ผู้บริโภคเรียกร้อง สธ.ตรวจสอบค่ารักษาแพง แนะ ก.พาณิชย์คุมค่ารักษาพยาบาล และCSR ไม่ใช่คำตอบ
ผู้บริโภคเรียกร้อง สธ.ตรวจสอบค่ารักษา และ ก.พาณิชย์คุมค่ารักษาพยาบาล เรียกร้องไปแพทยสภาตั้งคณะทำงานตรวจสอบมาตรฐานค่าวิชาชีพแพทย์ และเรียกร้องไปยัง กระทรวงสาธารณสุขและ สนช. ออกมีกฎหมายตั้งคณะกรรมการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบสาธารณสุขแบบ one stop service
5 ก.พ. 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์สิทธิผู้บริโภคกรุงเทพฯ เปิดสภาผู้บริโภคประเด็น "CSR ความรับผิดชอบต่อสังคมในโรงพยาบาลเอกชน"
น.ส.ณัฐวดี เต็งพาณิชย์กุล เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานสถานการณ์กรณีร้องเรียนการใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนว่า ตั้งแต่ปี 2557-2560 มีจำนวนเรื่องร้องเรียนจากบริการสุขภาพและสาธารณสุข จำนวน 977 เรื่อง แบ่งออกเป็นโรงพยาบาลรัฐจำนวน 825 กรณี โรงพยาบาลเอกชนจำนวน 152 กรณี ที่ร้องเรียนของโรงพยาบาลเอกชนคือให้คำปรึกษาการย้ายสิทธิและสอบถามสิทธิประโยชน์ต่างๆ ,ถูกเรียกเก็บเงินจากการใช้สิทธิกองทุนฉุกเฉิน ,การได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ,ไม่ได้รับความสะดวกและค่ารักษาพยาบาลแพง
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายจากบริการการแพทย์ กล่าวถึงปัญหาการรักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินว่าถือเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่ทางโรงพยาบาลเอกชนก็ยังเรียกเก็บเงินกับผู้ป่วยเช่นเดิม
"ที่ผ่านมามีผู้ป่วยเข้ามาขอคำปรึกษาค่ารักษาพยาบาลแพง เนื่องจากผู้ป่วยขอรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลยาก และมีรายละเอียดค่ารักษาพยาบาลมีค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ไม่อยู่ในการรักษาพยาบาลและไม่สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งแจงรายละเอียดไม่หมด ค่ารักษาที่แพงมากทั้งค่าหมอ ค่าวิสัญญีแพทย์ และบางโรงพยาบาลให้ญาติเซ็นต์รับสภาพหนี้ก่อนจะทำการรักษา
"ทางออกของปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาที่จุดเดียวไม่ต้องร้องเรียนหลายแห่ง และขอเชิญชวนให้ลงชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อผลักดันให้เกิดคณะกรรมการตรวจสอบฯ โดยให้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปตรวจสอบและให้กำหนดราคากลางให้ได้ โดยสามารถเข้าไปร่วมลงชื่อที่ www.change.org" ประธานเครือข่ายผู้เสียหายจากบริการทางการแพทย์ กล่าว
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ กล่าวถึงทางออกของปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงว่ารัฐจะต้องมีมาตรการแทรกแซงราคา ควบคุมราคาค่าใช้จ่ายและค่ารักษาพยาบาลแบบสมเหตุสมผลไม่ปล่อยให้เกิดการค้าแบบเสรี เพราะธุรกิจทางการแพทย์เป็นบริการคุณธรรมแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป ประชาชนต้องมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชนร่วมจ่ายก่อนป่วยผ่านระบบภาษี และต้องทำให้มีมาตรฐานเดียวระบบเดียว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการบริการสาธารณสุข
"โรงพยาบาลเอกชนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยมีระบบการสำรองเตียง และต้องเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นทั้งหมดของโรงพยาบาลเอกชน เพื่อสร้างความโปร่งใสและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้น" กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าว
ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนว่าข้อมูลจากสื่อระบุว่าโรงพยาบาลเอกชนเป็นขุมทรัพย์ใหม่ของการลงทุน ที่กลุ่มธุรกิจต่างๆให้ความสนใจ หากการทำธุรกิจที่ขาด CSR ขัดกับหลักความรับผิดชอบทางจริยธรรม ที่อยู่เหนือหลักกฎหมายที่ค่อนข้างอ่อนแอ ควบคุมการให้บริการในราคาที่เป็นธรรมไม่ได้
"การกำหนดค่ารักษาพยาบาลต้องมีการคุมราคาและตรวจสอบได้ อีกทั้งความรับผิดชอบต่อหลักเมตตา ในขณะที่รพ. ไปบริจาคเงินทำการกุศล แต่เรื่องง่ายๆแค่การทำจดหมายเพื่อขอเบิกงบฉุกเฉิน จาก สปสช.ให้ผู้ป่วย ทางโรงพยาบาลยังไม่ยอมทำ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ยึดหลักเมตตาธรรมแล้วหรือไม่ หรือ กรณีผู้ป่วยขอลดราคารักษาพยาบาลแต่กลับถูกฟ้องให้จ่ายค่ารักษา และขอเรียกร้องไปยังสมาคมโรงพยาบาลเอกชนให้กำหนดมาตรฐานการออกใบแจ้งหนี้ที่มีรายละเอียดและชัดเจนไม่คลุมเครือเช่นค่าเวชภัณฑ์ ควรแจงรายละเอียดด้วย"ผศ.ภญ.ดร.ยุพดีกล่าว
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าขอเรียกร้องให้หยุดกักตัวผู้ป่วยและให้ญาติต้องเซ็นรับสภาพหนี้ รวมถึงตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ป่วยก่อนรักษาตัว ควรคิดค่ารักษาพยาบาลที่เป็นธรรม สำหรับข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขขอให้มีหน่วยงานเดียวที่จะตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล ข้อเสนอต่อกระทรวงพาณิชย์ให้ควบคุมค่ารักษาพยาบาล พร้อมเสนอต่อแพทยสภาให้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบราคาค่าวิชาชีพแพทย์ รวมทั้งเสนอ สนช.ในการออกกฎหมายตั้งคณะกรรมการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบสาธารณสุข