คอบช.ชี้ฉุกเฉินยังพบปัญหา จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาบริการสุขภาพอย่างจริงจัง
คอบช. นักวิชาการ หน่วยงาน และศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 50(5) เผยการใช้สิทธิฉุกเฉินพบปัญหาค่ารักษาแพง แนะผู้ป่วยเลือกเข้าโรงพยาบาลรัฐ หลีกเลี่ยงโรงพยาบาลเอกชนนอกสัญญา ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 58 ที่โรงแรมเอบิน่าเฮ้าท์ คณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านบริการสุขภาพ (คอบช.ด้านบริการสุขภาพ) จัดเวที “สภาผู้บริโภคประเด็นบริการสุขภาพและสรุปบทเรียนการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ กรณี เข้ารับการบริการฉุกเฉิน” เพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหาด้านบริการสุขภาพและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้จริง โดยเฉพาะกรณีการถูกเรียกเก็บเงินกรณีฉุกเฉิน และการจ่ายค่ารักษาพยาบาลแพง ภายในงานได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) , สำนักงานประกันสังคม (สปส.) , กรมบัญชีกลาง , สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) , กองประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุน กระทรวงสาธารณสุข , ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน (หน่วยรับเรื่องร้องเรียน 50(5)) กว่า 120 คน
นางสาวน้ำผึ้ง แปลงเรือน ผู้ทำงานศึกษาวิจัยเรื่องค่าใช้จ่ายผู้บริโภค กรณีรับบริการสุขภาพ เผยว่า ได้ทำการศึกษาตั้งแต่เดือนเมษายน-กรกฎาคม 2558 โดยรวบรวมเรื่องร้องเรียนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 50(5) ในพื้นที่ ศึกษาผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติ จากการถูกเรียกเก็บค่ารักษาจากโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามสิทธิ ในกรณีที่ใช้บริการฉุกเฉินตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน
ผู้ทำงานศึกษาวิจัยเรื่องค่าใช้จ่ายผู้บริโภค กรณีรับบริการสุขภาพ รายงานงานต่อไปว่า ผลการศึกษวิจัยพบว่าอัตราชดเชยที่ได้รับเงินคืนพบว่า ผู้ป่วยสามารถเบิกเงินคืนได้น้อยสุดที่ 5.19% และมากสุดที่ 11.15% ยกตัวอย่างโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเรียกเก็บจากผู้ป่วย 3 แสนบาท แต่สามารถเบิกคืนได้เพียง 10,500 บาท อีกทั้ง ใบเสร็จไม่มีการแจกแจงรายละเอียด มีการเรียกค่ารักษาพยาบาลในราคาที่สูง ฉลากไม่มีภาษาไทยกำกับ และมีการเรียกเก็บค่าแพทย์เพิ่ม ยังพบผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น ด้านคุณภาพมาตรฐานการรักษา บางรายต้องกลับมารักษาซ้ำในโรคเดิมหรือเสียชีวิต ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับการคุ้มครอง ช่วยเหลือ เยียวยา จากหน่วยงานหรือกลไกโดยตรง
งานวิจัยดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลของ นางศิริพร สินธนัง ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิ สปสช. กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มนโยบายฉุกเฉินเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 55 สปสช.มีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก ปัญหาที่พบคือ โรงพยาบาลเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเต็มราคา ขอเก็บค่ารักษาก่อน เมื่อโรงพยาบาลส่งค่ารักษามาเบิกที่สปสช.ปรากฏว่าไม่สามารถเบิกได้เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ EMCO หรือโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยแต่ไม่เบิก EMCO ทั้งที่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤติจริง มีกรณีที่ผู้ป่วยถูกกักตัวไว้ที่โรงพยาบาล
“เคสชาย อายุ 85 ปี มีไข้สูงหนาวสั่น หายใจอ่อนแรง แพทย์วินิจฉัยติดเชื้อที่ปอด แต่โรงพยาบาลเอกชนไม่เบิกให้คิดว่าไม่ฉุกเฉิน เคสจึงร้องเรียนปรากฏว่าเข้าข่ายฉุกเฉินจึงดำเนินการให้ เบิกค่าใช้จ่าย 98,941 บาท เบิกจริงได้ 6 พันกว่า” ผอ.สำนักคุ้มครองสิทธิ สปสช.เผย
นางธนัณณ์จิรา ธนาศิริธัชนันท์ รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ สพฉ. กล่าวว่า ขณะนี้ สพฉ.กำลังจัดทำระบบเพื่อแก้ปัญหาการใช้สิทธิฉุกเฉินที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ และป้องกันไม่ให้เกิดค่ารักษาพยาบาลแพง
“ขณะนี้ได้พัฒนาโปรแกรมเพื่อประเมินอาการคนไข้ซึ่งเมื่อกรอกข้อมูลจะลิงค์ไปที่ระบบ และมีหลักสูตรแพทย์ศาสตร์ฉุกเฉินทำหน้าที่เป็นไดเรกเตอร์คอยประเมินว่าฉุกเฉินหรือไม่ และมีการจัดทำราคาค่าใช้จ่ายตามรายการ (Free schedule) ซึ่งจะเป็นราคาที่ยอมรับร่วมกัน ร่วมทั้งมีความพยายามดำเนินการขอจัดตั้งกองทุนกลาง เพื่อเป็นกองทุนสำรองจ่ายในกรณีที่ตกลงราคากันไม่ได้ แต่ไม่ได้รับการเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ” รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ สพฉ. กล่าว
นายรัชตะ อุ่นสุข นิติกรชำนาญการ กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การรักษาพยาบาลนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนต้องได้รับ แต่ต้องหากติกากลางและยอมรับกติการ่วมกัน สพฉ.ต้องทำหน้าที่กำกับระบบ
นพ.ประจักษ์วิช เล็บนาค ผอ.สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วม สปสช. มองว่า เมื่อผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลถูกตีความว่าฉุกเฉิน เรื่องแรกที่ต้องชี้คือฉุกเฉินหรือไม่
ทางด้าน นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ประธาน คอบช.ด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า จะนำข้อเสนอของวันนี้เสนอต่อสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะการทำระบบการวินิจฉัยเรื่องฉุกเฉินให้เร็ว การพัฒนาหน่วยรับส่งต่อให้มีคุณภาพโดยรถส่งต่อต่างๆ การรณรงค์ให้ 1669 ส่งผู้ป่วยเข้า รพ.รัฐหรือ รพ.ที่เป็นคู่สัญญากับ สปสช.และสปส. เพื่อป้องกันปัญหาการถูกเรียกเก็บเงินเกินราคา รวมไปถึงการนำแนวทางการใช้ค่าใช้จ่ายตามรายการ (Free schedule) เป็นประเด็นที่ต้องตรวจสอบอัตรา และทั้งนี้ราคาดังกล่าวต้องไม่กระทบการให้บริการของหน่วยบริการคู่สัญญาเดิมด้วย เพราะมันจะกระทบต่อระบบสุขภาพทั้งประเทศ โดยจะนำข้อเสนอดังกล่าวส่งกรรมาธิการที่เกี่ยวกับเรื่องสาธารณสุขของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้วย
“เราพบว่ากรรมาธิการชุดนี้ก็ได้ไปคุยกับทางกระทรวงสาธารณสุขแล้ว กระทรวงสาธารณสุขมีกฎหมายแต่ไม่สามารถใช้กฎหมายในการกำกับดูแลเรื่องนี้ได้อย่างจริงจัง ได้แต่ขอความร่วมมือ ซึ่งการขอความร่วมมืออย่างเดียวนี้มันไม่สามารถแก้ปัญหาการเรียกเก็บเงินในราคาที่สูงเกินจริงหรือแพงเกินไปของโรงพยาบาลเอกชน” ประธาน คอบช.ด้านบริการสุขภาพกล่าว
นางสาวสุรีรัตน์กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ได้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเรื่องระบบฉุกเฉิน และการแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง ซึ่งต้องใช้อำนาจกระทรวงสาธารณสุขในการกำกับดูแลมากกว่านี้ ซึ่งรัฐมนตรีก็รับปากว่าจะเอาข้อมูลที่ประชาชนผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเรียกเก็ฐเงินแพงของโรงพยาบาลแพงกรณีฉุกเฉินนี้เอาไปคุยกัน
ข่าวบทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:
|
Tags: คอบช. , ค่ารักษาแพง, สุรีรัตน์ ตรีมรรคา, สปส., สปสช., กองประกอศโรคศิลปะ , กระทรวงสาธารณสุข , หน่วยรับเรื่องร้องเรียน 50(5) , สพฉ.