2nd benefit

2nd benefit

ข้อเสนอการบริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยภาคีเครือข่ายภาคประชาชน

 

สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. จึงมีมติให้มีมาตรการผ่อนปรนการดำเนินกิจการและกิจกรรม เช่น ตลาด ร้านอาหาร กิจการค้าปลีก-ส่ง เป็นต้นตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา ส่งผลให้มีการเดินทางของประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล

ภาคีเครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ทุกคนเข้าถึงได้ ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจปัญหาและสถานการณ์ผู้ที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 1-8 พฤษภาคม 2563 โดยได้ทำแบบสอบถามกับผู้ที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ จำนวน 437 คน มีการสัมภาษณ์ผู้ที่ใช้บริการะบบขนส่งสาธารณะเป็นประจำ ทั้งโดยสารประจำทาง(รถเมล์) รถตู้โดยสาร รถสองแถว และเรือ นอกจากนี้อาสาสมัครได้สังเกตการณ์เพื่อเก็บข้อมูลการใช้บริการรถเมล์ 10 จุด ในชั่วโมงเร่งด่วน ช่วงเช้า และเย็นอีกด้วย

จากข้อมูลพบว่า ในช่วงที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เดินทางน้อยลงโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการ ส่วนคนที่เดินทางมีอายุระหว่าง 36-60 ปี มากที่สุด (ร้อยละ64.9) วัตถุประสงค์ของการเดินทางส่วนใหญ่คือไปทำงาน รองลงมาคือ การไปซื้ออาหารและของใช้จำเป็น ปัญหาที่พบมากที่สุดคือ การมีรถให้บริการไม่เพียงพอ และการที่ผู้ใช้บริการต้องรอนานกว่าในช่วงปกติ รองลงมาคือ การไม่สามารถเว้นระยะห่างจากผู้โดยสารคนอื่นได้เมื่ออยู่ในยานพาหนะนอกจากนี้พบว่าสำหรับคนที่ยังต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน มีการใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางเพิ่มขึ้นเนื่องจากกังวลเรื่องการรักษาระยะห่างในระบบขนส่งสาธารณะ และบริการขนส่งสาธารณะที่จำกัดทั้งจำนวนเที่ยวและจำนวนผู้โดยสาร

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์และการลงพื้นที่ยังพบว่า มีความกังวลในเรื่องการเว้นระยะห่างของผู้โดยสารอย่างยิ่ง เนื่องจากรถตู้แถบชานเมืองในช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้า มีการรับผู้โดยสารเต็มคันโดยไม่มีการให้เว้นที่นั่ง รถเมล์บางสาย บางคันในช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้า และช่วงเวลาใกล้ถึงคันสุดท้ายของวันจะมีผู้โดยสารจำนวนมาก ไม่สามารถจะเว้นระยะยืนห่างกัน 1-2 เมตรได้ส่วนรถเมล์ร่วมบริการของเอกชน พบว่ามีการรับคนโดยไม่คำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่างเช่นเดียวกับรถสองแถวโดยในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้าและเย็นจะมีผู้โดยสารนั่งและยืนเต็มคันทั้งนี้เนื่องมาจากผู้ให้บริการต้องการรายได้จากผู้โดยสารต่อเที่ยวให้มากที่สุดส่วนในกรณีของเรือโดยสาร พบว่าการขึ้น-ลงที่ท่าเรือยังไม่มีการเว้นระยะห่าง นอกจากนี้ ผู้โดยสารระบบขนส่งสาธารณะยังมีความกังวลต่อการทำความสะอาดยานพาหนะที่ใช้บริการ และพบว่ายังมีเจลแอลกอฮอล์ให้บริการไม่ทั่วถึง ตัวอย่างเช่น รถตู้โดยสารบางคันหลังจากส่งผู้โดยสารลงที่วินรถตู้แล้วรับผู้โดยสารขึ้นต่อเลยโดยไม่มีการทำความสะอาดรถก่อน ส่วนรถสองแถวไม่พบว่ามีการทำความสะอาดภายในตัวรถ และไม่มีเจลแอลกอฮอล์บริการ

ในขณะที่รัฐบาลกำลังเตรียมผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆระยะที่ 2ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 นี้ซึ่งจะทำให้กิจกรรมต่าง ๆของประชาชนเพิ่มมากขึ้น และจะทำให้มีประชาชนกลุ่มต่าง ๆ กลับมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ถึงแม้ว่าศบค.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการออกมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อรองรับรวมถึงมาตรการเชิงระบบ อาทิเช่น Work From Home การเหลื่อมเวลาทำงานในแต่ละเขตหรือพื้นที่ และการสลับวันทำงาน เพื่อลดจำนวนผู้ใช้บริการในระบบขนส่งสาธารณะในช่วงเวลาเดียวกันลง “เครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ทุกคนเข้าถึงได้” และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ยังมีความห่วงใยต่อการจัดการระบบขนส่งสาธารณะหลังจากมีการคลายมาตรการระยะที่ 2 ภาคีเครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ทุกคนเข้าถึงได้ จึงขอเสนอมาตรการต่อ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค.,กระทรวงคมนาคม,กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. ความปลอดภัย: ขอความร่วมมือผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทให้ปฏิบัติตามมาตรการคัดกรอง ควบคุม ป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ การตรวจคัดกรองอุณหภูมิของผู้โดยสาร การให้ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการในระบบทุกคนสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า การจัดให้มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์อย่างทั่วถึงการทำความสะอาดจุดสัมผัสต่าง ๆในยานพาหนะ การงดกินอาหารและพูดคุยในยานพาหนะ ไปจนถึงการออกมาตรการและจัดระบบ บริเวณ สถานี ป้ายรถ ท่าเรือ หรือจุดรอให้มีความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอให้มีมาตรการดูแลการเว้นระยะห่างและการจำกัดจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวบริการอย่างเข้มงวด และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการกำกับ ดูแล อย่างเคร่งครัดและมีบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม

2. ความเพียงพอ: ขอให้มีการจัดระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอและมีความถี่ที่สอดคล้องกับความต้องการใช้บริการโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้า และตอนเย็น โดยที่ยังคงมาตรการป้องกันโรคให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งรถโดยสารสาธารณะ รถไฟฟ้า รถตู้โดยสาร รถสองแถว เรือโดยสารและระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ และควรมีมาตรการอุดหนุนช่วยเหลือที่สมเหตุสมผลให้แก่ผู้ให้บริการภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการที่มีจำนวนผู้โดยสารลดลงต่อเที่ยวด้วย

3. ความทั่วถึงและครอบคลุม: ขอให้มีการจัดให้มีรถโดยสารประจำทาง และ/หรือมีการปรับเปลี่ยนแผนการเดินรถ ให้ครอบคลุมและทั่วถึงในแต่ละพื้นที่ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชานเมืองและในเส้นทางที่ผู้ให้บริการรถร่วมเอกชนได้ยุติการให้บริการลงเพราะวิกฤตโควิด-19

4. การให้บริการที่มีความเฉพาะกลุ่ม: ขอให้ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะมีมาตรการเฉพาะแก่กลุ่มผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจจำเป็นต้องสัมผัสใกล้ชิดกันและเพิ่มความเสี่ยงที่จะติดหรือแพร่เชื้อ เช่น คนพิการทางการเห็น คนพิการที่ใช้รถเข็น ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ เด็ก เป็นต้น เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามมาตรการเพื่อความปลอดภัยได้อย่างเท่าเทียมกัน

5. ราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรม: ขอให้รัฐบาลมีมาตรการลดราคาค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะลงเช่นเดียวกับค่าไฟฟ้าและประปา ซึ่งเป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชน นอกจากนี้ขอให้มีการส่งเสริมให้มีการใช้อี–ทิกเก็ต หรือระบบตั๋วร่วมของระบบขนส่งสาธารณะที่จะทำให้เกิดความสะดวกสบายในการเดินทางมากขึ้นและช่วยลดการสัมผัสเหรียญกษาปณ์ และธนบัตรในการชำระค่าโดยสารในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ทุกคนเข้าถึงได้
ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A)
ชุมชนคนรักรถเมล์
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม (สสป.)
สมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย
เครือข่ายสลัม 4 ภาค
มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.)
สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ
เครือข่ายพลังผู้สูงวัย
กลุ่มปั้นเมือง

Tags: รถโดยสารสาธารณะ, เครือข่ายภาคประชาชน