2nd benefit

2nd benefit

ถูกฟ้องค่าส่วนต่างในสัญญาเช่าซื้อ

สวัสดีครับ...ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน
กลับมาพบกันอีกครั้งหนึ่งในรายการสาระน่ารู้อ่านแล้วได้ประโยชน์ในช่วงของ รู้ไว้ใช้สิทธิ ซึ่งวันนี้จะขอนำเสนอในเรื่อง ถูกฟ้องค่าส่วนต่างในสัญญาเช่าซื้อ


ในการซื้อขายสินค้านั้น ถ้าผู้ซื้อต้องการที่จะได้สินค้านั้นมาครอบครองเป็นกรรมสิทธิ ผู้ซื้อก็จะต้องจ่ายเงินเต็มตามจำนวนสินค้านั้น แต่บางคนก็ไม่มีเงินเต็มจำนวนเพื่อซื้อสินค้า จึงจำเป็นต้องผ่อนชำระเพื่อให้ได้กรรมสิทธิในทรัพย์สินนั้น หลังจากผ่อนชำระครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว

แต่หนทางในการผ่อนชำระนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เนื่องจากการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อนั้นเป็นการผ่อนระยะยาว 5-6 ปี ซึ่งอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน เพราะเมื่อมีการผ่อนชำระไปได้สักระยะหนึ่ง เกิดมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นทำให้ต้องหยุดชำระ ผู้ให้เช่าซื้อก็จะกลับมาครอบครองทรัพย์สินหรือยึดรถที่ให้เช่าซื้อของท่านได้ แต่มีคำถามต่อไปก็คือ ท่านจะต้องผิดนัดกี่งวด ผู้ให้เช่าซื้อกลับเข้ามาครอบครองยึดรถของท่านได้

ซึ่งตามประกาศ สคบ.กำหนดไว้ว่า ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิยกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ชำระเงินที่ค้างภายในเวลาอย่างน้อย 30 วัน นับแต่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ และถ้าหากผู้เช่าซื้อยังไม่ยอมปฎิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิยกเลิกสัญญา โดยแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อทราบ และมีสิทธิกลับเข้าครอบครองรถเพื่อนำออกขายให้บุคคลอื่นได้ทันที

เพราะฉะนั้นผู้ให้เช่าซื้อจะทำการยึดรถของท่านได้ก็จะต้องใช้ระยะเวลาทั้งหมดรวม 4 เดือน คือ ผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างอีก 1 เดือน ถ้าผู้เช่าซื้อยังไม่ปฎิบัติตามหนังสือดังกล่าว ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที และเมื่อรถถูกยึดไปแล้วหลายคนต่างก็คิดว่าคงจบแค่นี้คงไม่มีปัญหาอะไรตามมาอีก แต่ปัญหาดังกล่าวไม่ได้จบลงอย่างที่ท่านคิด เพราะเมื่อผู้เช่าซื้อยึดรถแล้วก็จะนำไปขายทอดตลาด เมื่อขายได้น้อยกว่าราคาของรถก็จะทำให้มีส่วนต่างเกิดขึ้น และในส่วนต่างตรงนี้ผู้เช่าซื้อก็จะต้องรับผิดชอบต่อไป

ในการเรียกเก็บค่าส่วนต่างนั้นส่วนมากจะมีการเรียกเก็บสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง เพราะมีการรวมเบี้ยทวงถามและเบี้ยค่าติดตามพร้อมทั้งดอกเบี้ยอีก 15 % ไปด้วย ซึ่งจะทำให้ยอดส่วนต่างนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในการคิดค่าเบี้ยทวงถามและค่าติดตามนั้นผู้เช่าซื้อจะไม่ทราบเลยว่าเขาคิดอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อมาถึงก็บอกแต่เพียงยอดหนี้ทั้งหมด ทำให้ไม่เป็นธรรมต่อผู้เช่าซื้อ ซึ่งวิธีในการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้อนมีดังนี้
1. เมื่อท่านเห็นว่ามีการถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสูงเกินจริง ท่านควรเจรจาต่อรองกับผู้ให้เช่าซื้อก่อนในเบื้องต้น ซึ่งอาจจะต้องขอดูเอกสารหรือรายละเอียดในการเรียกเก็บเงินว่ามีอะไรบ้าง ถ้าสามารถต่อรองกันได้ก็จะทำให้ท่านไม่ต้องไปขึ้นศาล
2. แต่ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ก็คงต้องให้ผู้ให้เช่าซื้อฟ้องไป โดยท่านต้องให้ทนายทำคำให้การและยื่นต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป
ในการยื่นคำให้การต่อสู้นั้นอาจจะมีข้อต่อสู้หลายประเด็น เช่น
1. ปกติประกาศ สคบ จะเขียนไว้ว่า ก่อนที่จะขายให้บุคคลอื่นผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อได้ใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งส่วนมากผู้ให้เช่าซื้อจะไม่มีหนังสือบอกกล่าวให้ทราบ พอประมูลเสร็จก็ส่งยอดมาว่าค้างอยู่ทั้งหมดเท่านี้บาท ซึ่งผู้เช่าซื้อจะไม่ทราบเลยว่ายอดที่ประมูลออกมานั้นเป็นธรรมหรือไม่
2. ผู้ให้เช่าซื้อบางรายจะเขียนลงมาในคำฟ้องว่า ทางผู้ให้เช่าซื้อได้ไปยึดรถของผู้เช่าซื้อจากที่ไหน เพื่อให้มีค่าติดตามเกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริง ผู้เช่าซื้อเป็นผู้นำรถมามอบให้กับผู้ให้เช่าซื้อที่บริษัทเอง ไม่ได้มีการมายึดรถแต่ประการใด
3. ตามประกาศ สคบ. ได้เขียนไว้ว่า ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดในค่าทวงถามและค่าติดตาม รถที่เช่าซื้อ เพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ใช้จ่ายไปจริงเพื่อการดังกล่าว โดยประหยัด ตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควรแต่ส่วนมากผู้ให้เช่าซื้อจะมีการเรียกเก็บเกินความเป็นจริง และไม่มีเอกสารหรือรายละเอียดมาแสดงให้ผู้เช่าซื้อทราบ ข้อนี้ท่านก็สามารถนำไปเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ศาลได้พิจารณาตามความเป็นจริงได้
4. เมื่อมีการยึดรถของผู้เช่าซื้อและนำไปขายทอดตลาด ผู้ให้เช่าซื้อมักจะอ้างว่า รถนั้นมีสภาพเก่าและมีความเสียหาย จึงทำให้ยอดประมูลออกมาต่ำ เพื่อจะได้มีการเรียกค่าส่วนต่างจากผู้เช่าซื้อได้สูงขึ้น เพราะ

ฉะนั้นก่อนที่จะให้มีการยึดรถเดขึ้น ท่านควรถ่ายรูปรถที่ถูกยึดเอาไว้ เพราะในรูปถ่ายจะระบุวันที่ เดือน ปี ที่ถ่ายไว้ และรูปรถในขณะนั้นว่ามีสภาพเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้ท่านใช้เป็นหลักฐานในการต่อสู้ได้
เพราะฉะนั้นเมื่อท่านถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ ท่านจะต้องใช้สิทธิของท่านที่มีอยู่นั้นขึ้นต่อสู้อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นการเรียกความยุติธรรมให้กลับคืนมาสู่สังคมพร้อมทั้งให้ความเป็นธรรมกับต่อของท่านเองด้วยครับ

 

ภาพประกอบจาก https://terrabkk.com