Written by Webmaster.
คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เกิดขึ้นภายใต้โครงการ “พัฒนาศักยภาพองค์กรและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเพื่อองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค” ซึ่งเป็นโครงการที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ เครือข่ายผู้บริโภคพัฒนาขึ้นและได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดยนำแนวคิดและจำลองรูปแบบการทำงานมาจากคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ซึ่งได้บัญญัติไว้ในมาตรา 61 ว่า สิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นผู้บริโภค ย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
“ ให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและ การบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครอง ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย ”
พิมพ์ อีเมล
Written by Webmaster.
(ร่าง) พระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จำนวนทั้งสิ้น 15 คน ประกอบด้วยผู้แทนองค์กรผู้บริโภคระดับเขต เขตละ 1 คน รวม 8 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 7 ด้าน ด้านละ 1 คน รวม 7 คน ประกอบด้วย ด้านการเงินและการธนาคาร ด้านอสังหาริมทรัพย์ ด้านบริการสาธารณะ ด้านบริการสุขภาพ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม และด้านอาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ได้แบ่งเขตเลือกตั้งคณะกรรมการฯ ออกเป็น 8 เขตตามการทำงานขององค์กรผู้บริโภคในปัจจุบัน ดังนี้ เขต 1 ภาคกลาง เขต 2 ภาคตะวันออก เขต 3 ภาคอีสานตอนบน เขต 4 ภาคอีสานตอนล่าง เขต 5 ภาคเหนือ เขต 6 ภาคตะวันตก เขต 7 ภาคใต้ และ เขต 8 กรุงเทพมหานคร
การได้มาซึ่งคณะกรรมการฯ พยายามใช้กระบวนการและวิธีการคัดเลือก ให้สอดคล้องตาม (ร่าง) พระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ยกเว้นไม่มีการแต่งตั้งกรรมการสรรหา แต่ใช้การเสนอบัญชีรายชื่อและคัดเลือกโดยองค์กรผู้บริโภค
นับหนึ่งวันเริ่มต้น วันที่ 13 พ.ค. 55 ได้มีการประกาศหลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการคัดเลือกผ่านเว็ปไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org และต่อมาได้มีการรับขึ้นทะเบียนองค์กรเพื่อเสนอผู้แทนองค์กรและผู้เชี่ยวชาญเข้ารับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการ ระหว่างวันที่ 16 – 31 พ.ค. 55 ซึ่งมีองค์กรขอขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 302 องค์กร
วันที่ 12 มิถุนายน 2555 ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 1 อาคารพิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จังหวัดนนทบุรี เวทีคัดเลือกคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการในงานสัมมนาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค โดยมีตัวแทนจากองค์กรผู้บริโภคเข้าร่วมการคัดเลือกทั้งสิ้นจำนวน 275 องค์กร
กระบวนการคัดเลือกแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
รูปแบบที่ 1 กระบวนการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญทั้ง 7 ด้าน เป็นการเลือกด้วยตั้งวิธีการลงคะแนนลับจากบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญที่ถูกเสนอรายชื่อผ่านองค์กรผู้บริโภคที่ขึ้นทะเบียนไว้ โดยที่ผู้แทนองค์กรผู้บริโภคจะเข้ามาทำหน้าที่เลือกตั้งผู้เชี่ยวชาญทั้ง 7 ด้าน ๆ ละ 1 คน และผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 จะได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการ ฯ ส่วนผู้เชี่ยวชาญที่มีคะแนนอันดับ 2 ก็จะถูกขึ้นทะเบียนสำรองไว้ เพื่อเข้ามาทำหน้าที่แทนผู้เชี่ยวชาญที่ได้คะแนนอันดับ 1 ในกรณีที่ไม่สามารถเข้ามาทำหน้าที่ได้ ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของผู้แทนองค์กรผู้บริโภคที่เข้าร่วมคัดเลือกในครั้งนี้ด้วย
รูปแบบที่ 2 กระบวนการคัดเลือกผู้แทนระดับเขต 8 เขต โดยให้ผู้แทนองค์กรผู้บริโภคแต่ละเขตเสนอรูปแบบการเลือกตั้งกันเองภายในเขตและทำการเลือกตั้งผู้แทนเขต เขตละ 1 คน รวมทั้งขึ้นทะเบียนสำรองไว้ 5 คน
พิมพ์ อีเมล