เครือข่ายผู้บริโภคจับมือผู้ประกอบการพัฒนารถโดยสารปลอดภัย
18 ส.ค.59 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค จัดเสวนา ความร่วมมือเครือข่ายผู้บริโภคกับผู้ประกอบการรถโดยสารสองชั้น โดยเชิญผู้ประกอบการเข้าร่วมหารือพัฒนาความปลอดภัย ณ โรงแรมทีเคพาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานสถานการณ์อุบัติเหตุรถโดยสาร ย้อนหลัง 3 ปีล่าสุด ปี 2557 เกิดอุบัติเหตุ 233 ครั้ง ปี 2558 เกิดอุบัติเหตุ 292 ครั้ง ปี 2559 (มค.- ก.ค.) เกิดอุบัติเหตุ 313 ครั้ง เมื่อแยกออกมาเฉพาะรถโดยสารสองชั้น พบกว่า ปี 2559 (7 เดือน) เกิดเหตุจำนวน 46 ครั้ง แบ่งออกเป็น รถประจำทางเกิดเหตุ 26 ครั้ง บาดเจ็บ 268 ราย ผู้เสียชีวิต 17 ราย และรถไม่ประจำทางเกิดเหตุ 20 ครั้ง บาดเจ็บ 329 ราย ผู้เสียชีวิต 10 ราย
โดยพื้นที่การเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสองชั้นนั้นแบ่งออกเป็น ภาคเหนือ 6 ครั้ง ภาคอีสาน 13 ครั้ง ภาคตะวันตก 5 ครั้ง ภาคกลาง 10 ครั้ง ภาคตะวันออก 4 ครั้ง และภาคใต้ 8 ครั้ง
“จำนวนรถโดยสารแยกตามมาตรฐานรถและประเภทการจดทะเบียน จดทะเบียนสะสม ณ วันที่ 30 เมษายน 2559 : กรมการขนส่งทางบก พบว่า รถประจำทาง 1,986 คัน ส่วนกลาง 1,058 คัน ส่วนภูมิภาค 928 คัน รถไม่ประจำทาง 5,213 คัน ส่วนกลาง 1,721 คัน ส่วนภูมิภาค 3,492 คัน จากสถิติทำให้เห็นว่ามีรถโดยสารสองชั้นวิ่งต่างจังหวัดจำนวนมาก” นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศกล่าว
ประเด็นการให้ข้อมูลกับผู้บริโภค เช่นการมีคู่มือแสดง “ข้อมูลที่เป็นประโยชน์” ต่อผู้บริโภคของผู้ประกอบการ เช่นชื่อพนักงานขับรถ หมายเลขรถ หมายเลขทะเบียนรถ ข้อมูลด้านประกันภัยของรถ สิทธิของผู้โดยสารสาธารณะ และมีความหลากหลายด้านภาษา เช่น ไทย – อังกฤษ – จีน มีสปอตเสียง หรือวีดีทัศน์ ในการใช้เข็มขัดนิรภัย และข้อกฎหมายที่ควรทราบแก่ผู้โดยสารทุกครั้งที่ให้บริการ ซึ่งต่อกรณีนี้ผู้ประกอบการสะท้อนว่าให้ข้อมูลกับผู้บริโภคแล้ว แต่บางครั้งผู้บริโภคยังไม่ตระหนักถึงความปลอดภัย อยากให้ทั้งภาครัฐให้ข้อมูลกับผู้บริโภคที่ตระหนักถึงความปลอดภัยร่วมกัน
ประเด็นการพัฒนามาตรฐานรถโดยสารสองชั้นให้ปลอดภัย ซึ่งแยกย่อยออกเป็น 3 เรื่องที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่อง
1. คนขับ ทางผู้ประกอบการขอให้ทางกรมการขนส่ง เปิดโรงเรียนสอนคนขับรถ เพื่อพัฒนาคุณภาพคนขับรถให้เหมือนกัปตันเครื่องบิน สร้างให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเกิดขึ้น ซึ่งทางผู้บริโภคเองได้เสนอให้ดูเรื่องสวัสดิภาพในหน้าที่การงาน ให้กับคนขับรถด้วย รวมถึงต้องอบรมให้ความรู้ตลอดเวลา หรือพัฒนาให้เป็นสถาบันวิชาชีพ
2. ความเร็ว มีการควบคุมในเรื่องของ GPS แล้ว โดยปลายปี 2559 รถโดยสารสองชั้นทุกคันต้องติด GPS ตามกฎหมายบังคับ
3. การทดสอบความลาดเอียง มีประเด็นแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ
นายเอนก มาอ่อง ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการขนส่งทั่วไป (สปข.) กล่าวว่า สมาคมยินดีสนับสนุนให้สมาชิกผู้ประกอบการไปทำการทดสอบความลาดเอียง เพื่อให้รถผ่านมาตรฐานทดสอบลาดเอียง แต่หากไม่ผ่านการทดสอบก็ขอให้วิศวกรผู้ตรวจชี้แจง เพื่อปรับปรุงรถให้ทดสอบผ่านต่อไป
อย่างไรก็ตามทางด้านผู้บริโภคเสนอทำสติ๊กเกอร์ติดรถที่ผ่านการทดสอบความลาดเอียง ประเด็นนี้จะร่วมหากันอีกครั้งว่าจะร่วมมือกับกรมการขนส่งอย่างไร ใช้สัญลักษณ์แบบไหน จะมาออกมาร่วมกันอีกครั้ง
ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า ทางภาควิชาการเอง ก็มีนักวิชาการที่ยินดีจะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเรื่องความลาดเอียงของรถโดยสาร ซึ่งนอกจากนี้ผู้ขับขี่เองก็มีบทบาทสำคัญ ต้องให้ความสำคัญในเรื่องของสมรรถภาพ และความมั่นคงในหน้าที่การงาน มีการฝึกอบรม และมีการดูแลด้านสวัสดิการ ซึ่งทางผู้ประกอบการควรต้องลงไปดูแลตรงสมาคมทางวิชาชีพนี้ด้วย
ประเด็นมาตรการการชดเชยเยียวยา มีข้อเสนอจากเครือข่ายผู้บริโภคว่าให้ผู้ประกอบการรถโดยสารทำประกันภัยภาคสมัครใจเพื่อเพิ่มความคุ้มครองให้กับผู้โดยสารให้มากขึ้น โดยผู้ประกอบการให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่าการทำประกันภัยภาคสมัครใจมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง จึงขอเสนอให้ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ช่วยเจรจาขอลดค่าใช้จ่ายในการทำประกันภัยภาคสมัครใจให้ต่ำกว่าปัจจุบันเพื่อที่จูงใจให้กับผู้ประกอบการทำประกันภัยดังกล่าว
นอกจากนี้ทางตัวแทนผู้ประกอบการยังแนะนำให้ผู้โดยสารซื้อประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล Personal Accident Insurance (PA) ทันทีที่ช่องจำหน่ายตั๋วในกรณีที่ต้องเดินทางโดยรถโดยสารกับบริษัทนั้นๆ
ประเด็นมาตรการการประกอบการรถโดยสาร การใช้สัญญารถเช่า กรณีรถโดยสารไม่ประจำทาง หรือรถทัศนาจรนั้น กลุ่มผู้บริโภคจะไปรณรงค์ให้ผู้บริโภคใช้สัญญาให้มากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการมีการใช้สัญญารับจ้างอยู่แล้ว ที่ประชุมจึงเสนอให้ทั้งสองฝ่าย ผลักดันให้มีการใช้สัญญาให้มากขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบและป้องกันการสวมรอยเอารถที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ปลอดภัยหรือด้อยคุณภาพกว่ามาให้บริการแทน
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าในปีนี้ทางมูลนิธิฯ ได้ร่วมกับไทยโรดส์ ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสองชั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องและพร้อมที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการดีเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค