2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ภาคประชาชนค้าน ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรหลายประเด็น ร้องกฤษฎีกาขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมและตัวแทนเข้าร่วม


(4กพ.62/ กทม.) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ พร้อมภาคีเครือข่าย ได้ทำจดหมายถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา คัดค้านสาระร่างแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร พร้อมส่งตัวแทนให้ข้อมูลและพิจารณา ชี้ ร่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตัดสาระกฎหมายเดิมที่เคยเป็นประโยชน์กับการเข้าถึงยาของประชาชน

ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพ.ร.บ.สิทธิบัตร ฉบับที่ พ.ศ. ...ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2532 และ พ.ศ. 2542 และกำลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น


นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรดังกล่าว ได้ลดทอนมาตรการปกป้องสาธารณะลง และยังไม่ขยายเวลาการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตรที่มีปัญหามาอย่างยาวนาน

"ร่างแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรที่ผ่านครม.เมื่อ 29 ม.ค.นั้น ได้ตัดสาระสำคัญของมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (CL) โดยแก้ไขให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจการใช้สิทธิให้เหลือเพียงกระทรวงเท่านั้น จากเดิมที่ทบวง และ กรม สามารถใช้สิทธิได้ ซึ่งถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิการให้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวของประชาชน อีกทั้งยังขัดต่อเจตจำนงของปฏิญญาโดฮาว่าด้วยทริปส์และการสาธารณสุขที่อนุญาตให้ประเทศสมาชิกใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรเพื่อปกป้องสาธารณสุขของประเทศได้ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในปี 2549 และ 2550 กับยารักษาไวรัสเอชไอวี ยารักษามะเร็ง และยารักษาโรคหัวใจ ส่งผลให้ประเทศสามารถรักษาผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวเพิ่มได้มากขึ้น และประหยัดงบประมาณได้มากว่า 4,500 ล้านบาท และเป็นตัวอย่างที่ทั่วโลกยกย่อง"

นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้กำหนดให้ผู้ทรงสิทธิ์สามารถร้องขอต่อศาลให้ยกเลิกคำสั่งมาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ (CL) ได้ ซึ่งเป็นการกำหนดที่เข้มงวดเกินกว่าความตกลงทริปส์ที่ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิก และขัดต่อเจตจำนงของปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข ที่เน้นย้ำว่าการคุ้มครองด้านสาธารณสุขต้องมาก่อนการค้า

"ในเรื่องค่าตอบแทน (Royalty fee) ในการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรือมาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ (CL) กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้พิจารณาจากเศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้า ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่เข้มงวดเกินกว่าความตกลงทริปส์และขัดต่อเจตจำนงของปฏิญญาโดฮาฯ ด้วยเช่นกัน เพราะจะกลายเป็นอุปสรรคการเข้าถึงยาได้ ในประเด็นนี้ ควรจะที่เป็นไปตามกฎหมายฉบับปัจจุบัน ซึ่งให้เป็นไปตามความตกลงระหว่างหน่วยงานรัฐที่ประสงค์ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรกับผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร" ตัวแทนมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าว

ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 39/2558 วันที่ 27 ต.ค. 2558 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาการยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงว่าด้วยความตกลงทริปส์ โดยในเดือน พ.ย. 2558 คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้เสนอผลการศึกษาและเสนอแนะให้ระมัดระวังเรื่องมาตรการทางทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ หรือที่เรียกว่า “มาตรการทริปส์ผนวก” หรือ “ทริปส์พลัส” (TRIPS+) ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาและก่อให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุข ซึ่งคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สนช.ได้เคยเรียกกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปท้วงติงประเด็นเหล่านี้ด้วย แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการแก้ไขสาระร่างกฎหมายให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รณรงค์เข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ชี้ว่า การแก้ไขร่างกฎหมายสิทธิบัตรครั้งนี้ยังไม่ได้แก้ปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นกับการขอสิทธิบัตร นั่นคือ ช่วงระยะเวลาคัดค้านที่สั้นเกินไป จนทำให้คำขอสิทธิบัตรด้อยคุณภาพคาอยู่ในระบบมากมาย

"จากข้อเสนอของมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และองค์กรภาคีเสนอให้ขยายระยะเวลาคัดค้าคำขอสิทธิบัตรได้ก่อนออกสิทธิบัตร (Pre-grant opposition) เป็น 180 วัน ไม่ใช่แค่ 90 วันตามเดิมหลังโฆษณาครั้งที่สอง อีกทั้งในร่างพ.ร.บ. ควรกำหนดภายใน 3-6 เดือนนับจากที่ยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ด้วย และเห็นว่าควรให้มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการติดตามเพื่อการยื่นคำคัดค้าน พร้อมกับอยากเห็นการพิจารณากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเป็นไปอย่างรอบด้านและพึงไว้ซึ่งประโยชน์ประชาชน”

ภาพยาจาก สำนักข่าวอิศรา