ผู้บริโภคห่วงผูกขาดตลาดยาและเมล็ดพันธ์พืชแน่ หากเข้าร่วม ‘TPP’
ผู้บริโภคเป็นห่วงหากเป็นสมาชิก TPP ทำให้เกิดการผูกขาดข้อมูลทางยา ตลาดยา รวมถึงขัดขวางการแข่งขันที่เป็นธรรม ด้านการเกษตรกรผูกขาดเมล็ดพันธุ์ เก็บเมล็ดพันธ์หรือปันเมล็ดพันธ์ยังผิดกฎหมาย และอาจทำให้ไทยต้องถูกบีบบังคับให้มีการปลูกพืช จีเอ็มโอ
13 ต.ค. สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและภาคีเครือข่าย ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิชีววิถี คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) จัดเวทีวิชาการ เรื่อง ประเทศไทยควรเข้าเป็นสมาชิก ‘ทีพีพี’ หรือไม่ ? ณ ห้อง กรกมล ชั้น 2 โรงแรมเดอะสุโกศล ถนน ศรีอยุธยา กรุงเทพฯ
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อระบบสาธารณสุขและการเข้าถึงยาในประเทศไทย จากการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Trans-Pacific Partnership: TPP) ว่า “ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) ซึ่งงานวิจัยในประเทศไทยซึ่ง โดยคำนวณจากปี พ.ศ. 2550 ที่เป็นปีที่ทำการศึกษา พบว่าในปีที่ห้า (พ.ศ. 2556) ถ้ามีการผูกขาดข้อมูลยา ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะสูงขึ้นอีก 81,356 ล้านบาท/ปี ซึ่งข้อเรียกร้องลักษณะนี้จะมีผลกระทบรุนแรงเสียยิ่งกว่าการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี ซึ่งมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นอีกเป็น 27,883 ล้านบาท/ปี อย่างไรก็ตามในกรณีการเข้า TPP นั้นผลกระทบจะรุนแรงกว่ามาก เพราะต้องให้ความคุ้มครองกับยาชีววัตถุซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มยาราคาแพง อาทิ ยารักษาโรคมะเร็งยาวนานถึง 8 ปี ซึ่งการศึกษาของสมาคมสาธารณสุขแห่งออสเตรเลียพบว่า จะทำให้ค่ายาของออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 205 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียต่อปีจากการคำนวณเพียงแค่มูลค่ายาชีววัตถุเพียง 10 รายการที่มีการใช้สูงสุดเท่านั้น”
ประธาน คอบช. เพิ่มเติมถึงผลกระทบจากการยอมให้มีการจดสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์เก่าที่มีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อยต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นการจดสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุด (Evergreening patent) จากรายงานการวิจัย เรื่อง สิทธิบัตรยาที่จัดเป็น Evergreening patent ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และกรมทรัพย์สินทางปัญญา พบว่า ในประเทศไทยมีคำขอสิทธิบัตรประเภทนี้มาถึงร้อยละ 84 ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการผูกขาดตลาดยาโดยเจ้าของสิทธิบัตรเป็นระยะเวลายาวนานเกินกว่าที่ควรจะส่งผลต่อการเข้าถึงยาของประชาชน รวมทั้งเป็นการขัดขวางการแข่งขันที่เป็นธรรมจากผู้ประกอบการในประเทศ โดยคำขอแบบ evergreening เช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการบริโภคยาและตลาดยาของประเทศ
“เฉพาะแค่รายการยาจำนวน 59 รายการที่มียอดการใช้สูงสุดที่นำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อค่าใช้จ่าย ด้านยา พบว่าเป็นคำขอรับสิทธิบัตรแบบ evergreening ที่ส่งผลให้มีการผูกขาดตลาด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 - 2571 คิดเป็นมูลค่าสะสมประมาณ 8,477.7 ล้านบาท และหากพิจารณาเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วคือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 – 2553 พบว่าประเทศไทยเสียโอกาสในการประหยัดงบประมาณไปแล้วถึง 1,177.6 ล้านบาท หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง หากกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องให้สิทธิบัตรกับคำขอรับสิทธิบัตรเหล่านี้ จะเป็นภาระค่าใช้จ่ายด้านยาได้ถึง 8,500 ล้านบาทโดยประมาณ” ประธาน คอบช.กล่าว
อนึ่งเนื้อหาการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership: TPP) เป็นความตกลงการค้าเสรีกรอบพหุภาคีที่มีการเปิดเสรีครอบคลุมประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง (comprehensive) และมีมาตรฐานสูง (high standard) มีการเจรจาครอบคลุมประเด็นหลักมากมาย รวมถึงประเด็นที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการสาธารณสุขและการเข้าถึงยาของประเทศภาคีสมาชิก ประกอบด้วยนั่นคือ
1. ประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) พบว่ามีข้อเรียกร้องให้ขยายความคุ้มครองในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะการขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรยา อาทิ
1.1 ให้ยกเลิกกระบวนการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร (Pre-grant Opposition)
1.2 มีการบังคับใช้กลไกทางกฎหมาย เช่น ให้มีการประเมินค่าเสียหายของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจากราคาขายปลีก (Retail Price) และให้ถือว่าสิทธิบัตรยังไม่หมดอายุจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์
1.3 ให้มีการผูกขาดข้อมูล (Data Exclusivity) ที่ใช้ในการขออนุญาตทางการตลาดเป็นเวลา 8 ปี สำหรับผลิตภัณฑ์ยาชีววัตถุ และ 10 ปี สำหรับสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร
1.4 ขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาออกไปจาก 20 ปีเพื่อชดเชยความล่าช้าของการจดสิทธิบัตร
1.5 ให้มีระบบการเชื่อมโยงสถานะสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยา (Patent Linkage)
1.6 ระบุสถานการณ์ ที่ ใช้ มาตรการบังคับใช้สิทธิ (CL) เฉพาะในกรณีโรคติดเชื้อ HIV/AIDS วัณโรค มาลาเรีย และโรคระบาดอื่นๆ หรือสถานการณ์เร่งด่วนหรือฉุกเฉินระดับประเทศเท่านั้น
1.7 ให้การนำเข้าซ้อนถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีข้อเรียกร้องที่เพิ่มเติมที่ไม่ปรากฏในข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้าฉบับอื่นๆ เช่น
1.8 การให้จดสิทธิบัตรในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ (Forms) หรือวิธีการใช้ (Uses) เพียงเล็กน้อย โดยไม่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพ (Efficacy)
1.9 โดยยอมให้มีการจดสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์เก่าที่มีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อยต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นการจดสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุด (Evergreening patent)
1.10 การจดสิทธิบัตรในแนวทางการวินิจฉัยโรค (Diagnostic) และวิธีการบำบัดรักษาโรคด้วยยาหรือ การผ่าตัด (Therapeutic and Surgical methods) ซึ่งขัดกับมาตรา 9(4) ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร
แม้ว่าจากเอกสารที่หลุดออกมาผ่าน wikileaks จะพบว่า มีหลายประเด็นผ่อนคลายลง อาทิ การใช้มาตรการเพื่อคุ้มครองด้านสาธารณสุขสามารถทำได้ แต่แทคติคในการยืดอายุการผูกขาดยาต้นแบบยังมีอยู่ครบ แม้จะมีการชะลอการบังคับใช้สำหรับบางประเทศก็ตาม
2. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการแข่งขันและการจัดซื้อจัด หาโดยรัฐ (Government Procurement and Competition Policy) พบว่าในการเจรจา TPP มีบทที่ว่าด้วย Transparency and Procedural Fairness for Healthcare Technologies ซึ่งได้จำกัดบทบาทของภาครัฐในการเจรจาต่อรองราคายา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ที่จะใช้ในระบบสุขภาพของประเทศ เพราะในข้อบทดังกล่าวจะบังคับให้ประเทศภาคีต้องมีระบบบริหารจัดการและระบบอุทธรณ์ให้กับบริษัทยาที่ไม่พอใจการกำหนดราคาจัดซื้อยาเข้ามาในระบบสุขภาพโดยยกข้ออ้างมูลค่าของยาที่ติดสิทธิบัตร และหากบริษัทยาไม่พอใจยังสามารถนำไปเป็นเหตุฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตามกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนได้ อย่างไรก็ตามบทนี้ยังไม่มีเอกสารหลุดออกมาจึงต้องติดตามเนื้อหา
ด้าน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ให้ความเห็นว่าวัตถุประสงค์ของการเข้าร่วม TPP ของสหรัฐฯ นั่นคือ การเปิดตลาด “การสร้างบรรทัดฐานทางการค้าที่มีมาตรฐานสูง (set high-standard trade rules) และนำเสนอประเด็นทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21” ซึ่งในทางปฏิบัติวัตถุประสงค์ดังกล่าวคือการบรรจุความตกลงที่เกี่ยวกับการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตร และการเปิดเสรีสินค้าและบริการที่สหรัฐฯเป็นผู้นำเช่น จีเอ็มโอ และผลิตภัณฑ์อาหารดัดแปลงพันธุกรรม ที่หลายประเทศไม่ยอมรับ
“การเข้าร่วม TPP จะเกิดผลกระทบต่อประเทศไทยในประเด็นที่เกี่ยวกับภาคเกษตรกรรมและทรัพยากรชีวภาพใน 2 ประเด็นสำคัญคือ 1) การขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิต (patent on life) และการยอมรับระบบกฎหมายพันธุ์พืช UPOV1991 ประเทศไทยจะต้องแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร และกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ซึ่งจะส่งผลให้บรรษัทข้ามชาติสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพโดยไม่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ การเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อหรือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านจะกลายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การผูกขาดเมล็ดพันธุ์จะขยายจาก 12 ปี เป็น 20 ปี เมล็ดพันธุ์จะมีราคาแพงขึ้นตั้งแต่ 2-6 เท่าตัวเป็นอย่างน้อย จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจโดย BIOTHAI และเครือข่ายวิชาการด้านทรัพยากรชีวภาพพบว่า ผลกระทบของระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานของสหรัฐฯจะทำให้
- เมล็ดพันธุ์มีราคาแพงเพิ่มขึ้น จาก 28,542 ล้านบาท/ปี เป็น 80,721-142,932 หรือเพิ่มขึ้น 52,179-114,390 ล้านบาท/ปี
- การสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการไม่ได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10,740 – 48,928 ล้านบาท/ปี
- ผลกระทบระยะยาวจากการถูกกีดกันการพัฒนายาสมัยใหม่สมัยใหม่ที่มาจากสมุนไพรซึ่งมี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 59,798 ล้านบาท/ปี รวมมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 122,717-223,116 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและการสูญเสียอธิปไตยเหนือทรัพยากรซึ่งไม่อาจประเมินมูลค่าได้
2) การถูกบีบบังคับให้ยอมรับพืช จีเอ็มโอและมาตรการปกป้องผู้บริโภคเกี่ยวกับฉลากอาหารดัดแปรพันธุกรรม
การเข้าร่วมเป็นภาคีใน TPP อาจทำให้ไทยต้องถูกบีบบังคับให้มีการปลูกพืช จีเอ็มโอ และอาจต้องยกเลิกการติดฉลากหรือมาตรการอื่นๆที่เป็นการปกป้องสิทธิผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารดัดแปรพันธุกรรม ทั้งๆที่กระแสผู้บริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มต่อต้านพืชและผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ดังที่เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สกอตแลนด์ เวลส์ และประเทศต่างๆในอียูรวมกัน 16 ประเทศประกาศแบนพืชจีเอ็มโอเมื่อเร็วๆนี้ เช่นเดียวกับรัสเซีย นอรเวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น”
นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าการอนุญาตให้ปลูกพืช จีเอ็มโอ จะทำให้ระบบเกษตรกรรมของประเทศไทยต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากบรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติสหรัฐ เกิดปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับทรัพยากรชีวภาพซึ่งเป็นรากฐานของระบบเกษตรกรรมและอาหารในอนาคต
“การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในเรื่องความปลอดภัยทางอาหารจะยิ่งเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมกำลังหดแคบลง ไม่เฉพาะในยุโรปเท่านั้น แต่รวมถึงตลาดสหรัฐเองด้วย เนื่องจากผู้บริโภคอเมริกันมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ปฏิเสธผลิตภัณฑ์ที่มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม” นายวิฑูรย์กล่าว
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่าขณะนี้รัฐบาลเป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราวจึงไม่ควรเข้าไปเจรจาผูกมัดประเทศชาติ แต่ควรทำหน้าที่สนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบเกี่ยวกับการ เจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ดี และเปิดโอกาสให้ประเทศไทยมีบรรยากาศประชาธิปไตยเต็มที่ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์นำเสนอข้อมูลต่อสังคม ไม่ใช่เป็นดังเช่นในปัจจุบันที่มีแต่นักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศคอยให้ ข้อมูลแก่รัฐบาลเท่านั้น
และที่สำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน นั้น ขอให้ร่างมาตราที่เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศไม่แย่ไปกว่ามาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และไม่ควรเดินตามรอยร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ตกไป ที่นิยามหนังสือสัญญาไม่นับรวมสัญญาเงินกู้ ซึ่งส่วนใหญ่สัญญาเหล่านี้มีเงื่อนไขบังคับประเทศ, ไม่นับรวมการคุ้มครองการลงทุน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ และไปอ้างอิงแค่ความตกลงใน WTO ซึ่งมีความตกลงน้อยลงทุกที
"กรอบการเจรจาผ่านการพิจารณาแค่ระดับคณะกรรมาธิการต่างประเทศ ไม่ใช่รัฐสภาดังที่เคยเป็นตามรัฐธรรมนูญ 2550 และยังไม่มีการรับฟังเสียงของประชาชนก่อนลงนามผูกพัน หากเป็นเช่นนี้โอกาสที่จะพิจารณาให้เกิดความรอบคอบไม่สามารถเกิดขึ้นได้" นางสาวกรรณิการ์กล่าว
ข่าวบทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:
|
Tags: คอบช. , ยา , สิทธิบัตร, FTA Watch, TPP, กรรณิการ์ กิจติเวชกุล, จิราพร ลิ้มปานานนท์, วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ, มูลนิธิชีววิถี, การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก, ผูกขาด, เมล็ดพันธุ์