การปรับโครงสร้างราคาแอลพีจี : ภารกิจเร่งด่วนของคสช.-พลังงานรอบทิศ
ระยะนี้มีนักข่าวถามผมมากว่า ถ้าให้เลือกได้หนึ่งข้อ อยากให้คสช.ทำอะไรมากที่สุดในเรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน
เรื่องนี้ผมตอบได้ทันทีเลยว่าอยากให้คสช.ทำเรื่องปรับโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจีก่อนเพื่อนเลย
เหตุผลก็คือ เรื่องโครงสร้างราคาแอลพีจีนั้น มันบิดเบือนกันมาเป็นเวลานานมากแล้ว และรัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมาแทนที่จะไปแก้กันที่ต้นตอ กลับไปผูกเงื่อนซ่อนปม ทำให้การแก้ปัญหามันยากขึ้นเรื่อย ๆ จนบานปลายกลายเป็นปัญหาที่แก้ได้ยากมากในทุกวันนี้
ที่แก้ได้ยาก เพราะวันนี้เกิดสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไม่พอใช้ และเกิดการแย่งชิงการใช้ทรัพยากรปิโตรเลียม (ก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซ ซึ่งผลิตจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย) ขึ้น ว่าใครจะเป็นผู้มีสิทธิได้ใช้ก่อนกัน ระหว่างประชาชนกับธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ภาคประชาชนก็บอกว่าต้องให้ประชาชนได้ใช้ก่อน เพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน ต้องให้คนไทยได้มีสิทธิเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของประเทศในราคาถูกหรือราคาที่เป็นธรรม
ในขณะที่ภาครัฐและผู้ประกอบการก็มองในแง่ของการบริหารทรัพยากรธรรมชาติของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด มีแต่จะหมดไป และจะหามาทดแทนได้ยากว่าจะต้องใช้ให้คุ้มค่า ให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยมองว่าการนำก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซไปใช้เป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาห กรรมปิโตรเคมีนั้น จะสามารถเพิ่มมูลค่าได้นับเป็นสิบเท่า ก่อให้เกิดการผลิตและอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย เกิดการจ้างงาน สามารถส่งออกสินค้าทำรายได้ให้กับประเทศ รัฐบาลเก็บภาษีได้มากมาย มูลค่าของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งระบบมากกว่า 5 แสนล้านบาท เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่คุ้มค่า ดีกว่าเอาไปเผาทำเป็นเชื้อเพลิงหลายเท่านัก
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความคิดฝ่ายใดจะถูกหรือจะผิด เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทรัพยากร ธรรมชาตินั้นมันมีค่าในตัวของมันเอง ถึงแม้มันจะเป็นของที่อยู่ในแผ่นดินหรือใต้ผืนทะเลของเราก็ตาม มันก็ไม่ใช่ของที่เราได้มาฟรี ๆ หรือจะเอามาถลุงเล่นให้มันหมดไปในยุคของเรา โดยตั้งราคาถูก ๆ เพื่อให้ใช้กันอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพและการประหยัด
ดังนั้นการตั้งราคาอย่างเหมาะสมตามต้นทุนที่แท้จริงและไม่มีการอุดหนุนราคาให้ต่ำจนเกินไป จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ทั้งในภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
กล่าวคือ ภาคประชาชน (ครัวเรือนและขนส่ง) ก็ต้องซื้อในราคาต้นทุนที่แท้จริงของโรงแยกก๊าซบวกกำไรที่เหมาะสม โดยไม่มีการอุดหนุนราคาจากกองทุนน้ำมันฯ
ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก็ต้องซื้อในราคาที่ยุติธรรมเช่นเดียวกัน โดยไม่เอาเปรียบภาคประชาชน เพราะถ้ายืนยันว่าสามารถนำก๊าซไปเพิ่มมูลค่าได้มากมาย ก็ควรต้องซื้อในราคาที่สูงกว่าที่ภาคประชาชนซื้อ
ส่วนการโต้เถียงว่าใครควรได้ใช้ก่อนใช้หลังนั้น ผมคิดว่าเราต่างเป็นคนไทยเหมือนกัน มีส่วนเป็นเจ้าของในทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเหมือนกัน ดังนั้นไม่ควรมีใครมีสิทธิในการครอบครองทรัพยากรธรรมชาติของประเทศแต่เพียงผู้เดียว แต่ควรมาแบ่งสันปันส่วนกันใช้เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันจะดีกว่า
ถ้าคิดได้อย่างนี้ ปัญหาข้อขัดแย้งในเรื่องนี้ก็จะลดลงครับ !!!.
ที่มา : เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี 26 มิถุนายน 2557 เวลา 00:00 น.