2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ภาคประชาสังคมหนุนร่างกฎหมายสารเคมีฉบับใหม่ พร้อมยื่นความเห็นเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการแห่งชาติฯ

เมื่อวันที่ 31 พค. 62 ภาคประชาสังคมประกาศสนับสนุนความพยายามของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีในการปรับปรุงกฎหมายควบคุมสารเคมีอย่างครอบคลุมวงจรของสารเคมีเป็นฉบับแรกของประเทศ ที่มีการยึดหลักการป้องกันไว้ก่อน รวมไปถึงจะมีการจัดทำการประเมินและสื่อสารความเสี่ยง การเพิ่มขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ผลิต การส่งเสริมสนับสนุน สร้างแรงจูงใจผู้ประกอบการ และการมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่การปกป้องสุขภาพ คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางและหลักการสากลในหลายประเทศ

ตามที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายสารเคมี และกำหนดให้คณะอนุกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่ในการพัฒนากฎหมายสารเคมีของประเทศให้ครอบคลุมวงจรของสารเคมี เพื่อนำไปสู่การลดความเสี่ยงอันตรายจากสารเคมี ซึ่ง ขณะนี้คณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายสารเคมี ได้จัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติสารเคมี พ.ศ. .... ขึ้นแล้ว และอยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1/2562 โดยจะปิดรับฟังความเห็นรอบนี้ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2562
เครือข่ายภาคประชาสังคมฯ สนับสนุนการแก้กฎหมายสารเคมีครั้งนี้ และเน้นว่า ในส่วนหลักการของกฎหมายควรประกอบด้วยหลักการพื้นฐาน 4 ประการคือ 1) หลักการป้องกันไว้ก่อน (Precautionary Principle) ซึ่งหมายรวมถึงการระบุว่าสารเคมีที่มีจำหน่ายในประเทศไทยจะต้องมีการจำหน่ายในประเทศเจ้าของผลิตภัณฑ์ (Certificate of free sale) ด้วย และการมุ่งลดการใช้สารเคมีที่มีอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว, 2) หลักการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนและการปลอดจากการมีส่วนได้เสีย, 3) หลักการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส และ 4) หลักการเพิ่มขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ผลิต
ทั้งนี้การเพิ่มหลักการเรื่อง Certificate of free sale เพื่อป้องกันประเทศไทยกลายเป็นแหล่งระบายสารเคมีอันตรายที่ต่างประเทศเลิกผลิตและเลิกจำหน่ายแล้ว และการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะอย่างโปร่งใสจะต้องครอบคลุมถึงข้อมูลการประเมินสารเคมี ข้อมูลกระบวนการพิจารณาประเมินสารเคมี ข้อมูลการขึ้นทะเบียนสารเคมี ข้อมูลความเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของสารเคมีต่อสาธารณะ เป็นต้น และหลักการเพิ่มขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ผลิตก็จะต้องครอบคลุมถึงความรับผิดชอบในกรณีที่มีการยกเลิกการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในประเทศเจ้าของผลิตภัณฑ์ บริษัทผู้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์จะต้องเรียกคืนผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไปกำจัดให้ถูกต้อง เป็นต้น

นอกจากนี้ เครือข่ายภาคประชาสังคมฯ ได้เสนอให้มีการปรับแก้ร่างกฎหมายมาตรา 7 ของส่วนที่ 1 คณะกรรมการนโยบายสารเคมีแห่งชาติ เกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายสารเคมีแห่งชาติ โดยเสนอให้มีการเพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ นอกจากรัฐมนตรีและข้าราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว ดังนี้ 1) ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้แทนเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลอย่างละหนึ่งคน โดยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทคัดเลือกกันเอง 2) ผู้แทนองค์การสาธารณะประโยชน์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่เป็นการแสวงผลกำไร และดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตร แรงงาน สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม โดยให้องค์กรละหนึ่งคนที่มาจากการคัดเลือกกันเองในแต่ละกลุ่มให้คัดเลือกเหลือกลุ่มละหนึ่งคน รวมถึงขอให้ลดสัดส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสิบสี่คนเหลือสิบคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งจากบุคคลผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงานและประสบการณ์ในสาขาวิชาเคมี พิษวิทยา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม คุ้มครองผู้บริโภค อุตสาหกรรม กสิกรรม ประมง ปศุสัตว์ การขนส่ง หรือสาขาที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียและไม่มีผลประโยชน์ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมกับธุรกิจสารเคมี รวมถึงการเสนอให้เพิ่มสัดส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรสาธารณประโยชน์ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่ไม่แสวงหาผลกำไรเข้าไปในคณะกรรมการจัดการสารเคมีเฉพาะด้านเพื่อเพิ่มบทบาทและการมีส่วนร่วมในระดับต่างๆ ให้ชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น และข้อเสนอให้ปรับปรุงร่างกฎหมายในประเด็นอื่นๆ เช่น รายละเอียดว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการทั้ง 3 ระดับ การเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบ การเผยแพร่ข้อมูลของผู้ประกอบการ หน้าที่และความรับผิดตามกฎหมาย และการระวางโทษสำหรับผู้กระทำผิด เป็นต้น
การพัฒนากฎหมายสารเคมีขึ้นใหม่นี้จะนำไปสู่การยกเลิกพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 และ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 และจะเปลี่ยนชื่อกฎหมายเป็น “พระราชบัญญัติสารเคมี พ.ศ. ....” โดยจะเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศที่จะครอบคลุมการจัดการสารเคมีอย่างครบวงจรทั้งการผลิต นำเข้า ส่งออก นำผ่าน นำกลับเข้ามา ส่งกลับออกไป มีไว้ในครอบครอง ขาย ขนส่ง ใช้ บำบัด กำจัดทำลาย และนำกลับมาใช้อีก รวมถึงการรับคืนซากภาชนะหรือหีบห่อบรรจุภัณฑ์สารเคมีเพื่อนำไปบำบัด กำจัดทำลาย หรือนำกลับมาใช้อีก

ร่างกฎหมายใหม่นี้ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ (รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รมว.กระทรวงสาธารณสุข และรมว.กระทรวงอุตสาหกรรม) เป็นผู้รักษาการตามร่าง พ.ร.บ. ทั้งนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและหน้าที่ของตน และมีการแบ่งคณะกรรมการออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายสารเคมีแห่งชาติ คณะกรรมการประเมินสารเคมี และคณะกรรมการจัดการสารเคมีเฉพาะด้าน ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ชุด คือ คณะกรรมการจัดการสารเคมีด้านการเกษตร คณะกรรมการจัดการสารเคมีด้านสาธารณสุข และคณะกรรมการจัดการสารเคมีด้านอุตสาหกรรมและอื่นๆ

     

ทั้งนี้ นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (อนุฯ อาหารฯ คอบช.) และ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ตัวแทนเครือภาคประชาสังคมฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา พระราชบัญญัติวัตถุอันตรายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันรวมถึงกฎหมายย่อยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถสร้างความปลอดภัยให้แก่สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้ โดยเฉพาะองค์ประกอบของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เป็นโครงสร้างและองค์ประกอบที่เป็นปัญหามากกว่าเอื้อให้มีการแก้ปัญหาไปในทางที่ถูกต้อง และภาคประชาชน นักวิชาการ และองค์กรสาธารณประโยชน์ไม่สามารถเข้าไปมีบทบาทในการถ่วงดุลย์และตรวจสอบการใช้อำนาจและการทำหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวได้เลย ปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมการใช้และการยกเลิกสารเคมีอันตรายในประเทศไทยหลายอย่างไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากติดปัญหาอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการที่ประกอบด้วยข้าราชการและผู้แทนจากอุตสาหกรรมเคมีเท่านั้น เช่นกรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่สั่งเพิกถอนพาราควอต เนื่องจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตรายกับบริษัทผู้ค้าสารพาราควอต

ดังนั้น การพัฒนากฎหมายสารเคมีฉบับนี้จึงเป็นทิศทางสำคัญที่เชื่อว่าหากผลักดันสำเร็จและมีผลบังคับใช้ในอนาคต ประเทศไทยจะมีกฎหมายการจัดการสารเคมีที่ดีที่สามารถปกป้องสุขภาพประชาชน คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมีอันตรายลงได้ มีความโปร่งใสในการจัดการสารเคมีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศปลอดภัยและยั่งยืน นางสาวปรกชล กล่าว

 

 

Tags: องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค