2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

‘ฉลาดซื้อ’ พบ “ไซบูทรามีน – ฟลูออกซิทีน”ยาอันตรายใน 6 อาหารเสริม จากห้างออนไลน์ชื่อดัง 4 แห่ง LAZADA, C mart, 11 street และ Shopee เรียกร้องให้รับผิดชอบต่อสังคม

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มทดสอบซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 16 ตัวอย่าง ผ่านช่องทางห้างออนไลน์ชื่อดัง 8 แห่ง ได้แก่ LAZADA,C mart, 11 street, Shopee, Shop at 24, We mall, Watsons, และ Konvy ในเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคมที่ผ่านมา จากการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม พบยา “ไซบูทรามีน” และ “ฟลูออกซิทีน” ในอาหารเสริมลดน้ำหนัก 6 ตัวอย่าง

ได้แก่ AIKA, MINIMAL by FALONFON, S-Line, LYN, L-Fin by Luk-Sam-Rong และ Kalo จากห้างออนไลน์ชื่อดัง 4 แห่ง ได้แก่ LAZADA,C mart, 11 street, และ Shopeeส่วนอีก 4 แห่ง ได้แก่ Shop at 24, We mall, Watsons, และ Konvy ไม่พบยาทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่บรรยายสรรพคุณว่า สามารถใช้บริโภคเพื่อการลดน้ำหนัก จำนวน 16 ตัวอย่าง จากห้างออนไลน์ชื่อดัง 8 แห่ง ผลการตรวจสอบ จำนวน 6 ตัวอย่าง พบยา ไซบูทรามีนและฟลูออกซิทีน ซึ่งเป็นยาอันตรายที่ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ตารางแสดงผลทดสอบ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม 6 ตัวอย่าง ที่พบยาไซบูทรามีน และฟลูออกซิทีน

ลำดับ

ชื่อยี่ห้อผลิตภัณฑ์

ล็อตผลิต

ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย

เว็บที่ซื้อสินค้า

ผลทดสอบ

ไซบูทรามีน

ฟลูออกซิทีน

1

AIKA

21/11/2017

บริษัทสยามเฮลท์แอนด์บิวตี้แคร์ จำกัด

LAZADA

พบ

พบ

2

MINIMAL By FALONFON

ม.ค.2018

บริษัทคอสมา แล็บ จำกัด

C mart

พบ

-

3

S-Line

ไม่ระบุ

บริษัทที.ซี. ยูเนี่ยน โกลบอล จำกัด (มหาชน)

LAZADA

พบ

-

4

LYN

10-01-2561

บริษัท ฟู้ด ซายน์ ซัพพลาย เซอร์วิส จำกัด

11 street

พบ

-

5

L-Fin by Luk-Sam-Rong

1/7/60

บริษัทสยามเฮลท์แอนด์บิวตี้แคร์ จำกัด

Shopee

พบ

-

6

Kalo

ไม่ระบุ

บริษัทสยามเฮลท์แอนด์บิวตี้แคร์ จำกัด

11 street

-

พบ

          ข้อสังเกต ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ AIKA, L-Fin และ Kalow ที่ตรวจพบไซบูทรามีนและฟลูออกซิทีนนั้น มีผู้ผลิตและผู้รับอนุญาตรายเดียวกัน คือ บริษัท สยามเฮลท์แอนด์บิวตี้แคร์ จำกัด

นางสาวสถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการผลิตภัณฑ์สุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออนไลน์ เกิดจากการใช้ข้อความโฆษณาเกินจริง ซึ่งผู้บริโภคไม่มีแหล่งตรวจสอบข้อความโฆษณาว่า คำโฆษณากล่าวอ้างบรรยายสรรพคุณนั้นๆ ได้รับอนุญาต หรือเกินจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบออนไลน์ อีกด้วย รวมไปถึงค่านิยมผอม ขาว การโฆษณากระตุ้นให้อยากขาว สวย ผอม เหมือนเน็ตไอดอล หรือศิลปินดาราที่เป็นคนนำเสนอสินค้า สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการกำกับดูแลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง : คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในนามคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) พบว่า ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าออนไลน์เพราะเชื่อถือโฆษณาที่จูงใจและมีผู้แนะนำเป็นบุคคลมีชื่อเสียง คิดว่าน่าจะได้ผลเหมือนโฆษณา ส่วนลำดับ 2 คือการเห็นเครื่องหมาย อย. นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามยังต้องการให้มีแหล่งข้อมูลที่จะสามารถตรวจสอบโฆษณาได้ อย.ควรเปิดให้ผู้บริโภคได้เข้าถึง ‘คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพ’ โดยเร็ว เพื่อลดปัญหาการถูกหลอกจากโฆษณา

นางสาวสถาพร อารักษ์วทนะ รายงานเพิ่มเติมว่ายังได้สำรวจข้อมูลล่าสุดวันที่ 10 มิถุนายน 2561 พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตรวจพบสารประกอบอันตรายไซบูทรามีน และฟลูออกซิทีน ทั้ง 6 ผลิตภัณฑ์ ยังพบการขายในร้านค้าออนไลน์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ ลีน (Lyn) ที่ทาง อย. ได้ประกาศว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ และยกเลิกเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์แล้ว อีกทั้งผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนี้ยังเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย[1] จึงขอเรียกร้องให้ทาง หน่วยงานกำกับดูแลหลัก (อย.) และหน่วยงานกำกับดูแลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายโดยทันที กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะต้องบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการออนไลน์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ มาตรา 15 - ผู้ให้บริการ หรือ ผู้ดูแลระบบ หรือแอดมินเพจ ที่เปิดให้มีการนำเข้าข้อมูล เมื่อพบเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ถ้าได้รับการแจ้งเตือนแล้วลบออก ไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าไม่ยอมลบออก โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า“ไซบูทรามีนนั้นเป็นยาต้านอาการซึมเศร้า ซึ่งสามารถลดความอยากอาหารได้ โดยยาดังกล่าวได้ถูกถอนออกจากตลาดในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ยุโรป และอีกหลายประเทศ ซึ่งยาดังกล่าวมีความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดสูง เสี่ยงการที่ทำให้หัวใจขาดเลือดและการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

ปัจจุบันในประเทศไทย ห้ามผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือขายยาดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 72(5) ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนประชาชนที่ขายหรือนำเข้ายานี้ ถือว่าเป็นการขายหรือนำเข้ายาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 12 ต้องรับโทษตามมาตรา 101 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท

ส่วนฟลูออกซิทีนนั้นเป็นยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคหิวไม่หายแบบทานแล้วอาเจียน จัดเป็นยาแผนปัจจุบันประเภทยาอันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหากผลิตภัณฑ์ใดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทย แล้วตรวจพบไซบูทรามีนหรือฟลูออกซิทีนในส่วนผสม ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายอาหารปลอมถ้าหากมีฉลากเพื่อลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งมีโทษจำคุกทั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท

นาวสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และบรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ข้อแรก ขอเรียกร้องให้ตลาดออนไลน์ทั้ง 4 แห่ง นำสินค้าออกจากตลาดออนไลน์โดยทันที ข้อสอง ให้ตลาดและร้านค้าออนไลน์ ต้องตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนจำหน่ายทุกรายการ ว่า ผิดกฎหมายหรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นบัญชีดำของ อย.หรือ กรมวิทยาศาตร์การแพทย์หรือไม่ หรือเมื่อ อย.ประกาศรายชื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายต่อสาธารณะ ผู้ให้บริการจะต้องหาวิธีการระงับหรือนำข้อมูลผลิตภัณฑ์ฯ ออกจากระบบคอมพิวเตอร์โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด และข้อสาม บริษัทต้องรับคืนสินค้าที่ผิดกฎหมายทุกรายการที่ผู้บริโภคได้ซื้อไปแล้วก่อนหน้านี้ทั้งหมด ถ้าตลาดออนไลน์ไม่ปฏิบัติขอให้หน่วยงานกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยใช้บทลงโทษสูงสุด

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กล่าวเพิ่มเติมว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคขอเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เร่งออกกฎหมายยกระดับไซบูทรามีน ให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ซึ่งหากผลิต นำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท - 2 ล้านบาท หากขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท - 2 ล้านบาท รวมถึงการครอบครองผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดด้วย

 


[1] อ้างอิงข้อมูล https://www.thairath.co.th/content/1269661 และ   https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1028256