คอบช.-กลุ่มเกษตรกร-นักวิชาการ-อุตสาหกรรม ค้านพรบ.GMO
สภาเกษตรแห่งชาติ กลุ่มเกษตรกร นักวิชาการ อุตสาหกรรมแปรรูป ค้านพ.ร.บ.จีเอ็มโอ หวั่นกระทบอุตสาหกรรมส่งออกและความหลากหลายทางพันธุ์พืช ชี้รัฐต้องทบทวนก่อนส่งสนช.พิจารณา
วันที่ 1 ธ.ค. 58 ที่โรงแรมเคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สภาเกษตรแห่งชาติ ร่วมกับ กลุ่มเกษตรกร นักวิชาการ อุตสาหกรรมแปรรูป จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “วิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ....” หรือ พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 58 ในเวทีเห็นพ้องต้องกันว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวพบช่องโหว่เพียบ หวั่นกระทบอุตสาหกรรมส่งออกผัก-ผลไม้ไทย และความหลากหลายทางพันธุ์พืช
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า รัฐบาลควรชะลอร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ แล้วนำกลับมาทบทวนใหม่ ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน นักวิชาการ และองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากพบช่องโหว่หลายประเด็น เช่น กระบวนการร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอไม่มีตัวแทนเกษตรกรที่มีส่วนได้รับผลกระทบโดยตรงเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่มีแนวทางปกป้องคุ้มครองเกษตรกรที่ชัดเจนเมื่อเกิดการปนปื้อนจีเอ็มโอในธรรมชาติ เมื่อเกิดความเสียหายไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เผยว่า กลุ่มเกษตรกรจะรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐบาลก่อนจะมีการประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า พร้อมเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ต่อไป
ด้าน ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าประเทศไทยมีอัญมณีทางพันธกรรมซ่อนอยู่มากมาย ซึ่งคุณค่าทางพันธุกรรมเป็นความมั่นคงทางอาหารที่เป็นรากฐานความมั่นคงของชาติ รัฐจะต้องให้ความใส่ใจให้ความสำคัญปกป้องความมั่นคงทางอาหารแต่กลับทำลายความมั่นคงทางอาหารอย่างสิ้นเชิงด้วยการผ่าน พ.ร.บ.จีเอ็มโอ รัฐดำเนินนโยบายนำพาประเทศไปสู่การสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตด้านเกษตรกรรม ประเด็นสำคัญคือ เมื่อรอบประเทศของเรายังต้อนรับจีเอ็มโอ ส่งที่ได้รับคือมีการตรวจสอบอาหาร ต้นทุนนี้ใครเป็นผู้แบกรับ ถ้าไม่ใช่เกษตรกรที่ปฏิเสธไม่ได้
นายวัชรพล แดงสุภา กรีนพีช ถึงผลกระทบเมื่อพบการปนเปื้อนจีเอ็มโอในประเทศไทยว่า จะถูกยุติการนำเข้าทันทีทั้งในแถบยุโรปและญี่ปุ่นในปีแรก ขณะที่ในอเมริกาจะถูกลดปริมาณการนำเข้า อเมริกาใต้และอเมริกากลางจะยุติการนำเข้าชั่วคราวซึ่งอาจจะไม่ร้ายแรงเท่ายุโรป เพราะยุโรปชัดเจนว่าไม่ต้องการจีเอ็มโอซึ่งมีการแบนถึง 17 ประเทศ และอีก 4 รัฐที่ไม่ต้องการ ปัจจุบันในยุโรปยุติการนำเข้า 100% ขณะที่ในเอเชียมีการยุติการนำเข้าในประเทศไทยจะสูญเสียเงินถึง 35,200 ล้านบาทต่อปี
นายวัชรพล กล่าวต่อไปว่านอกจากผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกแล้วยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะจีเอ็มโอมีสารเคมีค่าแมลงเมื่อแมลงเกิดดื้อยาก็ต้องเพิ่มปริมาณยาฆ่าแมลงเป็นต้น อีกทั้งเมื่อเกิดการปนเปื้อนแล้วจะไม่สามารถกลับไปเป็นพืชอินทรีย์ได้ และราคาเมล็ดพันธุ์จะมีราคาแพงขึ้นอีกด้วย
ขณะที่ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ , กลุ่มสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน และกลุ่มสมาคมแป้งมันสำปะหลัง เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ นี้เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทรายใหญ่ที่ได้รับสิทธิบัตร ทำให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมส่งออกอยากมาก
ทางด้าน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอว่าส่งผลกระทบทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคโดยรวมทั้งหมด กฎหมายฉบับนี้จำเป็นต้องมีความรอบคอบ จำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างดี กระบวนการของกฎหมายฉบับนี้ การมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้รับการยอมรับจำเป็นต้องทบทวนกระบวนการ ในเรื่องของเทคโนโลยีชีวภาพนั้นมันจะมีอยู่ 2 หลักการใหญ่ๆ คือหลักการพัฒนาเทคโนโลยี และการนำมาใช้ประโยชน์ ที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของมนุษย์ สิ่งแวดล้อม สารพันธุกรรม ฯลฯ การดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอนั้นเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีความแน่นอนทั้งในเรื่องของการที่จะก่อผลกระทบต่อมนุษย์ การกระทบต่อพันธุกรรม เพราะฉะนั้นหลักการทั่วโลกจึงใช้หลักการของการป้องกันไว้ก่อน กฎหมายต้องมีการควบคุมที่มีความชัดเจน เข้มงวด และในกรณีที่ต้องการนำผลิตภัณฑ์มาใช้ประโยชน์ต้องมีกฎหมายที่ชัดเจนถึงการควบคุมการปลอดภัยทั้งเรื่องฉลาก ความรับผิดต่อการชดเชย หากมีความสงสัยหรือมีความเกี่ยวกันคุณต้องรับผิดแล้ว ไม่ใช่ว่าต้องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพราะมันเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมันมีการศึกษาแค่เรื่องของการระบาดวิทยา ศึกษาแนวโน้มการสัมพันธ์ของการเกิดโรค แต่เป็นไปไม่ได้ที่ให้คนกินล้วติดตาม 20 ปีว่าเกิดมะเร็ง
ข่าวบทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:
|
Tags: คอบช. , ฺBiothai, จิราพร ลิ้มปานานนท์, วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ, ผูกขาด, เมล็ดพันธุ์, จีเอ็มโอ, GMOs, มูลนิธิชีวิถี, พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ, วัชรพล แดงสุภา