รวมพลผู้เสียหายจากแคลิฟอร์เนีย (ไม่) ว้าว เปิดปมเหตุ ปปง.ยึดทรัพย์
จากการแถลงข่าวของเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ตามอายัดทรัพย์บริษัท แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ว้าว รวม 88 ล้านบาท ฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นเวลากว่า 3 ปี แห่งการเรียกร้องสิทธิของผู้เสียหายจาก บริษัท แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ว้าว
วันนี้ (23 ม.ค. 59) เวลา 10.30 น. ผู้เสียหายจากบริษัท แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ว้าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สภาทนายความ ย้ำจุดยืนว่าเดินหน้าดำเนินคดีกับ บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว จำกัด และกรรมการ 9 ราย และเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังพร้อมออกมาตรการเยียวยาผู้เสียหายให้ชัดเจน
จากกรณีที่มีสมาชิกสถานออกกำลังกาย แคลิฟอร์เนียฟิตเนส ที่ได้รับความเดือนร้อน จำนวน 639 ราย ได้เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมปี 2555 มูลนิธิฯ ได้ตรวจสอบพบว่าสถานออกกำลังกายดังกล่าวมีพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นเจตนาไม่สุจริตหลายอย่าง เช่น รับสมัครสมาชิกแบบตลอดชีพในราคาที่ไม่สูงมากเพื่อดึงดูดให้มีผู้สมัคร ถูกกดดันและตื้อให้สมัครใช้บริการเทรนเนอร์ส่วนบุคคล หากไม่สมัครจะไม่ได้รับการดูแล เมื่อสมัครแล้วจะถูกหว่านล้อมให้สมัครซื้อบริการล่วงหน้า ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ) ได้มีประกาศเมื่อเดือน สิงหาคม 2554 ให้ธุรกิจการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา โดยกำหนดระยะเวลาในสัญญาห้ามเกิน 1 ปี แต่บริษัทฯ ยังรับสมัครสมาชิกตลอดชีพอยู่ เป็นต้น
ทางมูลนิธิฯ ได้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สคบ. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งในส่วนของการดำเนินการด้านคดีแพ่งและอาญา รวมทั้งเรียกค่าเสียหายกับทางบริษัทฟิตเนสดังกล่าว เนื่องจากผิดสัญญากับลูกค้า โดยไม่สามารถจัดหาสถานออกกำลังกายให้ได้ ทั้งที่รับเงินค่าสมาชิกไปแล้ว แต่เรื่องต่างๆ ไม่มีความคืบหน้า
ในเดือนพฤษภาคม 2556 มูลนิธิฯได้พาตัวแทนผู้เสียหายเข้าร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้ตรวจสอบ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้เรียกหน่วยงานต่างๆ ข้างต้นและอีกหลายองค์กร ซึ่งรวมถึง ปปง.ให้มาช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ภายหลังจากการตรวจสอบทำให้พบว่าบริษัทแคลิฟอร์เนียฉ้อโกงประชาชนกว่า 1,699 ล้านบาท จึงเป็นที่มาของการยึดทรัพย์ตามที่เป็นข่าว แต่ผู้กระทำผิดยังลอยนวล
นายคณิต เสตะรุจิ หนึ่งในตัวแทนของผู้เสียหาย กล่าวว่า “ที่ผ่านมา เราได้เรียกร้องสิทธิของตัวเองมาโดยตลอด แต่ขั้นตอนต่างๆ ที่ล่าช้า ใช้ระยะเวลานานมากไม่ทันการกับการหลอก ลวง กลโกงของผู้ประกอบการ ขอเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทำหน้าที่โดยเร็ว เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาโดยเร็วที่สุด และสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ทันที”
ด้าน นางสุมาลี โรจนวานิช ผู้เสียหายฯ กล่าวเสริมว่า “ความเสียหายของพวกเราสมาชิกแคลิฟอร์เนียน่าจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนามาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการประเภทเดียวกันนี้ เช่น การมีระยะทดลองก่อนทำสัญญาใช้บริการ การติดตามตรวจสอบการทำสัญญาของผู้ประกอบการว่า ได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ ตัวอย่างของฟิตเนสแห่งนี้ก็คือ การบอกรับสมาชิกตลอดชีพทั้งที่ กฎหมายประกาศห้ามทำสัญญาเกิน 1 ปี เป็นต้น จึงขอฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบการประกอบธุรกิจฟิตเนสที่ยังประกอบการในปัจจุบันด้วย”
นายพิสิษฐ์ ชุติพรพงษ์ชัย ทนายความบริษัทพิสิษฐ์ ลอว์ แอนด์ แอสโซซิเอท จำกัด กล่าวว่า ได้ร่วมกับมูลนิธิฯ รวบรวมผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีอาญา ในฐานความผิดฉ้อโกงประชาชน จำนวน 15 ราย ซึ่งคดีมีมูลความผิดศาลจึงสั่งให้ดำเนินคดีกับบริษัทและกรรมการจำนวน 9 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการต่อสู้คดี ส่วนที่ปปง.มีการยึดทรัพย์บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว ปปง.ต้องพิสูจน์ว่าทรัพย์ที่ได้มาเป็นทรัพย์ของเขา ไม่ใช่เป็นการเอาไปจากประชาชน ถ้าเขาพิสูจน์ไม่ได้ทาง ปปง.ก็จะเอาทรัพย์นี้มาเฉลี่ยให้กับผู้เสียหายที่มีหลักฐาน
ด้าน นายคณิศร นุชนาฎ ทนายความ และหัวหน้าทีมทนายความอาสา กล่าวว่า หลังมีรัฐบาล คสช. ได้มีการแก้กฎหมาย ปปง.ให้สามารถดำเนินการยึดอายัดเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายได้ จึงทำหนังสือแจ้งรายละเอียดขอให้ ปปง. ใช้อำนาจตามกฎหมายยึดอายัดทรัพย์สินของบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว
“ตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้เสียหายทั้งหมดในคดีนี้ ก็คือคนที่เป็นคนนำร่องให้ผู้เสียหายอื่นๆ ทางเราก็ดำเนินคดีต่อไป แต่ที่ตรวจสอบจากข้อมูลของปปง.ที่สืบพยานในศาลจะเห็นเส้นทางการยักย้ายถ่ายเทเงินค่อนข้างชัดเจน” หัวหน้าทีมทนายความอาสากล่าว
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าวว่า กรณีแคลิฟอร์เนียฯ ถือเป็นตัวอย่างของสังคมที่มีผู้บริโภคได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากและมาร้องเรียนถึง 639 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท และมูลนิธิฯได้ดำเนินการรวมกลุ่ม เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดพลังในการต่อสู้ ทั้งปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากผู้ประกอบการรายเดียวกันเพิ่มมากขึ้น และเป็นมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก เช่น กรณีซื้อรถยนต์ใหม่ชำรุดบกพร่อง การซื้อโครงการหมู่บ้านจัดสรร ฯลฯ ซึ่งกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558 ที่ผ่าน
“อยากเรียกร้องให้ทางหน่วยงานรัฐดูแลหรือยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีมาตรการที่เด็ดขาดมากขึ้น เร็วขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาและบรรเทาความเสียหายที่รวดเร็ว อย่างปัจจุบันก็เรื่องรถโดยสารสาธารณะที่เสียหายทั้งคัน แต่ปรากฏว่าคนที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหายบางทีตายไปแล้วยังไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายเลย” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าว
นอกจากนี้ หากผู้เสียหายท่านใดต้องการติดต่อเพื่อยื่นความจำนงในการเรียกร้องให้มีการเยียวยาความเสียหายสามารถดำเนินการได้ดังนี้
- เตรียมเอกสารหลักฐาน โดยเฉพาะใบเสร็จรับเงิน หรือสลิปบัตรเครดิตที่ชำระเงิน ฯลฯ
- เข้าไปดาวน์โหลดแบบฟอร์มยื่นความจำนงได้ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่เว็บไซต์ของ ปปง. หรือ
- สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เบอร์ 02-248-3737 เวลา 9.00-17.00 น. หรือที่ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ข่าวบทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:
{loadmudule related_items,Articles Related Itemes}|
Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , แคลิฟอร์เนีย ว้าว, ปปง., สภาทนายความ