆ ด้วย
เว็บไซต์ ซื้อขายออนไลน์ ที่มีมาตรฐาน จะมีช่องทางในการติดต่อเพื่อร้องเรียนปัญหาจากการซื้อขาย และทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจา แก้ไขปัญหาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ส่วนร้านค้าอิสระบน Facebook , IG นั้น ก็ติดต่อร้องเรียนไปที่เจ้าของร้านโดยตรงเลย ถ้าเป็นเจ้าของธุรกิจจริง ไม่ใช่มิจฉาชีพ ที่ตั้งใจมาหลอก ผมว่า เขาต้องรีบแก้ไขปัญหา รักษาชื่อเสียงของเขาไว้ เพราะในโลกออนไลน์ “เสียงของผู้บริโภค” นั้น มีค่าจริง ๆ ถ้าร้านไหน ลูกค้าประทับใจ ก็จะบอกต่อ ๆ กันไปกลายเป็นกระแส รับทรัพย์นับเงินกันไป ส่วนร้านไหน ไม่ดูแลลูกค้า มีปัญหาแล้วไม่ปรับปรุงแก้ไข ลูกค้าก็จะบอกต่อ ๆ กันไปเช่นกัน ร้านนี้ก็เตรียมปิดกิจการ ได้เลย
ขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
- ข้อมูลจาก นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 197 5 เทคนิค ช็อปออนไลน์ ให้ได้ของถูกใจและไม่เจ็บตัว https://chaladsue.com/article/2621
- ข้อมูลเพิ่มเติม นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 202 สินค้าออนไลน์ สดใหม่แค่ไหน https://chaladsue.com/article/2727
- ข้อมูลเพิ่มเติม นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 202 ซื้อสินค้าทางออนไลน์ ซื้อง่าย แต่ห้ามจ่ายเร็ว https://chaladsue.com/article/2726
- ข้อมูลเพิ่มเติม นิตยสารฉลาดซื้อ พฤติกรรมชาวกรุง กับการ Shopping Online https://chaladsue.com/article/2763
- ข้อมูลเพิ่มเติม นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 197 ซื้ออาหารเสริมลดน้ำหนักออนไลน์ https://chaladsue.com/article/2608