หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เกิดแล้วจัดการอย่างไร
ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เร่งสร้างผลกำไรจากดอกเบี้ย ด้วยวิธีการใช้แพ็คเกจ แบบคู่ คือ ชักชวนให้ประชาชนสมัครใช้บริการบัตรเครดิตแถมบัตรกดเงินสดมาด้วย เป็นการเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคเข้าถึงการเป็นหนี้ได้ง่ายขึ้น เพราะเสมือนมีเงินอยู่ในมือการตัดสินใจซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นหรือการใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือยจึงง่ายขึ้น ประกอบกับหากมีบัตรเครดิตบ้างแล้วยังถูกชักชวนให้สมัครเพิ่มอีก ทำให้ประชาชนอยู่ในวังวนของการเป็น “หนี้” โดยไม่รู้ตัว เมื่อไม่สามารถชำระขั้นต่ำได้ จะใช้วิธีหมุนเงินจากบัตรโน้นมาชำระบัตรนี้ จนเต็มวงเงิน เครียดจนไม่มีทางออก มีหนี้มากมายจนจ่ายไม่ไหว ทำอย่างไร วันนี้เรามีคำแนะนำการจัดการหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ตรงใจมาฝากค่ะ
ขั้นตอนแรก เริ่มจาก “หยุด”
หยุดจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ เพราะการจ่ายขั้นต่ำแสดงว่ามีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
หยุดก่อหนี้เพิ่ม จากการสร้างหนี้ใหม่มาจ่ายหนี้เก่า
หยุดการหมุนเงินจากบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
หยุดการใช้จ่ายสิ่งของฟุ่มเฟือย
ขั้นตอนสอง “การสำรวจ”
= สำรวจเงินในกระเป๋าตัวเอง ด้วยการ ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย จะทำให้ทราบว่าในแต่ละเดือนใช้จ่ายตามความจำเป็น หรือ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพื่อให้สามารถนำเงินที่เหลือไปจัดการหนี้ได้
= สำรวจหนี้สินของตัวเอง ด้วยการทำตารางหนี้สินทั้งหมดเริ่มตั้งแต่น้อยที่สุดไปหามากที่สุด เก็บเอกสารการชำระหนี้ (ลูกหนี้มีสิทธิต่อสู้คดีหากถูกฟ้องอย่างไม่เป็นธรรม)
= สำรวจทรัพย์สินที่ตัวเองมีและเป็นเจ้าของ เช่น บ้าน รถยนต์ ที่ดิน ฯลฯ
= สำรวจหาข้อมูล การแก้ไขปัญหาหนี้สิน
ขั้นตอนที่สาม “การจัดการหนี้สิน” อาจทำได้หลายวิธีดังนี้
1. การจ่ายขั้นต่ำ - วิธีนี้ใช้ได้กับผู้ที่มีหนี้สินไม่มาก สามารถนำรายได้ของตนเองมาชำระหนี้ได้โดยไม่เดือดร้อน ยังมีเงินพอใช้ตลอดเดือน โดยไม่ต้องหมุนเงิน หรือก่อหนี้รายใหม่
ข้อดีของวิธีการจ่ายแบบนี้ คือ ไม่ถูกทวงหนี้ ,ไม่ติดแบล็คลิสต์ และไม่เสียเครดิต
ข้อเสีย คือ หนี้หมดช้า ใช้เวลานานกว่าจะชำระหนี้หมด และไม่สามารถปิดบัญชีได้ หากยังกดเงินออกมาใช้อีก
2. การหยุดจ่ายหนี้ทุกบัญชี เพื่อเก็บเงินก้อนปิดบัญชีหนี้ทีละราย หรือด้วยการเจรจากับเจ้าหนี้ – วิธีนี้ใช้สำหรับคนที่มีรายจ่ายและหนี้สินมากกว่ารายได้ เริ่มหมุนเงิน เริ่มสร้างหนี้ใหม่เพื่อมาจ่ายหนี้เก่า
ข้อดี คือ สามารถปิดหนี้ทีละบัญชี เพื่อลดภาระเรื่องดอกเบี้ย เกิดวินัยทางการออมเพื่อเก็บเงินชำจ่ายหนี้
ข้อเสีย คือ ถูกติดตามทวงถามหนี้, เสียเครดิต, ติดแบล็คลิสต์ อาจถูกฟ้องคดี บังคับอายัดเงินเดือนและยึดทรัพย์สิน หรือหากลูกหนี้หยุดจ่ายบางราย อาจทำให้ไม่สามารถเก็บเงินได้หรือการจ่ายๆ หยุดๆ (จ่ายหยอดเพราะกลัวติดแบล็คลิสต์หรือตามที่เจ้าหนี้ทวงถาม) ยิ่งทำให้ยอดหนี้เพิ่มขึ้น
สิ่งที่ควรทำเมื่อหยุดจ่ายหนี้ คือเก็บเอกสาร หลักฐานยอดหนี้ครั้งสุดท้าย พร้อมทำตารางแสดงรายการหนี้สินทุกรายการเก็บไว้ (เพื่อประโยชน์ในการต่อสู้คดีหากถูกฟ้องไม่เป็นธรรม)
3. การนำทรัพย์สินที่มีออกขาย เพื่อนำเงินก้อนมาปิดบัญชีหนี้ (กรณีมีทรัพย์สิน)- สำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินเช่นบ้าน รถยนต์ ที่ดิน ฯลฯ ไม่เป็นการดีหากมีทรัพย์และมีหนี้สินไปพร้อมกัน เนื่องจากเจ้าหนี้สามารถฟ้องคดีเพื่อยืดทรัพย์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ได้
ข้อดี คือ มีเงินเพื่อเจรจาปิดบัญชีหนี้ครั้งเดียวได้ทั้งหมด หากทรัพย์สินนั้นที่มีมูลค่ามากกว่าหนี้ ,หยุดการฟ้องคดี , ไม่ติดแบล็คลิสต์, ไม่เสียเครดิต
ข้อเสีย คือ การขายทรัพย์สินต้องใช้ระยะเวลาการดำเนินการขายทรัพย์ควรทำตั้งแต่เริ่มมีหนี้สินมากกว่ารายได้
4. การแฮร์คัท (HAIR CUT) คือ คือการ ลดยอดหนี้ ที่ค้างชําระ ในกรณีที่หนี้ นั้นไม่ก่อให้เกิดรายได้แล้ว หรือที่เรียกกันว่า “หนี้เน่า” แล้วนั่นเอง ทําได้หลังจากที่มีการค้างชําระมาเป็น เวลานานๆ ซึ่งสถานะทางบัญชีก็จะมีการเปลี่ยนจาก “สถานะปกติ” ไปเป็น “สถานะมีหนี้ค้างชำระ”
การแฮร์คัททําได้เมื่อไหร่ ? ทำอย่างไร
>> ทำแฮร์คัทได้ตลอด
>> มีเงินก้อนในมือแล้วเท่านั้น
>> ตรวจสอบยอดหนี้ ณ วันที่ หยุดจ่ายเทียบกับยอดหนี้ค้างชําระ ณ ปัจจุบัน เพื่อนํายอดหนี้ดังกล่าวไปเป็นข้อมูลในการเจรจาต่อรอง
>> เจรจาต่อรองขอส่วนลด จากมูลหนี้ที่ค้างชําระ ณ ปัจจุบัน การเจรจาให้ยึดตามจํานวนเงินที่เรามีเท่านั้น
>> เมื่อตกลงยอดที่ต้องการได้แล้ว ให้สถาบันการเงินหรือ สนง.กม. ออกใบยืนยันส่วนลดหนี้ ส่งมาให้เป็นหลักฐาน
สิ่งที่ต้องเจอเมื่อหยุดชำระหนี้
การติดตามทวงถามหนี้แบบโหดๆ ได้แก่
- ทวงหนี้แบบไม่สุภาพ พูดจาหยาบคาย
- ทวงหนี้กับคนที่มีชื่ออ้างอิงในตอนสมัคร หรือตอนทําสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้
- ทวงหนี้กับพ่อแม่ ญาติพี่น้องที่ต่างจังหวัด
- ทวงหนี้โดยฝากคําพูดกับผู้รับโทรศัพท์เวลาลูกหนี้ไม่อยู่ที่ทํางาน
- ส่งแฟกซ์เข้าที่ทํางานประจานให้คนอื่นเห็น และส่งวันหนึ่งหลาย ๆ ครั้ง จนคุณถูกเจ้านายเรียกไปตักเตือน
- ส่งไปรษณียบัตรไปที่บ้าน
- ส่งจดหมายข่มขู่สารพัด จากบริษัทตัวแทนสถาบันการเงินต่าง ๆ มีการทําจดหมายเลียนแบบศาล ทําให้ลูกหนี้เข้าใจว่าเป็น คําสั่งศาล และขู่ว่าคุณจะโดนอายัดเงินเดือน ขู่ว่าจะฟ้องเจ้า นาย ขู่ว่าคุณจะถูกดําเนินคดีอย่างร้ายแรงภายใน3 วัน 7 วัน
- ทวงหนี้ทั้งวัน จนไม่สามารถทำงานได้
วิธีการรับมือทวงหนี้แบบโหดๆ
- ตั้งสติ ทําจิตใจให้เข้มแข็ง คุณเป็นหนี้ก็จริงแต่พนักงานทวงหนี้ ไม่มีสิทธิ์ พูดจาก้าวร้าว ข่มขู่ หรือจาบจ้วงคุณด้วยถ้อยคําหยาบคาย
- ถามชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ จากสํานักงานทวงหนี้ไหน เขาทวงหนี้ให้ สถาบันการเงินใด เพราะหากเขาละเมิดสิทธิ คุณจะได้ใช้เป็นหลักฐาน ในการแจ้งความได้ หากเขาไม่ยอมบอกก็ไม่ควรคุยด้วยอีกต่อไป
- หากอ้างว่าเป็นทนายความควรถามชื่อ นามสกุล เลขที่ใบอนุญาต ให้เป็นทนาย เพื่อร้องเรียนสภาทนายความ กรณีผิดมารยาททนาย
- เป็นสิทธิของคุณที่จะไม่ตอบคําถาม ในสิ่งที่คุณไม่ต้องการจะตอบ พนักงานทวงหนี้ไม่มีสิทธิ บังคับให้คุณต้องพูด
- การทวงหนี้ด้วยวิธีก้าวร้าวหรือจงใจฝากทวงเช่น พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อนร่วมงานทําให้เสื่อมเสียชื่อเสียงให้ได้รับความอับอาย เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท[1]
- ข่มขู่ให้กลัว เช่น สั่งให้หาเงินมาจ่ายภายในวันนี้ เวลานี้ ไม่เช่นนั้นจะดําเนินการ...ฯลฯ[2]
- เก็บหลักฐานทุกชิ้นที่สํานักงานทวงหนี้ส่งถึงคุณ และหากเป็นไปได้อัดเสียงการทวงหนี้ที่ละเมิดสิทธิคุณ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
- พนักงานทวงหนี้ไม่มีสิทธิ มาพบคุณทั้งที่ทํางานและที่บ้าน โดยที่คุณไม่อนุญาต หากเขาละเมิดด้วยการบุกเข้าไป ก็มี ความผิดฐานบุกรุก สามารถแจ้งตํารวจจับข้อบุกรุกได้เลย เพราะที่ทํางานและที่ยู่อาศัย เป็นพื้นที่ส่วนบุคคล
- เมื่อเจอกับการทวงหนี้แบบละเมิดหรือผิดกฎหมาย ควรไปแจ้งความสถานีตํารวจใกล้บ้านหรือที่ทํางาน
- ทั้งแนบสําเนาใบแจ้งความ ส่งถึงกรรมการบริษัท/ธนาคารพาณิชย์ สําเนาถึงธนาคารแห่งประเทศไทย, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อร้องเรียนพฤติกรรมพนักงานติดตามหนี้
การถูกฟ้องคดี ติดคุกมั๊ย ?
ไม่ติดคุก (เป็นคดีทางแพ่ง)
>> ข้อดี
- ลูกหนี้จะได้รับความเป็นธรรม ศาลจะช่วยดูเรื่องดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมที่ผิดกฎหมายให้ หรือสามารถต่อสู้คดีได้ หากผู้ประกอบการคิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมที่ผิดกฎหมายหรือ หากคดีนั้นขาดอายุความ
- กว่าจะฟ้องลูกหนี้มีเวลาหายใจ เพื่อเก็บเงินก้อนเจรจาปิดบัญชี
- ลูกหนี้ที่ไม่มีทรัพย์สินใดๆ มีแต่เงินเดือน อาจปล่อยให้กระบวนการทางคดี ไปถึงการอายัดเงินเดือน เพราะเจ้าหนี้ทำได้เพียงอายัดตามกฎหมายกำหนด (ดูข้อมูลหลักการอายัด)
>> ข้อเสีย หากลูกหนี้ที่มีทรัพย์สิน กระบวนการทางคดีทำได้ทั้งอายัดเงิน และยึดทรัพย์ (ดูข้อมูลหลักการยึดทรัพย์) แต่สิ่งที่ลูกหนี้ต้องทราบหากต้องปล่อยให้เจ้าหนี้ฟ้องคดี
>> จำนวนหนี้ที่ตัวเองยังค้างชำระ เพราะเจ้าหนี้อาจลักไก่ฟ้องดคีอย่างไม่เป็นธรรม เช่น นำเอายอดหนี้รวมดอกเบี้ย ค่าติดตามทวงถาม ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับหนี้ (อาจเป็นค่าใช้จ่ายที่ผิดกฎหมาย) มาเป็นตั้งเป็นต้นเงินในการฟ้องคดี ลูกหนี้ไม่ทราบ ไม่ต่อสู้ อาจไม่ได้รับความเป็นธรรม (ต้องเก็บหลักฐานไว้สู้)
>> อายุความของหนี้ เรามีวิธีการนับอายุความ คือ จะเริ่มนับต่อจากชำระหนี้ครั้งสุดท้าย เช่น ลูกหนี้จ่ายหนี้ทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน ต่อมาวันที่ 1 ของเดือนมกราคม ลูกหนี้ชำระหนี้ไปครั้งสุดท้าย เดือนต่อมาไม่ได้ชำระ อายุความจะเริ่มนับแต่วันที่ 2 มกราคม จนกว่าจะครบ ซึ่งอายุความของหนี้ไม่เท่ากัน
- บัตรเครดิตมีอายุความ 2 ปี
- สินเชื่อส่วนบุคคลอายุความ 5 ปี
>> การอายัดทรัพย์ หากลูกหนี้ถูกฟ้อง แล้วไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามคำพิพากษา ภายในระยะเวลา 30 วัน เจ้าหนี้จะไปขอศาลเพื่อออกคำบังคับ และสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ว่ามีอะไรบ้าง หากลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินมีแต่เงินเดือน เจ้าหนี้จะให้กรมบังคับคดีตั้งเรื่องการบังคับอายัดเงินเดือนและรายได้ของลูกหนี้ ซึ่งมีหลักเกณฑ์การอายัดทรัพย์ดังนี้
- เงินเดือน และรายได้ เช่น ค่าคอมฯ เบี้ยขยัน ฯลฯ หัก 30% แต่ต้องเหลือให้ลูกหนี้ไว้ใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 10,000 บาท (เงินเดือนยังไม่หักค่าใช้จ่าย เช่น ประกันสังคม ฯลฯ) ดังนั้นลูกหนี้ที่มีเงินเดือนหรือรายได้ไม่ถึงหมื่น ยังไม่ถูกอายัดทรัพย์
- โบนัสประจำปีหัก 50%
- เงินชดเชยการออกจากงาน หัก 100%
- เจ้าหนี้รายแรกอายัดเงินเดือนไปแล้ว รายอื่นอายัดซ้ำไม่ได้
- ลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอาจทำเรื่องขอลดอายัดที่กรมบังคับคดีได้ (แต่ต้องระวังว่าเจ้าหนี้รายอื่นจะรู้และขออายัดส่วนที่ขอลด ซึ่งอาจต้องชี้แจงเป็นกรณี)
- บัญชีเงินออม เงินฝากทุกประเภท
>> การยึดทรัพย์
- ทรัพย์สินที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หม้อหุงข้าว โทรทัศน์ พัดลม ตู้เย็นฯลฯ มูลค่ารวมกันไม่เกิน 50,000 บาท เกินจากนี้ยึดได้ หรือหากมีความจำเป็นอาจขอเป็นกรณีไป
- ทรัพย์สินที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ เช่น คอมพิวเตอ์ ต้องใช้ประกอบอาชีพ มูลค่ารวม 100,000 บาท ส่วนที่เกินสามารถยึดได้ หรือหากมีความจำเป็นอาจขอเป็นกรณีไป
- ทรัพย์สินที่เป็นสิ่งของฟุ่มเฟือย เช่น เฟอร์นิเจอร์ สร้อย แหวน นาฬิกา ฯลฯ ยึดได้เลย
- ทรัพย์ที่ยังติดภาระจำนอง สามารถยึดขายทอดตลาด โดยทรัพย์ที่ได้มานั้นชำระหนี้ให้เจ้าหนี้จำนองก่อน ที่เหลือจึงจะชำระหนี้ที่ขอบังคับคดี
เป็นหนี้ต้องติดเครดิตบูโรไปตลอดชีวิตมั๊ย
เครดิตบูโร คือ องค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลเครดิต ของสถาบันการเงิน มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลประวัติการชำระสินเชื่อ และการชำระบัตรเครดิตของบุคคลจากสถาบันการเงินหลายๆ แห่ง เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือผู้ให้บริการสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต
ติดเครดิตบูโรอย่างไร
- หากเรามีหนี้กับธนาคารและผ่อนชำระตามปกติ สถานะจะขึ้นว่า บัญชีปกติ
- หากเรามีหนี้ค้างชำระ จะรายงานว่า หนี้ค้างชำระ จะกี่วันแล้วแต่สถานะของลูกหนี้
- หากเราปิดบัญชีแล้ว ทั้งการปิดบัญชี ตามปกติ หรือ ปิดบัญชีภายหลังผ่านพ้นกระบวนการทางด้านคดี เช่น ใช้หนี้ตามคำพิพากษา การอายัดทรัพย์ หรือยึดทรัพย์ หรือการเจรจาปิดบัญชีก็ตาม เครดิตบูโรจะรายงานสถานการณ์ปิดบัญชี บุคคลธรรมดารายงาน 3 ปี และนิติบุคคลจะรายงาน 5 ปี และจะทำการล้างข้อมูล
- หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ หรือเจ้าหนี้ไม่สามารถใช้สิทธิฟ้องคดีเรียกเงินคืนได้(คดีขาดอายุความ) สถานะ ค้างชำระหนี้ จะคงอยู่ จนกว่าลูกหนี้จะปิดบัญชี
สิ่งที่ดีที่สุดในยุคสังคมปัจจุบัน คือการใช้ชีวิตที่พอเพียง มีเท่าไรใช้เท่านั้น มีบัตรเครดิตบ้างแต่ต้องรู้จักที่จะใช้หรือใช้ในกรณีทีจำเป็น อย่าใช้เงินฟุ่มเฟือย ไม่ประมาท เก็บเงินออมไว้ใช้ในยามจำเป็นดีกว่ากู้เงินที่เสียดอกเบี้ยแสนแพง