ตัวแทนชุมชน กทม. รวมตัวคัดค้านร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่
ตัวแทนชุมชนใน กทม. รวมตัวคัดค้านร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ เชื่อไม่สามารถแก้ไขปัญหาในปัจจุบันได้ และอาจะทำให้สถานการณ์แย่ลงอีกด้วย
วันที่ 24 พฤษภาคม 2562) นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) พร้อมด้วยตัวแทนจากชุมชนต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดโดยสำนักการวางแผนและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกทม. (ไทย-ญี่ปุ่น)
นางสาววรนันท์ วิวรกิจ ผู้เสียหายจากการก่อสร้างอาคารสูง ตัวแทนจากชุมชนมหาดเล็กหลวง 1-2 กล่าวว่า สาเหตุที่มารวมตัวกันคัดค้านผังเมืองฉบับใหม่ เนื่องจากมองว่าผังเมืองฉบับดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งปัญหารถติดในถนนสายย่อย น้ำท่วม ฝุ่นควัน และอื่นๆ ได้ ทั้งยังอาจก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นกว่าเดิมด้วย เช่น การอนุญาตให้ลดการบริการพื้นที่จอดรถในอาคารลง ซึ่งจะทำให้มีจำนวนรถยนต์ออกมาจอดในซอยมากขึ้น จากเดิมที่จอดรถในอาคารก็มีไม่เพียงพออยู่แล้ว
“พวกเราส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอาคารสูง จึงรับรู้ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยังเป็นผังเมืองเดิม หลายครั้งที่การก่อสร้างอาคารสูงไม่ได้สำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือต่อให้มีการทำก็เป็นการทำสิ่งแวดล้อมเท็จ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ ดังนั้นเราก็เลยต้องลุกขึ้นมาช่วยกันเอง มีการรวมตัวกันจากหลายๆ ชุมชนจนเป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ภาครัฐเห็นว่าประชาชนที่เดือดร้อนมีอยู่จริงและความเดือดร้อนนั้นกระจายไปเกือบทั่วหรืออาจจะทุกเขตของกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ ไม่ใช่ความเดือดเฉพาะกลุ่มอย่างที่เขาชอบพูดกัน" นางสาววรนันท์กล่าว
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บรฺโภค มพบ. กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์ฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน จากผู้เสียหายจากการก่อสร้างอาคารสูงเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่พบว่าการสร้างอาคารเหล่านี้ มักมีการกระทำผิดกฎหมายในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่ก่อนการก่อสร้าง ระหว่างดำเนินการ หรือแม้กระทั่งตอนเปิดใช้อาคาร ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่สามารถจัดการได้ อย่างกรณีของซอยร่วมฤดี ที่มีการฟ้องร้องกันมาเป็นสิบปี แม้จะมีคำสั่งจากศาลให้ทำการรื้อถอน แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถบังคับคดีได้ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะรัฐควรมีหน้าที่ปกป้องดูแลประชาชน อย่างกรณีการก่อสร้างอาคารสูง รัฐควรเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ต้น เช่นเป็นตัวกลางในก ารทำ EIA เพื่อให้ทราบปัญหาต่างๆ อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงหน่วยงานที่รับเรื่องเรียนแก้ไขปัญหาเท่านั้น เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจริงก็ไม่สามารถแก้ไขได้
ทั้งนี้ ตัวแทนจากชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ ได้มีข้อสังเกต คัดค้าน และเสนอแนะต่อการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ดังต่อไปนี้
1.คณะผู้ร่างมิได้นำเสนอการศึกษาผลกระทบและถอดบทเรียนผังเมืองเดิมปี 2556 อาทิ ข้อดี ข้อด้อย และปัญหาที่เกิดขึ้นจริงต่อคนเมืองกลุ่มต่างๆ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงผังเมืองฉบับใหม่
ทั้งนี้ เราได้รวบรวมปัญหาต่างๆ ที่ประสบกันอย่างกว้างขวาง พร้อมกรณีตัวอย่าง มาในเอกสารผนวกที่แนบมา อาทิ ปัญหาจราจรในถนนสายย่อย ปัญหาจำนวนรถยนต์ออกมาจอดในซอยเพราะที่จอดรถในอาคารอาศัยมีไม่เพียงพอ ซึ่งในผังเมืองฉบับใหม่ยังจะอนุญาตให้ลดการบริการพื้นที่จอดรถในอาคารลงไปอีก ทั้งที่อาคารขนาดใหญ่ควรมีที่จอดรถ 100% ปัญหาน้ำท่วมมากขึ้น ฯลฯ ทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาสะสมที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขก่อนการขยายความเจริญเติบโตในแนวทางเดิม ซึ่งมีแต่จะก่อปัญหาเพิ่มพูนซ้ำเติมและเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาที่เหมาะสม ขอเสนอว่าควรจัดทำ big data ข้อมูลเกี่ยวกับผังเมือง สิ่งแวดล้อม และการก่อสร้างอาคารว่าบริเวณไหนสามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ ให้เป็นข้อมูลที่ทุกคนเข้าถึงได้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบของสังคม อีกทั้ง ความหนาแน่นในเมืองชั้นในของผังเมืองฉบับใหม่
รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากความหนาแน่นในเมืองชั้นในของผังเมืองฉบับใหม่ ไม่มีการบริหารจัดการวิกฤติฝุ่นอันตรายทั้งประเภทพีเอ็ม 2.5 และพีเอ็ม 10 จากการก่อสร้าง จากควันรถยนต์ รวมทั้งอุตสาหกรรม
2.ในเชิงปฏิบัติ ข้อบังคับที่กำหนดไว้ในผังเมืองฉบับ พ.ศ.2556 กทม.ไม่มีการตรวจสอบและไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมาภิบาล ในการควบคุมทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ และไม่มีการติดตามประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน (โปรดดูรายละเอียดในภาคผนวก)
ในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างอาคารต่างๆ ก็ไม่มีการควบคุมและตรวจสอบ อาทิ ปล่อยรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งในถนนสายย่อย ซึ่งผิดตามข้อกำหนดผังเมืองเดิม
เนื่องจากปัจจุบันได้พบการกระทำผิดกฎหมายของผู้ประกอบการเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ออกเอกสารอนุญาต จึงขอให้มีบทกำหนดโทษชัดเจนกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ประพฤติมิชอบ ดังเช่น กรณีการก่อสร้างอาคารสูงของโรงแรมดิเอทัสในซอยร่วมฤดี ที่พบว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ออกใบอนุญาต แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกลับไม่ต้องรับผิดชอบ เป็นต้น
3.ระบบโครงสร้างพื้นฐานควรพัฒนาให้มีประสิทธิภาพก่อนการขยายและสนับสนุนการเจริญเติบโต เพื่อป้องกันการสร้างปัญหาต่อสังคม จึงขอให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับความหนาแน่นมากขึ้นของการอยู่อาศัยพื้นที่เขตเมืองชั้นใน และสามารถรองรับการขยายตัวไปชานเมืองตามมาตรฐานที่ผังเมืองรวมกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผัง พ.ศ.2518 พระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 มาตรา 17 (3) (ค) แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง และมาตรา 17 (3) (ง) แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค
4.กระบวนการร่างผังเมืองขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึงและพอเพียง เป็นการยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเปิดรับฟังในตอนท้าย ซึ่งขาดการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าให้รับรู้ได้ทั่วถึง
คนจนในเมืองและคนชั้นกลางจำนวนมากที่อาศัยในเมืองชั้นในจะถูกผลักดันให้ออกจากพื้นที่ทำมาหากินเดิมที่อยู่มาหลายชั่วคน เพราะที่ดินรัฐซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของพวกเขาจะถูกนำไปพัฒนา โดยพวกเขาไม่ได้ถูกนับรวมเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาดังกล่าวประชาชนผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมในที่ดินของบรรพบุรุษก็เช่นกัน การจัดการเปลี่ยนโซนสีการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ได้ดึงพวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการหารือและกำหนดร่างโซนผังเมือง ทั้งคณะผู้ร่างก็มิได้ชี้แจงถึงเกณฑ์การตัดสินกำหนดโซนสี อาทิ เหตุใดชุมชนสุขุมวิทซอย 28 และ ซอย 30 ซึ่งเป็นซอยตันขนาดเล็ก มีแต่บ้านเรือนดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่ จึงถูกเปลี่ยนสีจากโซนสีน้ำตาล (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) ไปเป็นสีแดง (พาณิชยกรรม) ในขณะที่พื้นที่อื่น เช่น ซอยทองหล่อ ซึ่งมีกิจกรรมการค้าค่อนข้างคึกคักยังคงเป็นสีน้ำตาล ผู้อยู่ในโซนแดงจะต้องรับภาระจากราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นการกดดันให้ย้ายออกไป จึงจำเป็นที่กระบวนการตัดสินใจต้องแสดงเหตุผลที่เหมาะสมและยุติธรรม
จึงขอให้มีกระบวนการหารือและทบทวน และให้หน่วยงานกำหนดเกณฑ์การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่ในการจัดทำผังเมืองดังกล่าว
5.ขอให้ทบทวนมาตรการสร้างแรงจูงใจให้โบนัสเอื้อประโยชน์โครงการอสังหาริมทรัพย์
ร่างผังเมืองฉบับ ใหม่เสนอมาตรการสนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างน้อยสองประการ ได้แก่ FAR bonus (Floor Area Ratio Bonus) และ TDR (Transfer Development Rights) ในขณะที่เราเห็นด้วยกับการมี TDR เพราะควรเป็นสิทธิพื้นฐานพึงมีส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่ FAR bonus เป็นมาตรการที่จำเป็นจะต้องพิจารณาและรับฟังข้อดีข้อเสียอย่างรอบด้าน และต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่รักษาพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะอื่นอันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมเช่นกัน จึงอาจสมควรพิจารณามาตรการสนับสนุนและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแนวอื่นประกอบด้วย อาทิ กฎหมายอนุรักษ์ต้นไม้ในเมืองตามที่มีการอภิปรายกันในประชาสังคม
ทั้งนี้ ตามระเบียบผังเมืองได้มีการกำหนด OSR (Open Space Ratio) และ BAF (Biotope Area Factor) แก่อาคารใหญ่ไว้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาพบว่าการสร้างอาคารสูงหรืออาคารใหญ่มิได้จัดทำ BAF ตามกำหนดเลย อาทิ การสำรวจพื้นที่ทุ่งพญาไทพบโครงการ 28 แห่งไม่ได้ทำ BAF และไม่มีต้นไม้ยืนต้นใดๆ ยิ่งกว่านั้น ในร่างผังเมืองฉบับใหม่นี้มีการกล่าวถึงเฉพาะ FAR และ OSR แต่ไม่ได้กล่าวถึง BAF เลย ซึ่ง BAF เป็นกฎระเบียบสำคัญในการดูแลสภาพแวดล้อมพื้นฐานของเมือง ให้น้ำสามารถซึมผ่านลงดินตามกลไกทางนิเวศได้
การเพิ่มมาตรการโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (Planned Unit Development : PUD) เป็น มาตรการ Bonus นั้น ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นมาตรการใหม่ ที่ยังไม่ได้มีการศึกษาแนวทางที่ดีและมีข้อกำหนดที่ชัดเจน เพราะจะทำให้ผังเปลี่ยนสีอัตโนมัติ โดยที่ไม่ปรากฏสีให้ประชาชนเห็น เช่น Developer มีพื้นที่ 100 ไร่ ในโซนเหลือง ย.4 (พื้นที่ประชาชนหนาแน่นน้อย) สามารถปรับขึ้นได้ 3 ระดับ เป็น ย.7 โซนส้ม สามารถสร้างที่อยู่อาศัยประเภทอาคารอยู่อาศัยรวม พื้นที่เกิน 10,000 ตร.ม โดยไม่มีการควบคุม
6.ยุทธศาสตร์และมาตรการรับมือน้ำท่วมและผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
เนื่องจากกรุงเทพมหานครกำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับโลก ร่างผังเมืองจำเป็นที่จะแสดงการศึกษาปัญหาเหล่านี้และนำเสนอแผนป้องกันและรับมือที่สอดรับกับระดับปัญหาดังกล่าว รวมถึงการถอดบทเรียนจากอุทกภัยปี 2554 และแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำครั้งนั้น พื้นที่รับน้ำที่แสดงในร่างผังเมืองฉบับใหม่ขาดการอธิบายถึงการศึกษาดังกล่าวและแนวทางรับมือกับภัยพิบัติ ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ สมควรที่จะมีการจัดกระบวนการหารือในวงกว้างร่วมกันหลายภาคส่วน รวมไปถึงแนวทางฟื้นฟูระบบเครือข่ายคลองที่หายไป ตลอดจนพื้นที่รับน้ำหลากน้ำบวมริมแม่น้ำ (river swelling)
7.แนวทางเลือกอื่นๆ ในการพัฒนาเมือง ควรได้รับการพิจารณาควบคู่ไปด้วย อาทิเช่น กระจายศูนย์เศรษฐกิจไม่ให้กระจุกตัวอยู่แต่ในโซนแดงกรุงเทพชั้นใน แต่ให้กระจายไปสู่ปริมณฑลจังหวัดข้างเคียง เป็นหลักการกระจายอำนาจ พร้อมกับบรรเทาความแออัด ปัญหาจราจร และลดความเหลื่อมล้ำ
การวางผังเมืองใหม่ยังควรแสดงให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมมาเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผน เพื่อสร้างความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสาร ทำธุรกรรม ลดการเดินทาง สร้างเครือข่ายให้กรุงเทพเป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) ตามที่อ้างถึง Thailand 4.0 และแผนปฏิรูป 20 ปี
Tags: องค์การอิสระ,