test protect push open

fb icontw icong plus iconyt icon

test protect push open

fb icontw icong plus iconyt icon

ข้อแนะนำในการเลือกสถานให้บริการออกกำลังกาย (ฟิตเนส)

fitness

การใช้บริการสถานให้บริการออกกำลังกาย หรือฟิตเนส เป็นทางเลือกของผู้คนในสังคมเมือง ในปัจจุบันมีฟิตเนสเปิดให้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นในเรื่องของผลทางธุรกิจมากกว่ามาตรฐานการให้บริการ

ซึ่งธุรกิจการให้บริการสถานที่ออกกำลังนั้น หากพิจารณาถึงรายได้เพียงจากค่าสมาชิกแล้ว ไม่น่าจะมีเงินหมุนเวียนมากเพียงพอต่อการอยู่รอดสักเท่าใด จึงเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการพยายามหาวิธีการและรูปแบบของการให้บริการเสริมต่าง ๆ มาล่อหลอกสมาชิกที่เข้ามาใช้บริการ รวมถึงพยายามที่จะดึงเงินก้อน ครั้งละมาก ๆ จากผู้มาใช้บริการ โดยจัดโปรโมชั่นในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ค่าสมาชิก ถ้าจ่ายเป็นรายปี (หรือมากกว่าปี จนถึงตลอดชีพ) ก็จะมีราคาถูกกว่ารายวันหรือรายเดือน หรือค่าจ้างผู้ฝึกสอนส่วนบุคคล (Trainer) ในการออกกำลังกายประเภทต่าง ๆ ที่ขายจำนวนชั่วโมงล่วงหน้าทีละมาก ๆ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายปลีกย่อยซึ่งแยกเก็บเพิ่มเติมอีกมาก เช่น ค่าเช่าล็อกเกอร์ ค่าเช่าผ้าเช็ดตัว ค่าที่จอดรถ ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาหนักอกของผู้บริโภค เช่น กรณีบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส จำกัด (มหาชน) อย่างที่ปรากฎเป็นข่าวสิ่งที่ควรพิจารณาในการเลือกฟิตเนสที่ดี ได้แก่


1. ผู้ให้บริการ

1.1 ผู้ให้บริการส่วนใหญ่จะเป็นนิติบุคคล (เช่น บริษัทจำกัด) จึงควรตรวจสอบรายที่มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการซึ่งมุ่งเน้นการออกกำลังกายเป็นหลัก โดยไม่มีการขายสินค้าอื่นแอบแฝง

1.2 สถานภาพของผู้ให้บริการ รวมถึงกรรมการผู้มีอำนาจ และผู้ถือหุ้น ไม่ควรมีหนี้สินมากเกินสมควร และไม่ควรมีผลประกอบการที่ขาดทุนต่อเนื่อง

1.3 ไม่สามารถเชื่อถือชื่อเสียงของผู้ให้บริการที่มีสาขาจากต่างประเทศได้เสมอไป

1.4 ควรดูระยะเวลาที่ผู้ให้บริการรายนั้นได้ดำเนินกิจการมาเพื่อประกอบการตัดสินใจของท่าน


2. สถานที่

2.1 ควรตั้งอยู่ในจุดที่สะดวกต่อการเดินทาง และต้องคำนึงถึงที่จอดรถและค่าจอดรถที่ต้องจ่ายเพิ่ม

2.2 จำนวนสาขาที่เปิดให้บริการ ควรมีทางเลือกให้สามารถเข้ารับบริการได้มากกว่าจุดเดียว

2.3 ช่วงเวลาการเปิดให้บริการ ควรมีทางเลือกที่หลากหลาย ทำให้สามารถเลือกใช้ได้ตลอดทั้งวัน

2.4 ขนาดของสถานที่กับปริมาณสมาชิกที่ผู้ให้บริการอนุญาตให้เข้าใช้บริการควรมีสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่หนาแน่นมากจนเกินไป

2.5 สิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย และความสะอาดควรมีการให้บริการห้องล็อกเกอร์, ห้องน้ำ, ห้องอาบน้ำ, อุปกรณ์ สบู่ แชมพู ผ้าเช็ดตัว โดยจัดให้มีพนักงานรับผิดชอบคอยตรวจสอบดูแลให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ และมีพนักงานดูแลความปลอดภัยจากผูที่ปะปนเข้ามาเพื่อขโมยสิ่งของ

2.6 ระบบปรับอากาศ และระบายอากาศควรสมดุลกับปริมาณสมาชิกที่กำลังออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้อากาศร้อนหรือเย็นจนเกินไป อีกทั้งไม่ควรมีกลิ่นอับหรือกลิ่นเหงื่อเกาะติดกับอุปกรณ์ออกกำลังกาย

2.7 ควรแยกสัดส่วนการออกกำลังกายประเภทต่าง ๆ ให้ชัดเจน โดยบรรยากาศแสงและเสียงควรส่งเสริมและเหมาะสมกับการออกกำลังกายประเภทนั้น ๆ


3. อุปกรณ์ออกกำลังกาย

3.1 อุปกรณ์ออกกำลังกายที่ผู้ให้บริการจัดไว้ให้ควรอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมใช้งานตลอดเวลา มิใช่มีเป็นจำนวนมาก แต่ใช้งานจริงได้เพียงไม่ถงครี่ง

3.2 อุปกรณ์ฯ ควรมีความหลากหลายเพื่อให้สามารถเลือกออกกำลังกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ได้ครบทุกส่วนของร่างกาย

3.3 ควรมีพนักงานแนะนำการใช้งานอุปกรณ์ฯ โดยที่ไม่หวังผลจากการขายชั่วโมงฝึก หรือควรมีภาพอธิบายประกอบการใช้ติดตั้งในบริเวณที่ตั้งอุปกรณ์ฯ นั้น ๆ

3.4 ควรมีชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้นในกรณีเกิดอุบัติเหตุจากการใช้อุปกรณ์ฯ


4. ผู้ฝึกสอนส่วนบุคคล และโปรแกรมการฝึก

4.1 เนื่องจากสถานให้บริการออกกำลังกายส่วนใหญ่มักไม่เคร่งครัดและไม่มีข้อกำหนดในการรับผู้ฝึกสอนเข้าปฏิบัติงาน จึงควรเลือกสถานให้บริการออกกำลังกายที่มีมาตรฐาน โดยผู้ฝึกสอนควรได้ผ่านการเรียนในการออกกำลังกายประเภทที่สอนมาอย่างถูกวิธี (เช่น ได้รับประกาศนียบัตรรับรอง)

4.2 ผู้ฝึกสอนควรมีจุดมุ่งหมายในการให้บริการเฉพาะการฝึกเพียงอย่างเดียวเป็นหลัก แต่ไม่ควรมีหน้าที่ในการขายชั่วโมงฝึกด้วย

4.3 ผู้ฝึกสอนควรจัดโปรแกรมการฝึกแบบมีจุดมุ่งหมาย พร้อมกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน

4.4 ผู้ฝึกสอนไม่ควรสอนการออกกำลังกายหลายประเภทมากเกินไป โดยควรเน้นที่ตนเองถนัดเป็นหลัก

4.5 ผู้ฝึกสอนจะต้องสามารถให้บริการตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ร่วมกันกับผู้ออกกำลังอย่างครบถ้วน และจะต้องไม่รับฝึกผู้อื่นทับซ้อนในช่วงเวลาดังกล่าว

4.6 ควรมีการประเมินผลการฝึกสอนของผู้ฝึกสอนอย่างเป็นระบบ

4.7 การฝึกออกกำลังกายแบบกลุ่ม (Group Exercise) ควรมีชั้นเรียนที่หลากหลายไว้บริการ ในกรณีที่ไม่ต้องการใช้ผู้ฝึกส่วนตัว


5. อัตราค่าให้บริการที่เหมาะสม

5.1 ค่าผู้ฝึกสอนส่วนบุคคลนั้นยังไม่ปรากฏข้อจำกัดที่ชัดเจน โดยแตกต่างกันไป อาทิ ค่าฝึกการออกกำลังกายประเภทยกน้ำหนัก และประเภท TRX ควรอยู่ระหว่าง 300 -700 บาท ต่อชั่วโมง ค่าฝึกออกกำลังกายประเภทโยคะ และพิลาทิส (Pelates) ควรอยู่ระหว่าง 500 –2500 บาท ต่อชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์ของผู้ฝึกสอน)

5.2 ไม่ควรซื้อชั่วโมงฝึกสะสมไว้มาก ๆ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ฝึกสอนเป็นผู้ขายด้วย เพราะชั่วโมงฝึกจะมีวันหมดอายุ

5.3 ค่าฝึกการออกกำลังกายกลุ่ม บางสถานประกอบการมักรวมอยู่ในค่าสมาชิก หรืออาจแยกจ่ายขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทฯ รายละเอียดที่ควรพิจารณาประกอบได้แก่

5.3.1 ประเภทของการออกกำลังกาย

5.3.2 จำนวนคนในกลุ่มแต่ละครั้ง ทั้งนี้ราคาต่อครั้ง ต่อชั่วโมงไม่ควรมากไปกว่า 300 บาทในกรณีที่ไม่มีอุปกรณ์การฝึกประกอบ และถ้ากลุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ค่าฝึกควรต้องลดลง

 พิมพ์  อีเมล