อย่ายอม ! จ่ายค่าทำบัตรใหม่รถไฟฟ้าใต้ดิน
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวผ่าน Facebook Live ของมูลนิธิฯ เมื่อเย็นวันนี้ กรณีรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือ MRT ประกาศให้ผู้โดยสารนำบัตรโดยสารไปเปลี่ยนเป็นบัตรแบบใหม่ โดยจะงดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนบัตรจนถึงวันนี้ (30 มิ.ย.59) ซึ่งหลังจากนี้ นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.59 เป็นต้นไป หากผู้โดยสารต้องการเปลี่ยนบัตรใหม่ จะถูกหักค่ามัดจำบัตรเดิม 50 บาท และต้องชำระค่ามัดจำบัตรใหม่อีก 50 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 100 บาท ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
“ หากใครต้องทำบัตรใหม่ ขอแนะนำว่าอย่ายอม เหตุผลที่เราไม่ยอม คือ บัตรเดิมยังใช้งานได้อยู่ ” คุณสารีกล่าว
ส่วนประเด็นเรื่องบัตรชำรุดนั้น เลขาธิการฯ มพบ. ยกตัวอย่างเปรียบเทียบถึง บัตรเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ หรือ บัตร EASY PASS ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แม้บัตรจะงอ แต่ก็ยังสามารถใช้งานได้อยู่ ในขณะที่บัตรโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินนั้น หากมีการหลุดลอกบริเวณขอบพลาสติกจะถูกตีความเป็นบัตรชำรุดทันที เป็นเหตุให้ผู้บริโภคต้องเสียเงินค่ามัดจำบัตร 50 บาท ดังนั้น เราต้องไม่ยอมให้ BEM มาเอาเปรียบเราในฐานะผู้บริโภค
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ได้ทำจดหมายถึง 3 หน่วยงาน ได้แก่ BEM , คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยได้ยื่นหนังสือไปเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจาก คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ รฟม. ในรายละเอียดนั้นคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้ยื่นข้อเสนอต่อประธานกรรมการของ รฟม. ขอให้ยกเลิกการเปลี่ยนแปลงบัตร โดยที่ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งทาง คอบช. หวังว่าประธานกรรมการฯ จะยอมดำเนินการโดยไม่เรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค และขอให้ยกเลิกการผลักภาระให้กับผู้บริโภค โดยยกกรณีรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นตัวอย่าง
“ สำหรับ BEM เราเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงระบบบัตรไม่ควรยกให้เป็นภาระของผู้บริโภค และขอให้บริษัทฯ ทำตามเงื่อนไขในการโฆษณา และตีความกรณีบัตรชำรุดต้องให้เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ไม่ใช่แค่พลาสติกลอกเพียงเล็กน้อย แล้วบอกว่าเป็นบัตรชำรุด หรืออ้างว่าต้องเอาบัตรไปตรวจสอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ” คุณสารี กล่าว
พร้อมกับเล่าต่อว่าทาง BEM นั้นได้ตอบหนังสือกลับมาแล้ว โดยทางบริษัทฯ ยังยืนยันที่จะเปลี่ยนบัตร แต่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คิดว่ายังควรที่จะใช้บัตรเดิมได้อยู่ คือคนที่ใช้บัตรเดิมได้ ก็ควรที่จะใช้บัตรเดิม เพราะขณะนี้มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามากถึง 7 ล้านคน หากต้องเสียค่ามัดจำบัตรเก่า 50 บาท กับค่าทำบัตรใหม่อีก 50 บาท รวมเป็น 100 บาท ทางบริษัทฯ จะได้รับเงินไป 700 ล้านบาทโดยทันที ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับผู้บริโภค จึงยืนยันว่าไม่จำเป็นที่ผู้บริโภคต้องเสียค่าบริการ
“ ในหนังสือ ที่บริษัทฯ ตอบมาก็ไม่ได้สนใจถึงปัญหาของผู้บริโภคเลย บริษัทฯ กำลังแสวงหารายได้จากสิ่งที่บริษัทฯ ไม่ควรจะได้ ฉะนั้นทาง รฟม. ต้องลงไปกำกับดูแล เมื่อบีทีเอสจัดการได้ ทาง รฟม. ก็ต้องให้ BEM จัดการได้เหมือนกัน ไม่ใช่สร้างภาระให้กับผู้บริโภค” คุณสารีกล่าว พร้อมเน้นย้ำปิดท้ายว่า หากใครถูกเรียกเก็บเงินอย่ายอม สามารถพูดคุยกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ อย่ายอมให้กับการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการที่ไม่จำเป็น และหวังว่า รฟม. และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะมีท่าทีช่วยดูแลผู้บริโภคในกรณีนี้ ซึ่งผู้บริโภคเองก็ต้องช่วยกันพิทักษ์สิทธิของตนเอง อย่ายอมให้บริษัทกอบโกยผลกำไร โดยที่ไม่ได้ลงทุนอะไรเลย !
คลิกที่นี่เพื่อดูวิดีโอคลิปจาก
เฟสบุ๊คแฟนเพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค: https://www.facebook.com/fconsumerthai/videos/917273235062906/