องค์กรผู้บริโภคเรียกร้อง อย. ออกมาตรการการกำกับดูแลผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้ส่วนของกัญชาในอาหาร หวั่นเกิดผลกระทบผู้บริโภคบางรายแพ้สารกัญชา
ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขปลดล็อคส่วนของพืชกัญชา - กัญชง ประกอบด้วย เปลือก ลำต้นเส้นใย กิ่งก้าน รากและใบ ไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วยให้พ้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 แต่ยังไม่มีการแก้ไขประกาศที่เกี่ยวข้องกับการใช้ในอาหารเพราะมีเสียงแย้งจากนักวิชาการเรื่องข้อมูลความปลอดภัยในการบริโภคเป็นอาหารยังมีไม่มากพอนั้น
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค มีข้อห่วงใยกับการนำส่วนต่างๆของพืชกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษไปใช้ในอาหารโดยขาดการกำหนดมาตรการในการควบคุมดูแลการใช้ที่รัดกุมเพียงพอของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จนอาจเกิดปัญหาทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด หลงเชื่อบริโภค และอาจเกิดปัญหาด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนได้ โดยประเมินได้จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการต่างๆ ได้แก่
- ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ พ.ศ. ๒๕๖๓ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๓ โดยในรายละเอียดของประกาศนี้ ที่กำหนดให้พืชกัญชาส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติด ในประกาศข้อ 2 (1) “กัญชา (cannabis) พืชในสกุล Cannabis และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีในพืชกัญ เช่น ยาง น้ำมัน ยกเว้นวัตถุหรือสารดังต่อไปนี้ เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ (ก) เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก (ข) ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย (ค) สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) เป็นส่วนประกอบและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ ๐.๒ โดยน้ำหนัก (ง) กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ ๐.๒ โดยน้ำหนัก”
- ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๔) พ.ศ. ๒๕๖๔ ออกตามความในพระราชราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ จะส่งผลให้ส่วนของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติดสามารนำมาผลิตอาหารได้
- จากการออกประกาศดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการอนุญาตเรื่องการใช้ส่วนของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษมาผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ และบทลงโทษกรณีผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตาม อีกทั้งยังไม่มีมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะในด้านความปลอดภัย ซึ่งจำเป็นต้องมีการให้ข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอ ได้แก่ การแจ้งว่ามีส่วนประกอบของกัญชาในอาหาร การให้ข้อมูลผู้บริโภคได้รับทราบถึงผลข้างเคียงและความเสี่ยง ตลอดจนคำเตือนสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงในการบริโภค และการกำหนดอายุผู้บริโภคที่จะบริโภคได้
ดังนั้น เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีคำสั่งให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ให้ดำเนินการออกมาตรการการกำกับดูแลผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้ส่วนของกัญชาในอาหาร เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ดังนี้
๑. ผู้ประกอบการต้องลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ว่าจะขายอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้ส่วนของกัญชา และต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของวัตถุดิบกัญชา
๒. ณ จุดขาย ต้องมีป้ายข้อความชัดเจนเพื่อแสดงว่า “ร้านนี้ขายอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมกัญชา” พร้อมแสดงข้อมูลที่สำคัญ ดังนี้
๒.๑ แสดงรายการอาหาร และเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของกัญชา
๒.๒ แสดงส่วนผสม และปริมาณที่ใช้ในการผลิตอาหาร
๒.๓ แสดงข้อความ “คำเตือน” เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ผู้สูงอายุ ผู้ที่แพ้กัญชา ไม่ควรรับประทาน
๒.๔ แสดงข้อความ “คำเตือน” สำหรับผู้มีโรคประจำตัวต้องระวัง และข้อระวังอื่น ทางวิชาการ
๓. ณ จุดขาย ห้ามโฆษณาสรรพคุณในการป้องกัน หรือรักษาโรค
๔. กำหนดอายุผู้ที่มีสิทธิซื้อผู้รับประทานให้ชัดเจน
๕. กำหนดบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม
๖. ให้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องมาตรการการกำกับดูแลร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้ส่วนของกัญชา ต่อสาธารณะ
Tags: องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค , มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , เครือข่ายผู้บริโภค