กินเจปีนี้ ถั่วลิสงดิบปลอดภัยจากสารพิษเชื้อรา (อะฟลาท็อกซิน)
ถั่วลิสงดิบผ่านมาตรฐานสารพิษจากเชื้อรา (อะฟลาท็อกซิน) 100 % ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสง จำนวน 11 แหล่ง(ยี่ห้อ) ปลอดภัย ไร้กังวลเรื่องสารก่อมะเร็งที่เกิดจากพิษของเชื้อรา มีเพียงหนึ่งยี่ห้อ ที่ตรวจพบสารพิษเชื้อราอะฟลาท็อกซิน แต่ไม่เกินมาตรฐาน
19 ก.ย. 59 ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้ติดตามจัดอันดับอาหารปลอดภัย เห็นความสำคัญของอาหารในช่วงเทศกาลกินเจ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างถั่วลิสงดิบชนิดบรรจุถุง จำนวน 11 ตัวอย่าง จากทั้งห้างและตลาดสดรวม 8 แห่ง ได้แก่
ยี่ห้อ |
สถานที่เก็บ |
ปริมาณอะฟลาท็อกซิน |
ราคา |
1. ธัญพืชตรา aro |
แมคโคร สาขาสามเสน |
ไม่พบ |
74 |
2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด |
ตลาดเยาวราช |
ไม่พบ |
80 |
3. ท็อปส์ |
ท็อปส์ สาขาโชคชัย 4 |
ไม่พบ |
83.33 |
4. บิ๊กซี |
บิ๊กซี สาขาพระราม 2 |
ไม่พบ |
84 |
5. ข้าวทอง |
เทสโก้โลตัส สาขา ลาดพร้าว |
ไม่พบ |
88 |
6. ร้านง่วนสูน (ตรามือที่ 1) |
ตลาดเยาวราช |
ไม่พบ |
90 |
7. ไร่ทิพย์ |
เทสโก้โลตัส สาขา ลาดพร้าว |
ไม่พบ |
94 |
8. เทสโก โลตัส (ตักแบ่งขาย) |
เทสโก โลตัส สาขาพระราม 2 |
ไม่พบ |
130 |
9. ดร. กรีน |
กรูเมต์ มาร์เก็ต พารากอน |
ไม่พบ |
147.50 |
10. ตะวันพืชผล |
บิ๊กซี เอ็กตร้า สาขาลาดพร้าว |
ไม่พบ |
260 |
11. โฮม เฟรช มาร์ท |
กูร์เมต์ มาร์เก็ต พารากอน |
พบไม่เกินมาตรฐาน - บี 1 จำนวน 1.81 - บี 2 จำนวน 0.5 |
102 |
จากผลการทดสอบถั่วลิงสงดิบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ พบว่า 10 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็งที่เกิดจากพิษเชื้อรา(อะฟลาท็อกซิน) จำนวน 10 ยี่ห้อ มีเพียงตัวอย่างเดียวที่พบการปนเปื้อน คือ ถั่วลิสงดิบยี่ห้อ โฮม เฟรช มาร์ท ผลิตโดย บริษัท ไร่ธัญญะ จำกัด ที่เก็บตัวอย่างจากห้างสยามพารากอน แต่เป็นปริมาณที่พบน้อยมาก คือ พบอะฟลาท็อกซิน ชนิด บี 1 จำนวน 1.81 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และพบชนิดบี 2 ที่น้อยกว่า 0.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ซึ่งนับว่า ปริมาณที่พบนี้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยทั้งของมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ(Codex) และมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98/2529 โดยอนุญาตให้พบได้สูงสุดไม่เกิน 15 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และ 20 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ
นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ได้กล่าวถึงอันตรายของอะฟลาท็อกซิน ว่า เป็นสารพิษที่สร้างขึ้นโดยเชื้อราโดยเฉพาะกลุ่ม แอสเพอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) และ แอสเพอร์จิลลัส พาราซิติคัส (Aspergillus parasiticus) ซึ่งโดยทั่วไปสารพิษที่พบนี้จะมี 4 ชนิด คือ อะฟลาท็อกซิน บี 1, บี 2, จี 1, และ จี 2 สารพิษจากเชื้อรา นี้ องค์การอนามัยโลก จัดให้เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่ง และจำเป็นที่จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องโดยเฉพาะในอาหารกลุ่มเสี่ยงจำพวก ถั่วลิสง ข้าวโพด ข้าว กระเทียม พริกแห้ง พริกป่น กุ้งแห้ง รวมถึงอาหารจำพวกแป้ง เช่น แป้งข้าวสาลี แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวโพด ฯลฯ
การรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินในปริมาณมาก อาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องเดิน อาเจียน ยิ่งในเด็กเล็กยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับผลรุนแรงเฉียบพลัน อาจเกิดอาการชักและหมดสติเนื่องจากตับและสมองทำงานผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีผลในระยะยาว คือ อะฟลาท็อกซินที่สะสมอยู่ในร่างกายจะไปยับยั้งไม่ให้ร่างกายสร้างโปรตีน ส่งผลให้การทำงานของเซลล์ผิดปกติ ส่งผลต่อการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ เนื่องจากสารพิษนี้จะไปรบกวนการทำงานของตับ ทำให้เกิดไขมันมากในตับ และทำให้มีพังผืดขึ้นที่ตับ
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการทดสอบครั้งนี้ทุกตัวอย่างปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐาน ถือได้ว่า ถั่วลิสงดิบปลอดภัย 100 % มีเพียง 1 ตัวอย่างที่ตรวจพบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน แต่ไม่เกินมาตรฐานทั้งมาตรฐานระหว่างประเทศ และของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ถือเป็นเรื่องดี ถั่วลิสงนั้นจัดเป็นอาหารทั่วไป ที่ไม่ต้องแสดงฉลากแต่หากอยู่ในภาชนะบรรจุปิดสนิท ต้องแสดงฉลากพบว่า ทั้ง 9 ยี่ห้อแสดงฉลากได้ถูกต้อง
“ต้องขอชมเชยผู้ประกอบการที่มีการตรวจคุณภาพและดูแลสินค้าของตนเป็นอย่างดี ขอให้รักษามาตรฐานเช่นนี้ไว้ต่อไปเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและเพิ่มความน่าเชื่อถือต่ออุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย ถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้ยกระดับมาตรฐานอาหารโลก” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว
ติดตามผลทดสอบได้ที่ นิตยสารฉลาดซื้อ www.chaladsue.com