ทำอย่างไร เมื่อบัตรเครดิตหาย – ถูกขโมยใช้จ่ายออนไลน์
บัตรเครดิตเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้คนจำนวนไม่น้อย ด้วยวงเงินเครดิตที่สามารถใช้แทนเงินสดได้เกือบทั่วโลก ทั้งยังสามารถใช้ผ่อนชำระสินค้าหรือบริการแบบรายเดือน โดยปลอดดอกเบี้ยนานสูงสุดถึง 10 เดือน หรือใช้จ่ายค่าสินค้าออนไลน์ก็ง่าย ยังไม่รวมสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น เครดิตเงินคืน ส่วนลด รวมไปถึงโปรโมชั่นต่าง ๆ อีกมากมาย
อย่างไรก็ตาม แม้บัตรเครดิตจะเพิ่มอำนาจการจับจ่ายใช้สอยและความสะดวกสบายให้ผู้เป็นเจ้าของ แต่หากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง หรือ ขาดวินัยทางการเงิน ก็อาจหลุดเข้าสู่วงจรหนี้ได้ง่ายๆ นอกเหนือจากภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องควบคุมดูแลแล้ว ความปลอดภัยในการใช้ โดยเฉพาะบัตรเครดิตที่มีวงเงินสูงๆ หากสูญหาย หรือ อยู่ดี ๆ ก็ถูกขโมยใช้ซื้อของออนไลน์ ทั้ง ๆ ที่บัตรก็ยังอยู่กับตัว หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดแบบนี้ ผู้บริโภคทราบหรือไม่ว่า ต้องทำอย่างไร
การจัดการปัญหาเบื้องต้น
หากผู้บริโภคทำบัตรเครดิตหาย หรือ ถูกขโมย หรือ ถูกนำเลขบัตรเครดิตไปใช้ สามารถจัดการปัญหาเบื้องต้นได้ดังนี้
1. แจ้งอายัดบัตรเครดิตทันทีเมื่อรู้ตัวว่าบัตรหาย โดยสามารถแจ้งผ่านคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ของธนาคารหรือสถาบันการเงินเจ้าของบัตร ซึ่งเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์จะส่งแบบฟอร์มเอกสารร้องเรียนและปฏิเสธการจ่ายให้กรอกข้อมูล ให้ผู้บริโภครีบดำเนินการทันที
(ปัจจุบันแอปพลิเคชันบัตรเครดิตของสถาบันการเงินบางแห่ง มีตัวเลือกให้ผู้บริโภคสามารถระงับการใช้งานบัตรชั่วคราวเองได้ (Lock & Unlock Credit Card) หากเป็นทางเลือกที่ง่ายและรวดเร็ว ผู้บริโภคอาจเลือกระงับการใช้งานบัตรผ่านแอปฯ ก่อน แล้วจึงโทรแจ้งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกขโมยใช้งาน)
2. แจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าบัตรเครดิตหาย หายเมื่อไหร่ หายที่ไหน
3. ตรวจสอบรายการเรียกเก็บเงินในใบแจ้งหนี้ ว่ามีรายการธุรกรรมที่ผู้บริโภคไม่ได้เป็นผู้ใช้หรือไม่ ถ้าไม่มีการเรียกเก็บเงิน เรื่องยุติ แต่ถ้ามีการเรียกเก็บเงินรายการแปลกๆ ให้ผู้บริโภคดำเนินการดังต่อไปนี้
3.1) ทำหนังสือปฏิเสธรายการเรียกเก็บเ
เงินที่ผู้บริโภคไม่ได้ใช้ และแนบสำเนาใบลงบันทึกประจำวัน ส่งไปยังธนาคารหรือสถาบันการเงินเจ้าของบัตร ณ สำนักงานใหญ่ โดยส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ถึง ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ ตำแหน่งอื่นๆ ที่เทียบเท่า
3.2) เก็บเอกสารทั้งหมดไว้เป็นหลักฐาน
3.3) ชำระหนี้บัตรเครดิตตามรายการที่ได้ใช้จ่ายจริง ยกเว้นหนี้ที่เกิดจากบัตรสูญหายหรือถูกขโมย เช่น ผู้บริโภคใช้บัตรเครดิตตามจริง 5,000 บาท แต่ถูกขโมยใช้ 10,000 บาท ก็ชำระหนี้ในส่วนที่ผู้บริโภคใช้จริง คือ 5,000 บาท
3.4) ทุกครั้งที่ธนาคารแจ้งให้ชำระหนี้รายการที่ไม่ได้ใช้งานจริง ให้ทำหนังสือแจ้งปฏิเสธรายการที่ไม่ได้ใช้ทุกครั้ง
3.5) ถ้าถูกฟ้องคดี ต้องสู้คดี ให้เตรียมตัวในการสู้คดีด้วย อย่าละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจมีคำพิพากษาให้ท่านชำระเงินได้ หากท่านไม่สู้คดี
เอกสารที่ต้องเก็บเป็นหลักฐาน
1. สำเนาหนังสือปฏิเสธรายการใช้บัตรเครดิต หรือ หนังสือทักท้วงการใช้บัตรเครดิต
2. สำเนาภาพถ่ายบัตรเครดิตใบที่เกิดปัญหา (ถ้ามี)
3. ใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต (ถ้ามี)
4. ใบไปรษณีย์ตอบรับ
5. เอกสารที่ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน
9 เทคนิคใช้บัตรเครดิตให้ปลอดภัย
1) บันทึกเบอร์ Call Center แจ้งอายัดบัตรเครดิตเอาไว้ในโทรศัพท์ หรือ จดไว้ในที่ค้นหาง่าย
2) อย่าปล่อยให้บัตรคลาดสายตา หากต้องส่งบัตรเครดิตให้พนักงานจ่ายค่าสินค้า
3) ใช้สติ๊กเกอร์ปิดทับเลขรหัส 3 ตัว หลังบัตร (CVV Number) (ควรปิดให้แน่นหนา เพื่อไม่ให้สติ๊กเกอร์เข้าไปติดในเครื่องรูดบัตร) หรือ หากท่านไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายออนไลน์ให้ขูดเลขรหัสทิ้ง
4) ไม่ควรเปิดเผยชุดตัวเลขหน้าบัตร และ รหัส CVV ให้บุคคลอื่นทราบ โดยไม่จำเป็น
5) หากต้องใช้บัตรฯ ชำระค่าสินค้าหรือบริการออนไลน์ ควรทำรายการด้วยตนเอง
6) เลือกทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านบัตรฯ กับ เว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น เช่น เว็บไซต์ที่มีการใช้รหัสผ่านครั้งเดียว OTP (One-Time Password) ในขั้นตอนการชำระเงิน
7) ควรเลือกบัตรเครดิตใบใดใบหนึ่งไว้สำหรับใช้จ่ายออนไลน์เพียงใบเดียว และควรเป็นใบที่มีวงเงินเครดิตน้อยที่สุด
8) สมัครรับบริการแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อมีการใช้บัตร เช่น SMS , Line connect หรือ ติดตั้งแอปพลิเคชั่นจากสถาบันการเงินเจ้าของบัตรเครดิต ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการแจ้งเตือนทันทีเมื่อมีการใช้งานบัตรเครดิต รวมถึง สมัครบริการ Verified by Visa (สำหรับบัตรเครดิตวีซ่า) หรือ MasterCard SecureCode (สำหรับบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ด)
9) ตรวจสอบใบแจ้งหนี้ก่อนชำระหนี้ทุกครั้ง หากมีรายการเรียกเก็บที่ไม่ได้ใช้ ต้องรีบแจ้งกับบริษัทบัตรเครดิตทันที
ทั้งนี้ หากท่านได้รับจดหมายทวงถามหนี้ หรือ ถูกฟ้องคดี ให้รีบติดต่อมาขอคำแนะนำในการแก้ไขปัญหา โปรดอย่าปล่อยเอาไว้จนใกล้ถึงวันขึ้นศาล เพราะหากยิ่งปล่อยเอาไว้นาน ปัญหาก็อาจแก้ไขยากมากขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก www.consumerthai.org
Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , คู่มือผู้บริโภค