2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ผู้บริโภคเฮ ! พบน้ำตาลมะพร้าวร้อยละ 81 ปลอดสารฟอกขาว

IMG 1193

9 สิงหาคม 2559 เวลา 11.00 น. ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (อนุสาวรีย์ชัยฯ) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ นิตยสารฉลาดซื้อ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) เผยผลทดสอบสารฟอกขาวในน้ำตาลมะพร้าวจากการสุ่มทดสอบตัวอย่างจำนวน 21 ยี่ห้อ ตรวจพบสารฟอกขาวจำนวน 4 ยี่ห้อ โดยพบว่ามี 2 ยี่ห้อที่มีปริมาณสารฟอกขาวตกค้างเกินมาตรฐาน ซึ่งเกิน 40 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ส่วนอีก 17  ยี่ห้อที่เหลือไม่พบสารฟอกขาว ซึ่งร้อยละ 81  ของน้ำตาลมะพร้าวที่สุ่มตรวจดังกล่าวมีความปลอดภัย พร้อมแนะนำวิธีเลือกซื้อน้ำตาลมะพร้าวให้ปลอดภัย

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภคในครั้งนี้ เมื่อทราบถึงผลการทดสอบสารฟอกขาวในน้ำตาลมะพร้าวที่ส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค มีเพียง 2 ยี่ห้อตัวอย่างที่พบสารฟอกขาวเกินมาตรฐานที่กำหนด นับว่าเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อน้ำตาลมะพร้าวที่ปลอดภัยไร้สารฟอกขาว ถือเป็นพลังสำคัญของผู้บริโภคที่เตือนไปยังผู้ประกอบการให้มีความระมัดระวังการใช้สารเคมีในการผลิต และการติดฉลากสินค้า

“อย่างเรื่องฉลากอาหารจีเอ็มโอ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ควรมีความหนักแน่นในการดำเนินการเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ให้เทียบเท่ากับทางฝั่งผู้ประกอบการ ซึ่งเรื่องข้อเสนอจากผู้ประกอบการนั้นมีการนัดพูดคุยกันอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เรื่องทางฝั่งผู้บริโภคได้รับการตอบรับที่ช้ากว่า ซึ่งเรื่องจีเอ็มโอนับว่าเป็นเรื่องสำคัญเพราะมีการถกเถียงในเรื่องความปลอดภัย ผู้บริโภคควรมีสิทธิรับทราบว่าอาหารใดมีจีเอ็มโอในส่วนประกอบบ้าง เพราะเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะเลือกหรือปฏิเสธการบริโภคอาหารจีเอ็มโอ”  เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวเพิ่มเติม

 นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร และอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ (คอบช.) กล่าวสรุปเกี่ยวกับผลการทดสอบว่า น้ำตาลมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่บูดเสียง่าย และมีสีคล้ำไม่น่ากิน ผู้ประกอบการจึงใช้สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือสารฟอกขาว ใส่ลงไปเพื่อทำให้น้ำตาลมะพร้าวมีสีขาวนวลสวยน่าซื้อ ซึ่งสารฟอกขาวยังมีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียด้วย

          “หากผู้บริโภครับประทานมากๆ อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพ จะทำให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสอาหาร เช่น ปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร ถ้าได้รับสารฟอกขาวสะสมในร่างกายมากๆ จะทำให้หายใจติดขัด ปวดท้อง ท้องร่วง เวียนศรีษะ อาเจียน และในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงหรือผู้ป่วยโรคหอบหืด จะมีอาการช็อค หมดสติ และเสียชีวิต จึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงรายละเอียดของส่วนประกอบ วัตถุกันเสีย วันเดือนปีที่ผลิต ขนาดบรรจุราคาที่แน่นอน แหล่งผลิตพร้อมชื่อยี่ห้อสินค้าที่ชัดเจน รวมทั้งไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสีขาวจนผิดธรรมชาติ”  นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว

ทั้งนี้ครั้งถัดไปศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีแผนที่จะทดสอบสารอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสง และตรวจสอบสารโพล่าร์จากน้ำมันทอดซ้ำในอาหารกลุ่มฟาสฟู้ดทั้งหลาย และเชิญชวนให้ผู้บริโภคส่งข้อมูลและความคิดเห็นว่าต้องการให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยทดสอบผลิตภัณฑ์ชนิดใด

ข้อมูลผลทดสอบน้ำตาลมะพร้าวนิตยสารฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบสารฟอกขาวในน้ำตาลมะพร้าว จำนวน 17 ตัวอย่างที่ไม่พบสารฟอกขาวตกค้าง ได้แก่

ยี่ห้อ

ตลาด

ยี่ห้อ

ตลาด

1. กุหลาบคู่

โชคชัยสี่

2. ไม่มียี่ห้อ

โชคชัยสี่

3. น้ำตาลปี๊บบ้านสวน

โชคชัยสี่

4. ไม่มียี่ห้อ

บางแค

5. กุหลาบ

พระประแดง

6. ตาลไท

กูร์เมต์สยามพารากอน

7. อัมพวา

เทสโก้ โลตัส ลาดพร้าว

8. อนามัย

ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต เซ็ลทัลพระรามเก้า

9. Suttiphan

ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต ซีคอนบางแค

10. ซอสามสาย

ห้าง wonder บางแค

11. โฮม เฟรช มาร์ท

กูร์เมต์สยามพารากอน

12. คุณจา

เทสโก้ โลตัส บางแค

13. รัชนิน(ของดีแม่กลอง)

ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต บางแค

14. ไม่มียี่ห้อ(น้ำตาลมะพร้าวแท้ของดีอัมพวา

บิ๊กซีเอ็กตร้า ลาดพร้าว

15. ลิน

ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต เซ็นทรัล พระรามเก้า

16. มิตรผล

ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต เซ็นทรัล พระรามเก้า

17. ซูการ์รี่

กูร์เมต์สยามพารากอน

   

พบสารฟอกขาว จำนวน 4  ตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่างที่มีปริมาณสารฟอกขาวเกิน 40 มก. ต่อ 1 กก. คือ

  1. 1.ยี่ห้อ สุทธิภัณฑ์ (Suttiphan) จากกูร์เมต์สยามพารากอน พบ 72 มิลลิกรัม ต่อ 1 กก.
  2. 2.ไม่มียี่ห้อ จากตลาดอมรพันธุ์ ลาดพร้าว พบ 61 มิลลิกรัม ต่อ 1 กก.

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณสารดังกล่าวแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน คือ

  1. 1.ไม่มียี่ห้อ จากตลาดพระประแดง พบ 39 มิลลิกรัม ต่อ 1 กก.
  2. 2.ยี่ห้อ ต้นตะวัน จากบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า ลาดพร้าว พบน้อยกว่า 10 มิลลิกรัม ต่อ 1 กก.

coconut sugar 01 

         อันตรายต่อสุขภาพ เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสอาหาร เช่น ปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร ถ้าได้รับสารฟอกขาวสะสมในร่างกายมากๆ จะทำให้หายใจติดขัด ปวดท้อง ท้องร่วง เวียนศรีษะ อาเจียน และในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงหรือผู้ป่วยโรคหอบหืด จะมีอาการช็อค หมดสติ และเสียชีวิต จึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงรายละเอียดของส่วนประกอบ วัตถุกันเสีย วันเดือนปีที่ผลิต ขนาดบรรจุ ราคาที่แน่นอน คำแนะนำในการเก็บรักษา การนำไปใช้ประโยชน์ และแหล่งผลิตพร้อมชื่อยี่ห้อสินค้าที่ชัดเจน รวมทั้งไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสีขาวจนผิดธรรมชาติ นอกจากนี้หากพบว่าน้ำตาลมะพร้าวที่ซื้อมามีกลิ่นเหม็น ฉุน รสหวานแหลม เนื้อน้ำตาลแข็งมาก หรือเก็บไว้ได้นานเป็นเดือนที่อุณหภูมิห้องโดยสียังขาวนวล ต้องระวัง เพราะอาจเป็นน้ำตาลมะพร้าวที่ผสมสารฟอกขาวในปริมาณมาก

     ปัญหาผู้บริโภคไม่สามารถรู้ข้อมูลประกอบการเลือกสินค้าได้นั้นเกิดจากการที่ผู้ประกอบการไม่เปิดเผยข้อมูลบนฉลากและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และมีกลุ่มผู้ประกอบบางรายขอให้ยกเลิกการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ อ้างเป็นอุปสรรคต่อการค้า จึงขอเรียกร้องให้อย.บังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีข้อมูลประกอบการเลือกสินค้าด้วย

มาตรฐานซัลเฟอร์ไดออกไซด์

          ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 281 พ.ศ. 2547 และประกาศ อย. เรื่องข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร กำหนดให้ตรวจพบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ส่วนมาตรฐานของ CODEX ให้ใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในน้ำตาลทราย 20 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม และน้ำตาลทรายแดง ให้ใช้ 40 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม

          อย่างไรก็ตามสำหรับน้ำตาลมะพร้าว ยังไม่มีการระบุหรือกำหนดปริมาณดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน จึงใช้มาตรฐานที่กำหนดในน้ำตาลทรายอย่างละเอียดเป็นมาตรฐาน

          อาหารในภาชนะบรรจุ ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม  : นิตยสารฉลาดซื้อ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  02-2483734-37    www.ฉลาดซื้อ.com

ภาพข่าว: เบญจมาศ ลาวงค์