กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ออกแถลงการณ์ 'มาตรา 44 สิทธิบัตรกัญชา ไม่ได้แก้ปัญหา แต่หมกเม็ด'
แถลงการณ์กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
มาตรา 44 สิทธิบัตรกัญชา ไม่ได้แก้ปัญหา แต่หมกเม็ด
ตามที่หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 1/2562 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรและมาตรการด้านสิทธิบัตรเป็นกรณีพิเศษ โดยระบุว่า เพื่อสนับสนุนและรองรับการอนุญาตให้นำกัญชามาวิจัยด้านการแพทย์ และแก้ปัญหาข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับคำขอสิทธิบัตรกัญชาที่กรมทรัพย์สินทางปัญญารับคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับกัญชาเข้ามาอยู่ในระบบการพิจารณาให้สิทธิบัตรแล้วนั้น
ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) วิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 1/2562 ดังกล่าว ไม่ได้แก้ปัญหาการละเลยหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการรับคำขอและตรวจสอบคำขอสิทธิบัตร ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร แต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังมีเงื่อนปมบางประการที่ทำให้สงสัยได้ว่านี่คือ การหมกเม็ดเอื้อประโยชน์ต่อผู้ขอสิทธิบัตรในอนาคตหรือไม่ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. ข้อ 1 ตามคำสั่งฯ ระบุเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรตามคำสั่งนี้ การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้หากนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ให้ถือเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 9 (5) แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
ความในข้อนี้ เพื่อให้ชัดเจนว่ากัญชาและสารสกัดสารที่มีโครสร้างทางเคมีเดียวกัน เกลือ เอสเทอร์ และอีเทอร์ใดๆ ไม่ได้รับการคุ้มครอง แต่มีเงื่อนไขเชื่อมโยงกับข้อ 4 ในคำสั่งฯ คือ จนกว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดปรับปรุงแก้ไขที่ให้ปลดล็อคการใช้กัญชาจะมีผลบังคับใช้เท่านั้น
การที่เนื้อหาในคำสั่งฯข้อ 1 ไม่มีการกำหนดให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องดำเนินการยกคำขอที่มีลักษณะดังกล่าวในทันที ทำให้กรมฯอาจประวิงเวลาไม่ดำเนินการใดๆต่อคำขอรับสิทธิบัตรในลักษณะดังกล่าว ซึ่งแตกต่างจากคำสั่งข้อ 2 ที่ชัดเจนกว่า
อีกทั้ง คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้ ไม่ได้แก้ไขปัญหาสำคัญที่สุดกรณีสิทธิบัตร คือ กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใช้มาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรในการตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรตั้งแต่ต้น ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการละเลยหน้าที่ ไม่เพียงเท่านั้น ยังเท่ากับเปิดทางให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ปฎิเสธคำขอสิทธิบัตรที่ขัดมาตรา 9(1)(2) (3) (4) และ (5) โดยใช้มาตรา 28 ตั้งแต่ต้นอย่างเคร่งครัด ซึ่งนี่เป็นสาเหตุพื้นฐานที่ทำให้มีคำขอสิทธิบัตรคั่งค้างและล้นเกินความสามารถในการทำงานของผู้ตรวจสอบ
2. ข้อ 2 ตามคำสั่งฯ เพื่อแก้ปัญหาคำขอสิทธิบัตรที่กรมฯได้ประกาศโฆษณาไปแล้วที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอให้ตรวจสอบ กรมฯสามารถแจ้งยกเลิกคำขอ/ตัดข้อถือสิทธิ์เกี่ยวกับกัญชาตามข้อ 1 โดยไม่ต้องรอ 5 ปีตามมาตรา 29 เดิม กรณีที่มีการตัดข้อถือสิทธิ์บางข้อออก ผู้ยื่นมีเวลา 90 วันในการดำเนินการกรณียกคำขอผู้ยื่นสามารถขออุทธรณ์ได้อีกภายในเวลา 60 วัน ตามมาตรา 72
ซึ่งนี่เป็นข้อดีเพียงข้อเดียวในประกาศที่ใช้แก้ปัญหาที่ผู้ขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ทางเคมีหรือยามักจะถ่วงเวลายื่นตรวจสอบออกไปให้ได้มากที่สุด คือเกือบ 5 ปีเต็ม เพื่อลากการคุ้มครองชั่วคราวออกไปด้วยการยื่นโนติสไปตามหน่วยงานหรืออุตสาหกรรมยาชื่อสามัญไม่ให้วิจัย พัฒนา หรือขายผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองยื่นขอสิทธิบัตรอยู่ แม้จะไม่แน่ใจว่าในที่สุดสิทธิบัตรนั้นสมควรได้หรือไม่ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การที่ให้อธิบดีสั่งยกคำขอ หรือสั่งให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรตัดข้อถือสิทธิเกี่ยวกับกัญชาตามข้อ 1 ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากอธิบดี และยังให้ผู้ขอรับฯอาจอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 72 ทำให้ไม่เป็นการยกคำขอในทันที ทำให้ยืดระยะเวลาการดำเนินการออกไปอีกโดยไม่มีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด
3. ข้อ 4 ในคำสั่งฯ มีใจความสำคัญที่สุด เนื่องจากเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการนำกัญชาไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ ข้อ 1 และ 2 จะถูกยกเลิก และคำขอดังกล่าวจะได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยถือว่าไม่ขัดมาตรา 9 แล้ว
อย่างไรก็ตาม การเขียนคำสั่งที่ไม่ชัดเจน เป็นที่สงสัยว่า อาจเกิดกรณีที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาใช้การประวิงเวลาในการดำเนินการตามข้อ 1 และ 2 เพื่อรอคอยการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติด ในขณะที่ภาคประชาสังคมต้องการให้ พ.ร.บ.ยาเสพติดได้รับการแก้ไขโดยเร็ว แต่จะกลายเป็นการปลดล็อคให้แก่สิทธิบัตรกัญชาโดยอัตโนมัติ
4. ข้อ 5 ตามคำสั่งฯที่ยกเลิกและแก้ไขมาตรา 30 ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรนั้น นี่น่ากังวลว่า เป็นการหมกเม็ดของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและพวกที่เกี่ยวข้องหรือไม่
1) มีการแก้ไขมาตรา 30 เดิมที่ให้อำนาจอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถยกเลิกคำขอที่ประกาศโฆษณาแล้วได้เลย โดยไม่ต้องรอการยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์
2)แต่มาตรา 30 ใหม่กลับเขียนว่า อธิบดีสามารถยกเลิกถ้าไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตราต่างๆ (5/9/10/11/14) ได้เมื่อ ได้ประกาศโฆษณาและยื่นให้ตรวจสอบการประดิษฐ์แล้ว
นั่นหมายความว่า ต้องรออย่างน้อย 5 ปีจนกว่าผู้ขอที่คำขอประกาศโฆษณาจะยื่นขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์
ดังนั้น ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) จึงมองว่า การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 1/2562 เรื่องสิทธิบัตรกัญชา ไม่ได้แก้ปัญหา แต่หมกเม็ด จึงขอให้ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนช่วยกันจับตาเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง เข้มข้นต่อไป
อ่านแถลงการณ์ โดย นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชา (เอฟทีเอ ว็อทช์)
29 ม.ค.2562