2nd benefit

2nd benefit

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้อง 5 สายการบิน คืนเงินค่าตั๋วโดยสารให้ผู้บริโภคหลังล่าช้ากว่า 1 ปี ยันพร้อมเดินหน้าฟ้องหากไม่คืนเงิน

จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้รัฐบาลได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ส่งผลให้สายการบินยกเลิกเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากนั้น

          วันนี้ (2 มีนาคม 2564) นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวถึงความคืบหน้าของกรณีดังกล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม - เดือนสิงหาคม 2563 ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณียังไม่ได้รับเงินค่าตั๋วโดยสารคืนจากสายการบิน จำนวน 228 ราย ซึ่งทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ติดต่อประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยสายการบินเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา 2 แบบ คือ หนึ่ง คืนเป็นเครดิตให้กับผู้บริโภคเพื่อเก็บไว้ใช้บริการในครั้งต่อไป หรือสอง คืนค่าตั๋วในกรณีที่ผู้บริโภคต้องการเงินคืน อย่างไรก็ตาม จากการติดตามผลเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ทำให้ทราบว่ายังมีผู้บริโภคที่ใช้บริการสายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท แอร์จอย สต๊อค และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ รวม 31 ราย ที่ยังไม่ได้รับเงินคืน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 557,929.27 บาท

          ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ทำหนังสือติดตามการแก้ไขปัญหาร้องเรียนสายการบินและข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารถึงกระทรวงคมนาคม สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎร แต่พบว่ามีเพียงคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ที่ตั้งวงประชุมเพื่อหารือแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องสายการบิน ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้า

           ภาณุวัตน์ บุญเรือง ผู้เสียหายจากกรณีสายการบินยกเลิกเที่ยวบิน ระบุว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 ได้จองตั๋วเครื่องบินของสายการบินไทยแอร์เอเชียกับเพื่อน เพื่อเดินทางไปประเทศมาเลเซีย กำหนดเดินทางในช่วงวันที่ 26 -28 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางได้ จึงติดต่อสายการบินผ่านทางคอลเซ็นเตอร์แต่ไม่สามารถติดต่อได้ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 จึงเดินทางไปที่เคาน์เตอร์ของสายการบินเพื่อขอเลื่อนไฟล์บินไปช่วงปลายปี แต่สายการบินกลับปฏิเสธ จึงได้ดำเนินการขอเงินค่าตั๋วโดยสารคืน โดยขอรับคืนเป็นเงินสดแต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับเงินคืน

           ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการนโยบายด้านสินค้าและบริการ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ระยะเวลา 1 ปี ถือว่านานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้มาก ดังนั้น ในฐานะกรรมการนโยบายฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค ขอเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐ คือ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม และองค์กรภาคเอกชน กำกับดูแล และตรวจสอบกระบวนการเยียวยา และชดเชยความเสียหายโดยของสายการบินที่ได้รับการร้องเรียน และขอให้สมาคมสายการบินประเทศไทยมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา เรื่องการคืนเงินผู้โดยสารที่ยังไม่ได้รับการคืนเงิน เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไป

            เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. ระบุว่า จากกรณีการยกเลิกเที่ยวบิน ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 ได้กำหนดไว้ชัดเจน ให้สายการบินคืนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นใดที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคเต็มจำนวน หากเป็นเงินสดต้องคืนภายใน 7 วัน หรือ บัตรเครดิตภายใน 45 วัน

“ระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 1 ปีเต็ม ยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับเงินคืน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป และทราบว่าที่ผ่านมาทางภาครัฐก็ได้ช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan ให้ผู้ประกอบการสายการบินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว สายการบินก็ควรคืนเงินให้กับผู้บริโภค หากยังคงเพิกเฉยก็คงต้องเดินหน้าฟ้องสายการบินต่อไป” เฉลิมพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว สามารถติดต่อ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่อยู่ 4/2 ซ.วัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 หรือ โทรศัพท์ 02-248-3734 

 

 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม สแกนที่นี่

Tags: องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค , สภาองค์กรของผู้บริโภค, การบินพลเรือน, สายการบิน